ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 17° 37' 28.1672"
17.6244909
ลองจิจูด (แวง) : E 101° 25' 17.4655"
101.4215182
เลขที่ : 194968
การย้อมฝ้ายด้วยสีธรรมชาติ
เสนอโดย เลย วันที่ 16 ตุลาคม 2564
อนุมัติโดย เลย วันที่ 16 ตุลาคม 2564
จังหวัด : เลย
0 531
รายละเอียด

ฝ้ายเป็นวัสดุเส้นใยธรรมชาติที่สำคัญในการทอผ้าของคนจังหวัดเลย นอกจากนี้ ยังพบว่า ในอดีต ฝ้าย คือ พืชเศรษฐกิจสำคัญที่สร้างรายได้ให้กับจังหวัดเลย มีการเพาะปลูกฝ้าย และจำหน่ายฝ้าย สร้างรายได้ให้กับครัวเรือน โดยมีการตั้งโรงหีบฝ้ายอยู่หลายแห่ง และมีงานประจำจังหวัดที่ใช้ชื่อว่า งานกาชาด ดอกฝ้ายบาน มะขามหวานเมืองเลย และเปลี่ยนเป็นงานดอกฝ้ายบาน สืบสานวัฒนธรรม ไทเลย มาจนถึงปัจจุบัน ภูมิปัญญาการย้อมฝ้าย เป็นภูมิปัญญาของคนในจังหวัดเลย ที่มีควบคู่มากับ ภูมิปัญญาการทอผ้าที่มีมาช้านาน มีทั้งการย้อมจากสีเคมี และสีธรรมชาติ เพื่อสร้างสีสันให้กับ เส้นใย ก่อนสร้างสรรค์ผ่านจินตนาการให้เป็นลวดลายที่สวยงามบนผืนผ้า โดยผ่านการค้นคว้า ลองผิดลองถูกจากธรรมชาติรอบตัวจนกลายเป็นองค์ความรู้ที่เหมาะสมกับบริบทชุมชน การย้อมสีธรรมชาติส่วนใหญ่ที่พบ เป็นการย้อมสีจากไม้พื้นถิ่น เช่น ใบสัก ใบเอ็นหม่อน ผลมะเกลือ เปลือกมะพร้าว ครั่ง คราม สะเดา และอื่นๆ

ไม้พื้นถิ่นที่ช่างทอในพื้นที่จังหวัดเลย นิยมนำมาใช้ในการย้อมสีธรรมชาติ ได้แก่

  • เข ใช้แก่นไม้จากต้นเขมาย้อม ได้สีเหลืองเข้ม หรือเหลืองอ่อน ขึ้นกับอายุของต้นไม้
  • ครั่ง ใช้ขี้ครั่งย้อม ได้สีแดง
  • ฝาง ใช้แก่นจากไม้ฝางย้อม ได้สีแดง
  • ประดู่ ใช้เนื้อติดเปลือกจากต้นประดู่ย้อม ได้สีน้ำตาล หรือสีน้ำตาลอ่อนลง ขึ้นกับอายุของต้นไม้
  • ขนุน ใช้แก่นจากต้นขนุนย้อม ได้สีเหลือง หรือเหลืองอ่อน ขึ้นกับอายุของต้นไม้
  • คราม ใช้เถาและใบจากต้นครามมาหมักเพื่อก่อหม้อคราม ได้สีน้ำเงินคราม สีครามเข้ม หรือครามอ่อน ขึ้นกับจำนวนครั้งของการจุ่มย้อม
  • มะเกลือ ใช้ผลดิบของต้นมะเกลือทุบจนได้น้ำยางสีขาวมาใช้ย้อม ได้สีเทาหรือสีดำเข้ม ขึ้นกับจำนวนครั้งที่ย้อมซ้ำ

วัสดุสารช่วยติดสีธรรมชาติ หรือสารช่วยติดสี (Mordant) เป็นสารที่ช่วยเสริมปฏิกิริยาทางเคมีธรรมชาติให้สีย้อมสามารถเกาะติดเส้นใยได้ดีขึ้น จากการรวบรวมภูมิปัญญาเรื่องสารช่วยติดสีธรรมชาติ พบวัสดุที่นิยมนำมาใช้เป็นสารช่วยติดสีธรรมชาติ ได้แก่

  • เกลือ ใช้เม็ดเกลือหรือเกล็ดเกลือ
  • น้ำปูนใส ใช้น้ำใส ส่วนบนจากการกวนปูนกินหมาก
  • โคลน ใช้สารที่สะสมในขี้โคลน
  • น้ำสนิมเหล็ก ใช้สารจากน้ำสนิม
  • สารส้ม
  • ใบมะขามและน้ำมะขามเปียก ใช้ใบและฝักมะขาม

สำหรับการย้อมสีธรรมชาติในครั้งนี้ ปราชญ์ด้านการย้อมสีธรรมชาติ ได้นำครั่งมาเป็นวัตถุดิบ ในการย้อมฝ้าย ซึ่งให้โทนสีแดง โดย “ครั่ง”เป็นเพลี้ยหอยชนิด Laccifer lacca ในวงศ์ Lacciferidae ตัวเมียไม่มีปีก เมื่อเป็นตัวอ่อนระยะแรกนั้น มีขาและหนวด เคลื่อนไหวได้ เมื่อลอกคราบจึงหยุดอยู่กับที่ ดูดกินน้ำเลี้ยงจากไม้ยืนต้นและผลิตสารที่เรียกว่า ขี้ครั่ง ซึ่งนิยมใช้วิธีการย้อมร้อน

วัสดุ

  1. รังครั่งตำละเอียด
  2. กะละมัง/หม้อต้ม
  3. ฟืน
  4. สารส้มป่น
  5. ผ้าขาวบาง
  6. เส้นฝ้าย

วิธีทำ

ขั้นตอนการเตรียมวัตถุดิบ

  1. นำครั่งตำละเอียดมาห่อด้วยผ้าขาวบางแช่น้ำเปล่า โดยนำมาใส่ในภาชนะเติมน้ำให้ท่วม แช่ไว้ ๑ คืน หรืออย่างน้อย ๒ ชั่วโมง
  2. นำฝ้ายมาแช่น้ำให้ท่วม ขยำให้ทั่ว ทุบฝ้าย เสร็จแล้วบิดหมาด นำไปแช่น้ำสารส้ม (สารช่วยติดสีธรรมชาติ) บิดให้หมาด และนำมากระตุกให้ตึง ๒ - ๓ ครั้ง หรือชาวบ้านเรียก ถกฝ้าย ให้เส้นฝ้ายตึง ไม่พันกัน แล้วผึ่งรอการย้อม

ขั้นตอนการเตรียมน้ำย้อม

นำน้ำครั่งที่แช่และกรองด้วยผ้าขาวบางไว้มาผสมกับน้ำต้ม ต้มต่อไปให้เดือด โดยกรองเอาแต่น้ำสี เพื่อไปใช้ในการย้อม เส้นฝ้าย ป้องกันไม่ให้เศษครั่งติดเส้นฝ้าย

ขั้นตอนการย้อม

  1. นำเส้นฝ้ายที่ทำความสะอาดเรียบร้อยแล้วใส่ลงไปในหม้อต้ม สังเกตดูว่าสีติดเส้นฝ้ายเข้มตามที่เราต้องการ และคอยกลับเส้นฝ้ายบ่อยๆ เพื่อให้สีซึมเรียบสม่ำเสมอและคอยยกหมุนสลับ กลับด้านให้เส้นฝ้ายโดนอากาศ (ออกซิเจน) บ้างเพื่อช่วยให้ติดสีง่ายและติดทนขึ้น สำหรับระยะเวลาในการต้มขึ้นอยู่กับว่าต้องการสีเข้มหรือสีอ่อนมากน้อย
  2. นำเส้นฝ้ายที่ต้ม และได้สีที่ต้องการแล้ว มาล้างน้ำเปล่าให้สะอาด จนกว่าน้ำจะใส จึงบิดหมาด แล้วผึ่งลมให้แห้ง

แนวทางการต่อยอด/การเพิ่มมูลค่า

  1. ส่งเสริม สนับสนุนให้นำฝ้ายย้อมสีธรรมชาติเป็นวัสดุหลักในการทอผ้า แทนการใช้เส้นด้าย หรือฝ้ายย้อมสีเคมี เพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ สร้างค่านิยมการใช้สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการอนุรักษ์ และสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่สืบทอดกันมาจากอดีตให้คงอยู่ในสังคมสืบไป
  2. ส่งเสริม สนับสนุนการนำผ้าฝ้ายทอมือย้อมสีธรรมชาติไปต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นสินค้าชุมชน เช่น ถุงย่าม กระเป๋าผ้า เสื้อผ้าสำเร็จรูป
สถานที่ตั้ง
กลุ่มวิสาหกิจชุมชนก้าวหน้าการทอ
เลขที่ - หมู่ที่/หมู่บ้าน บ้านกกก้านเหลือง ซอย - ถนน -
ตำบล ท่าลี่ อำเภอ ท่าลี่ จังหวัด เลย
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
กลุ่มวิสาหกิจชุมชนก้าวหน้าการทอ
บุคคลอ้างอิง นางสาวสุภาวดี ไชยชมภู อีเมล์ loei.culture@gmail.com
ชื่อที่ทำงาน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเลย อีเมล์ ysedakum@gmail.com
เลขที่ 477 หมู่ที่/หมู่บ้าน 7 ซอย - ถนน -
ตำบล เมือง อำเภอ เมืองเลย จังหวัด เลย รหัสไปรษณีย์ 42000
โทรศัพท์ 042810601 โทรสาร 04810602
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่