ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : - ลองจิจูด (แวง) : -
เลขที่ : 195262
เกลือสินเธาว ์
เสนอโดย ศรีสะเกษ วันที่ 11 มกราคม 2565
อนุมัติโดย ศรีสะเกษ วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565
จังหวัด : ศรีสะเกษ
0 241
รายละเอียด

เกลือสินเธาว์ ดินแดนปลายทุ่งกุลา จังหวัดศรีสะเกษ.

ชื่อเรียกในท้องถิ่น เกลือสินเธาว์ / ดินเอือด / ขี้ทา

พื้นที่ปฏิบัติ

บ้านมะฟัก ตำบลจิกสังข์ทอง / แหล่งโบราณสถานดอนเกลือ ตำบลดู่ อำเภอราษีไศล / บ้านคลีกลิ้ง ตำบลคลีกลิ้ง อำเภอศิลาลาด จังหวัดศรีสะเกษ

สาระสำคัญของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

เกลือสินเธาว์ เป็นเกลือที่พบบนบก และพบมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ เคยเป็นดินแดนที่มีอารยธรรมเกลือที่สำคัญในพื้นอำเภอราษีไศล และอำเภอศิลาลาด ซึ่งเป็นที่ปลายทุกกุลาร้องให้ โดยเฉพาะในพื้นที่บ้านมะฟัก ตำบลจิกสังข์ทอง อำเภอราษีไศล และบ้านคลี้กลิ้ง พบทั้งในรูปแบบหินเกลือและรูปแบบดินเค็ม ที่เรียกว่า “ดินเอียด” หรือ “ขี้ทา” และ ดินโป่ง ซึ่งพบว่าเกลือสินเธาว์มีความบริสุทธิ์ของโซเดียมคลอไรด์ (Sodium Chloride, NaCl) สูง แต่ไม่มีส่วนผสมของธาตุไอโอดีเหมือนในเกลือสมุทรหรือเกลือแกง ดังนั้นจึงไม่เหมาะสำหรับมาประกอบอาหาร เหมาะกับงานอุตสาหกรรมมากกว่า เนื่องจากถ้านำมาประกอบอาหารจะทำให้ร่างกายขาดสารไอโอดีน ซึ่งจะทำให้เกิดโรคคอพอกและร่างกายแคระแกรน สมองเจริญเติบโตไม่ดี

คําว่า “สินเธาว์” มีรากจากภาษาบาลีว่า สินธฺว หมายถึง เกิด แต่แคว้นสินธวะ หรือม้าสินธพ ซึ่งไม่เกี่ยวกับเกลือหรือรสเค็ม แสดงว่าไม่ใช่คําดั้งเดิมที่เรียกเกลือชนิดนี้ หากยืมคําที่พ้องเสียงมาใช้เรียกในภายหลัง

มีคําเดิมที่ควรใช้เรียกเกลืออย่างนี้มาก่อนหลายคํา เช่น “สินเทา” เป็นคําของช่างเขียน หมายถึงเส้นแบ่งเรื่องราวออกเป็นตอนๆ ใน จิตรกรรมฝาผนัง นิยมเขียนเป็นเส้นฟันปลา “ขี้เทา” อุจจาระของเด็กแรกเกิด “ขี้ทา” คราบเกลือผุดแห้งเกรอะตามหน้าผิวดิน บางทีเรียกขี้กระทา และขี้กระทาเกลือ หรือบางพื้นที่เรียก “ดินเอียด” หรือ “ดินเอือด” แล้วแต่สำเนียงของแต่ละท้องถิ่น

ประวัติความเป็นมา

เกลือ เป็นแร่ธาตุที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ โดยเฉพาะการใช้ปรุงแต่งรสอาหารและการถนอมอาหาร เช่น การหมักดองพืชผัก การหมักปลาตากแห้ง การทำปลาร้า การทำปลาส้ม เกลือยังมีสรรพคุณทางยา และในอดีตเกลือถือว่าเป็น “สินทรัพย์” หรือเป็นวัตถุของค่าสูงที่สามารถใช้ในกระบวนการแลกเปลี่ยนหรือเป็นค่าจ้างแทนเงินได้ มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์พื้นที่ใดที่มีแหล่งเกลือถือว่าได้เปรียบในเรื่องของการค้าขายกับคนต่างถิ่น ส่งผลให้เกิดการขยายตัวของชุมชน บ้านกลายเป็นเมือง และเกิดเส้นทางการค้าที่สำคัญในพื้นที่นั้นๆ

สันนิษฐานว่าในพื้นที่ภาคอีสาน รวมทั้งพื้นที่ปลายทุ่งกุลาร้องไห้ในพื้นที่อำเภอราษีไศลและอำเภอศิลาลาด จังหวัดศรีสะเกษ เมื่อหลายล้านปีก่อนเคยเป็นส่วนหนึ่งของมหาสมุทรขนาดใหญ่ เมื่อมีการยกตัวของเปลือกโลก ทำให้เกิดเป็นแอ่งขนาดใหญ่หรือทะเลสาบน้ำเค็ม เมื่อเวลาผ่านไปน้ำเค็มที่ค้างอยู่ในทะเลสาบค่อยๆแห้งไป คงเหลือแค่ตะกอนเกลือ และแร่ธาตุต่างๆ ไว้เป็นจำนวนมากจนกลายเป็นแอ่งเกลือขนาดใหญ่ในภาคอีสาน นักวิชาการด้านโบราณคดีได้กล่าวไว้ว่า “แผ่นดินอีสานคือโดมเกลือที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก” ซึ่งสอดคล้องกับหลักฐานทางโบราณคดีที่มีการค้นพบภาชนะดินเผา อุปกรณ์การทำเกลือ และเนินดินที่มีการรวมกลุ่มกันเพื่อทำอุตสาหกรรมเกลือจนเกิดเป็นเนินดินหรือโพนดิน ในสมัยโบราณแม้จะไม่มีชุมชนหรือแหล่งที่ผู้คนอาศัยอยู่แผ่กว้างขวางอย่างเช่นทุกวันนี้ก็ตาม ผู้คนที่ทําเกลือจะรวมตัวกันอยู่เป็นกลุ่มใหญ่ในชุมชนที่ใกล้กับบ่อเกลือ หรือแหล่งเกลือ จึงมักจะพบโคกเนินขนาดใหญ่ที่เป็นที่อยู่อาศัยและแหล่งฝังศพอยู่ใกล้ๆ กับเนินเกลือที่มีขนาดใหญ่ไม่แพ้แหล่งที่เป็นชุมชน บรรดาผู้คนในย่านชุมชนที่เกี่ยวกับการทําเกลือ จึงมักจะผลิตเครื่องปั้นดินเผาที่ใช้ในการต้มเกลือและบรรจุเกลือด้วย โดยเฉพาะแหล่งโบราณสถาน “ดอนเกลือ” ในพื้นที่ตำบลดู่ อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ ที่ยังมีหลักฐานทางโบราณคดีที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมเกลือหลงเหลืออยู่ แหล่งเกลือที่มีความสำคัญในพื้นที่ศรีสะเกษอีกทั้งยังมีข้อมูลยืนยันว่าเป็นแหล่งเกลือที่เค็มที่สุดคือ ลุ่มน้ำห้วยน้ำเค็ม และลุ่มน้ำห้วยเสียวที่ไหลทอดยาวพาดผ่านพื้นที่ที่เรียกว่า “บ่อพันขัน” แหล่งเกลือสำคัญในภาคอีสานและ ยังไหลพาดผ่านดินแดนที่เคยถูกเรียกว่า “ทุ่งไศล” ซื่งเกลือในดินแดนแห่งนี้มีความเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีการถลุงเหล็กมาตั้งแต่โบราณ เพราะพบหลักฐานการถลุงเหล็กกับแหล่งเกลืออยู่ด้วยกัน และดินแดน “ทุ่งไศล” เคยเป็นพื้นที่ผลิตเกลือ ผลิตเหล็ก และผลิตศิลาแลง ในยุคอารยธรรมทวารวดีและอารยธรรมขอมเจริญรุ่งเรือง ดังที่มีนักวิชากล่าวไว้ว่า

“การมีแหล่งเกลือสินเธาว์และมีการทำเกลืออย่างสืบเนื่องนั้น น่าจะมีผลไปถึงการเกี่ยวข้องกับทางดินแดนเขมรต่ำรอบๆ ทะเลสาบเขมร ที่มีการจับปลากันเป็นอาชีพหลักมาแต่โบราณ คงมีการติดต่อแลกเปลี่ยนเกลือกับปลาทางเขมรต่ำ โดยที่เกลือจากอีสานน่าจะถูกนำไปใช้เป็นในการหมักปลา ทำปลาเค็ม ปลาร้า อะไรต่างๆด้วย”(ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม)

ทั้งเหล็กและเกลือนอกจากเป็นผลิตผลทางอุตสาหกรรมแล้ว ยังเป็นสินค้าระยะไกลด้วย เพราะเป็นสิ่งที่ถูกส่งไปขาย หรือแลกเปลี่ยนนอกเขตภูมิภาค ถ้าหากพิจารณาร่องรอยโบราณวัตถุ สถานที่สัมพันธ์กับเส้นทางคมนาคมแล้ว ก็อาจพูดได้ว่าสินค้าเหล็ก และเกลือนั้นน่าจะส่งเข้ามาทางภาคกลางในลุ่มน้ำเจ้าพระยาซึ่งอยู่ทางด้านตะวันตกทางหนึ่ง ทางที่สองไปทางตะวันออก ข้ามแม่น้ำโขงไปทางฝั่งลาวและเวียดนาม ส่วนทางสุดท้ายคือลงไปทางใต้ ข้ามแอ่งเขาพนมดงเร็กไปสู่ที่ราบเขมรต่ำ แถบลุ่มทะเลสาบเขมรในกัมพูชาเพื่อใช้หมักอาหารปลา ที่มีจำนวนมากมายในทะเลสาบเขมร (ตนเลสาป) เพื่อใช้เลี้ยงผู้คนที่มาสร้างปราสาทหินในยุคอารยธรรมขอมเจริญรุ่งเรือง จนกลายเป็นดินแดนแห่งวัฒนธรรมกลายแปรรูปอาหารจากปลา

เกลือในพื้นที่ปลายทุ่งกุลาร้องไห้ จังหวัดศรีสะเกษ ถือว่าเป็นเกลือที่ทำขึ้นในพื้นที่ที่เป็นแหล่งเกลือที่เค็มที่สุดแห่งหนึ่งของภาคอีสานและสินค้าสำคัญที่ใช้แลกเปลี่ยน ค้าขายกับผู้คนต่างดินแดน ในอดีตเส้นทางของเกลือในบริเวณนี้ถูกจำหน่าย จ่าย แจก และแลกเปลี่ยน ไกลถึงดินแดนเขมรและเวียดนาม ทำให้การทำเกลือในดินแดนแถบนี้มีประวัติศาสตร์ยาวนานนับหลายร้อยปี

วิถีการทำบ่อเกลือแบบโบราณเขาจะทำกันหลังหมดฤดูฝน ประมาณหลังช่วงปีใหม่ คือ เดือนมกราคม กุมภาพันธ์ เริ่มด้วยการเปิดบ่อเกลือ ซึ่งจะมีการบวงสรวงผีเกลือแต่แรกเลย พอบวงสรวงเสร็จก็จะเริ่มประกาศข้อห้ามสำหรับคนที่เข้ามาทำเกลือร่วมกันในบ่อเกลือ ข้อห้ามนี้จะมีหลายข้อด้วยกัน เช่น ห้ามไม่ให้ใช้อุปกรณ์อื่นในการทำเกลือนอกจากจอบ ห้ามด่าหรือห้ามพูดคำหยาบใส่กัน ห้ามเสพสังวาสกันในบริเวณบ่อเกลือ อันนี้รวมถึงผัวเมียด้วย ห้ามลักขโมยกัน

วัฒนธรรมเกลือยังมีความสัมพันธ์กับวัฒนธรรมอาหารอย่างแนบแน่น โดยเฉพาะ “วัฒนธรรมปลาแดก ปลาร้า” ในอดีตคนอีสานทุกครัวเรือนจะมีปลาแดก ปลาร้า ติดบ้าน ผู้ที่เป็นแม่บ้านส่วนใหญ่จะต้องมีความสามารถในการหมักปลาแดก ปลาร้าไว้กิน ถือว่าขาดไม่ได้เลย เมื่อปลาแดก ปลาร้าสำคัญ เกลือที่ใช้ทำ ปลาแดก ปลาร้าจึงสำคัญตามไปด้วย โดยเกลือที่ได้รับความนิยมจะต้อง เป็นเกลือธรรมชาติที่ได้จากการต้มหรือการขูดหน้าดิน ที่เรียกว่า ดินเอียด (บางพื้นที่ออกเสียงเป็น ดินเอือด) หรือ ขี้ทา เท่านั้น เกลือในพื้นที่ปลายทุ่งกุลาร้องให้จังหวัดศรีสะเกษ จะมีคุณสมบัติพิเศษที่โดดเด่นคือ มืออมไว้ในปากสักครู่จะเปลี่ยนจากรสชาติเค็มเป็นความรู้สึกถึงน้ำลายที่มีรสหวาน

นอกจากวิถีวัฒนธรรมแบบลาวอีสานแล้วเกลือยังสัมพันธ์กับวิถีวัฒนธรรมในกลุ่มวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์เขมร ส่วย เยอ ในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษด้วย ชาวเขมรเรียกปลาแดก ปลาร้าว่า “ปะราฮก” ซึ่มมีสำเนียงการพูดที่ใกล้เคียงกับคำว่า “ปลาร้า” (ปะระ-ฮก / ปะรา-ฮก) ช่วยส่วย (กูย) และชาวเยอเรียกปลาแดก ปลาร้าว่า “เพาะ” นอกจากความสัมพันธ์ระหว่างเกลือกับอาหารแล้ว ในอีสานเกลือยังเป็นองค์ประกอบสำคัญในการประกอบพิธีกรรมทางไสยศาสตร์โดยเฉพาะพิธีกรรมการสาปแช่ง (เผาพริก เผาเกลือ) รวมทั้งพิธีกรรมถอนคุณไสยแบบโบราณ และเกลือยังยังเกี่ยวของสัมพันธ์กับวิถีความเชื่อของชุมชน โดยเฉพาะงานบุญที่เกี่ยวข้องกับการอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วเช่นในช่วงเดือนเก้าและเดือนสิบที่เรียกว่า งานบุญข้าวสาก หรืองานบุญข้าวประดับดิน ชาวบ้านจะต้องเตรียมเครื่องคาวหวานเพื่อใช้ในงานพิธีกรรม จะมีข้าวห่อใหญ่ 1 ห่อ ใส่พริก เกลือ ผลไม้ และอาหารลงไปในใบตองแล้วเอาไปให้พระสวด ก่อนจะกรวดน้ำและนำไปวางไว้ตามโคนต้นไม้ โดยจะเปิดห่อข้าวออกและฝังกลบดินแล้วเรียกให้แม่พระธรณีมารับเอาไป หรือในงานบุญพระเวส ชาวบ้านจะนำห่อข้าว ถุงพริก และถุงเกลือ ใส่ลงไปในกัณฑ์เทศน์มหาชาติด้วย เกลือจึงเป็นส่วนหนึ่งของวิถีวัฒนธรรมของชาวบ้าน

การต้มเกลือที่จะเริ่มในเดือนมกราคมถึงราวเดือนเมษายน ใครจะทำเกลือก็มาเลือกพื้นที่ที่มี “ดินเอียด” หรือ “ขี้ทา” เป็นคราบเกลือที่ผิวดินมาก ๆ ช่วยกันขูดมากองรวมไว้ รอจนแห้งสนิทดี ระหว่างนั้นก็ตัดฟืนมาเตรียมไว้มากๆ ในอดีตชาวบ้านจะใช้ต้นไม้มาทำเป็นรางสำหรับเป็นที่พักน้ำเค็มหรือน้ำเกลือจากดินเอียด แต่ปัจจุบันปรับเปลี่ยนมาเป็นบ่อจากท่อซีเมนต์แทนเพื่อความสะดวก จะมีการเจาะรูด้านล่าง หรือด้านข้างของบ่อเพื่อให้น้ำไหลออก ต้องปูรองพื้นด้วยฟางข้าวเพื่อป้องกันไม่ให้ดินเอียดอัดตัวกันแน่นเมื่อโดนน้ำ เพราะจำทำให้น้ำไม่ซึมผ่านดินเอียด ฟางที่ปูรองพื้นจึงมีคุณสมบัติเหมือนฟองน้ำที่ช่วยกันไม่ให้ดินอุดตันและอัดตัวกันแน่นจนน้ำไม่ซึมผ่านรูนั่นเอง

เมื่อได้ดินเอียดมาและเตรียมอุปกรณ์พร้อมแล้ว ก็เอาดินเอียดใส่ในบ่อที่เตรียมไว้ เทน้ำตามเพื่อให้เกลือจากดินเอียดละลายซึมแทรกกรองสิ่งสกปรกผ่านชั้นฟางหญ้า ไหลออกทางรูลงในบ่อพัก ทำแบบนี้ซ้ำๆ กันจนได้น้ำเกลือเข้มข้นเพียงพอแล้วก็ตักไปต้ม เคี่ยว ในกระบะสังกะสีบนเตาฟืน ที่ขุดตบแต่งด้วยดินเหนียว จนแห้งเป็นเม็ดเกลือขาวละเอียด ซึ่งเกลือสินเธาว์ที่ได้จากดินเอือดจะมีคุณภาพของรสชาติความเค็มและสีแตกต่างกัน บ้างก็เป็นสีขาวนวล บ้างก็เป็นสีออกครีม เมื่อเกลือแห้งเป็นเม็ดสีขาวแล้วชาวบ้านก็จะตักเกลือออกจากกะบะต้มขึ้นไว้ในตะกร้าไม้ไผ่เพื่อให้เม็ดเกลือสะเด็ดน้ำแล้วจึงนำไปบริโภคหรือจำหน่ายต่อไป

คุณค่าและบทบาทของวิถีชุมชนที่มีต่อมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

คุณค่าของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่สำคัญ

ภูมิปัญญาการทำเกลือในพื้นที่ปลายทุ่งกุลาร้องไห้ จังหวัดศรีสะเกษ มีคุณค่าที่สำคัญด้านวัฒนธรรมอาหาร ที่ใช้เกลือเป็นเครื่องปรุงรส ใช้เพื่อทำยารักษาโรค และใช้เพื่อการถนอมอาหารเพื่อให้สามารถรักษาคุณภาพอาหารให้อยู่ได้นาน และยังมีคุณค่าที่สะท้อนถึงภูมิปัญญาด้านการรู้จักบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่มีสภาพแวดล้อมที่แห้งแล้งให้สามารถดำรงชีวิตและปรับตัวให้อยู่กับพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม องค์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องธรณีวิทยา ความรู้เกี่ยวจักรวาลวิทยา รวมถึงคุณค่าเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กับอารยธรรมโบราณโดยเฉพาะอารยธรรมทวารวดี กับอารยธรรมขอมโบราณในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ

บทบาทของชุมชนที่มีต่อมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

ชุนชนยังมีผู้ผลิตเป็นอาชีพ ซึ่งเป็นกลุ่มคนวัยกลางคน แต่คนรุ่นใหม่ยังมองเป็นอาชีพที่ไม่น่าสนใจ

มาตรการในการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ๑.โครงการ กิจกรรมที่มีการดำเนินงานของรายการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

- ยังไม่มีการทำวิจัยเกี่ยวกับวัฒนธรรมเกลือในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ

- ปัจจุบันมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษได้มีการสืบค้น รวบรวมทำทะเบียนครอบครัวที่มีการทำเกลือเป็นอาชีพ

- มีการดำเนินงานส่งเสริมเพื่อประกาศให้ชุมชนที่มีการสืบทอดวิถีวัฒนธรรมเกลือเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านวัฒนธรรม

- มีการสืบค้นเพื่อทำเป็นเอกสารวิชาการเผยแพร่องค์ความรู้และนำองค์ความรู้เชิงวัฒนธรรมและเชิงประวัติศาสตร์มาพัฒนาต่อยอดเป็นบทละครอิงประวัติศาสตร์ของจังหวัดศรีสะเกษเพื่อใช้แสดงในงานเทศกาลดอกลำดวนบาน

- มีการเตรียมจัดกิจกรรมเสวนาวิชาการด้านวัฒนธรรมท้องถิ่นเพื่อสร้างการรับรู้และความภาคภูมิใจต่อมรดกภูมิปัญญาของท้องถิ่นเรื่อง “เส้นทางวัฒนธรรมเกลือกับอารยธรรมขอม ในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ”

๒. มาตรการส่งเสริมและรักษามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอื่น ๆ ที่คาดว่าจะดำเนินการในอนาคต

๑.พัฒนาคุณภาพเกลือให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย มีคุณภาพ มีมูลค่า ส่งเสริม

๒.ส่งเสริมให้เกิดแหล่งเรียนรู้และหลักสูตรท้องถิ่นเกี่ยวกับวัฒนธรรมเกลือ

๓.ส่งเสริมการวิจัยและงานวิชาการที่เกี่ยวกับเกลือทั้งในมิติวัฒนธรรมและมิติด้านเศรษฐกิจ

๓. การส่งเสริม สนับสนุนจากหน่ายงานภาครัฐ หรือภาคเอกชน หรือภาคประชาสังคม (ถ้ามี)

มีการสนับสนุนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์ด้านการศึกษาและชุมชน

สถานภาพปัจจุบัน

สถานะการณ์คงอยู่ของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

เสี่ยงต่อการสูญหายต้องได้รับการส่งเสริมและรักษาอย่างเร่งด่วน

สถานภาพปัจจุบันของการถ่ายทอดความรู้และปัจจัยคุกคาม

มีการทำเป็นอาชีพเฉพาะกลุ่ม องค์ความรู้และภูมิปัญญาขาดการสืบทอดจากคนรุ่นใหม่

รายชื่อผู้สืบทอดหลัก (เช่น บุคคล กลุ่มคน เป็นต้น)

๑.นางบุตรศรี พรหมทา ผู้สืบทอดการต้มเกลือ บ้านมะฟัก ตำบลจิกสังข์ทอง อ.ราษีไศล

๒.นางจันทร์เพ็ญ มูลคำน้อย ผู้สืบทอดการต้มเกลือ บ้านมะฟัก ตำบลจิกสังข์ทอง อ.ราษีไศล

๓.นายทองหยุ่น ศรีบุญเรือง ผู้สืบทอดการต้มเกลือ บ้านมะฟัก ตำบลจิกสังข์ทอง อ.ราษีไศล

การยินยอมของชุมชนในการจัดทำรายการเบื้องต้นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

นางบุตรสี พรมทา เป็นผู้สืบทอดมรดกทางภูมิปัญญาการต้มเกลือ

เป็นผู้นำชุมชน เป็นเจ้าหน้าที่ในชุมชน เป็นผู้ชม เป็นผู้รับบริการ หรือเป็นผู้สนับสนุนด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง)

สถานที่ตั้ง
บ้านมะฟัก
ตำบล จิกสังข์ทอง อำเภอ ราษีไศล จังหวัด ศรีสะเกษ
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
บุคคลอ้างอิง นางบุตรสี พรมทา
ตำบล จิกสังข์ทอง อำเภอ ราษีไศล จังหวัด ศรีสะเกษ รหัสไปรษณีย์ 33160
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่