ประเพณีบุญข้าวจี่เป็นหนึ่งวัฒนธรรมประเพณีใน ฮีต ๑๒ คอง ๑๔ ของชาวอีสานซึ่งเป็นประเพณีที่มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานนับตั้งแต่สมัยพุทธกาลและมีการปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน บ้านพันนา ตำบลพันนา อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนครก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ในภาคอีสานที่มีการจัดประเพณีบุญข้าวจี่มาอย่างยาวนาน แต่จะมีการประยุกต์ทำให้ประเพณีบุญข้าวจี่ของชุมชนตัวเองนั้นมีเอกลักษณ์และแตกต่างจากที่อื่นๆ ซึ่งจะได้ออกมาในชื่อของ “ประเพณีบุญข้าวจี่ยักษ์บ้านพันนา”
ในงานมีการแสดงฟ้อนรำธิดาพันนาคร เพื่อบวงสรวงองค์พระธาตุ เป็นการแสดงออกถึงวัฒนธรรมประเพณีที่สืบทอดกันมายาวนาน ชาวบ้านเชื่อว่าเมื่อบวงสรวงปราสาทขอมแล้ว จะทำความอุดมสมบูรณ์แก่พืชพันธ์ธัญญาหาร ข้าวจะสมบูรณ์และเขียวขจี ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว และจะมีแต่ความสุขความเจริญ งานประเพณีบุญข้าวจี่ยักษ์ อนุรักษ์ปราสาทขอม ออนซอนผ้าย้อมคราม เป็นงานที่ชาวตำบลพันนาได้ปฏิบัติสืบทอดกันมานานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และได้อนุรักษ์สืบสานพัฒนายกระดับให้เป็นงานประเพณีที่สำคัญของอำเภอสว่างแดนดิน งานนี้จะจัดขึ้นทุกวันขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓ โดยประชาชนจะร่วมกันทำบุญตักบาตร พร้อมถวายข้าวจี่แด่พระภิกษุสงฆ์ที่วัด ซึ่งเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีทั่วไปของคนอีสาน ประเพณีบุญข้าวจี่ของชาวตำบลพันนา มีความแตกต่างจากบุญข้าวจี่ของอำเภอและจังหวัดต่างๆ กล่าวคือ ชาวตำบลพันนาได้ร่วมแรงร่วมใจกันทำข้าวจี่ ซึ่งเป็นข้าวจี่ที่มีขนาดใหญ่เรียกว่าข้าวจี่ยักษ์ ใช้ไข่ไก่ ๒ พันฟอง และประกอบกับมีโบราณสถานที่สำคัญคือปราสาทขอม ชาวตำบลพันนาจึงจัดประเพณีนี้ขึ้น ณ ปราสาทขอมแห่งนี้ และยังมีสิ่งที่สำคัญคือชาวตำบลพันนา เป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ มีภูมิปัญญาท้องถิ่นในการผลิตผ้าย้อมคราม ที่สวยงามและสวยที่สุดในจังหวัดสกลนคร จะเห็นได้จากชาวตำบลพันนาทุกคนใส่ผ้าย้อมครามมาร่วมงาน