ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 16° 31' 30"
16.5250000
ลองจิจูด (แวง) : E 100° 8' 42"
100.1450000
เลขที่ : 195902
นายทม สะอาดเอี่ยม ภูมิปัญญาปราชญ์ชาวบ้าน ด้านสมุนไพรไทย
เสนอโดย พิจิตร วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565
อนุมัติโดย พิจิตร วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565
จังหวัด : พิจิตร
10 893
รายละเอียด

ประวัติความเป็นมา

การนำพืชสมุนไพรมาใช้เป็นยารักษาโรคในประเทศไทยนั้น มีการใช้อย่างแพร่หลาย เป็นยาพื้นบ้านสืบทอดกันมานานตั้งแต่สมัยโบราณ แต่มิได้มีการจดบันทึกหลักฐานต่าง ๆ ไว้อย่างชัดเจน จนกระทั่งมีการประดิษฐ์ตัวอักษรไทยในสมัยกรุงสุโขทัยเมื่อประมาณ ๗๐๐ - ๑,๐๐๐ ปีที่ผ่านมา แต่สันนิษฐานว่าคงไม่ได้มีการจดบันทึกตำรายาขนานต่าง ๆ ไว้มากมายนัก น่าจะมีการจดจำและบอกเล่าสืบต่อกันมาจนถึงยุคของกรุงศรีอยุธยา และยุคตอนต้นของกรุงรัตนโกสินทร์ ราวพุทธศักราชที่ ๒๓๒๕ ในช่วงแห่งการครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ และพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ได้มีการรวบรวมและบันทึกตำรายาขนานต่าง ๆ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ได้ทรงให้มีการจารึกตำรายาและสรรพคุณของสมุนไพรชนิดต่าง ๆ ไว้บนกำแพงของวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม(วัดโพธิ์ ท่าเตียน) เมื่อถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้ทรงโปรดให้มีการเรียบเรียงและตีพิมพ์ตำรายา และสรรพคุณของสมุนไพรชนิดต่าง ๆ ซึ่งตกทอดสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน

นายทม สอาดเอี่ยม ภูมิปัญญาปราชญ์ชาวบ้าน ด้านสมุนไพรไทย อายุ ๙๐ ปี ภูมิลำเนาเดิมเป็นคนจังหวัดสุพรรณบุรี เกิดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๕ บิดาชื่อ นายปลั่ง สะอาดเอี่ยม มารดาชื่อ นางกลอย สะอาดเอี่ยม นายทม สะอาดเอี่ยม เป็นบุตรคนที่ ๕ จากบุตรทั้งหมด ๑๐ คน ได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานที่ บ้านเลขที่ ๑๙ หมู่ ๑๕ ตำบลบ้านนาอำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตรเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๐ นายทม สอาดเอี่ยม ชื่นชอบต้นไม้และพันธุ์ไม้รวมทั้งพืชสมุนไพรไทยชนิดต่าง ๆ มาตั้งแต่สมัยวัยเยาว์ โดยได้รับแรงบันดาลใจจากคุณลุงที่เป็นหมอยาสมุนไพรไทย คอยรักษาชาวบ้านที่เจ็บป่วยด้วยโรคภัยไข้เจ็บในสมัยนั้น หลังจากที่ได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานที่จังหวัดพิจิตร นายทม สะอาดเอี่ยม ก็เริ่มค้นคว้าศึกษาเกี่ยวกับพืชตระกูลสมุนไพรไทย หลากหลายชนิด โดยมีปณิธานที่แน่วแน่ในการช่วยเหลือและรักษาชาวบ้านให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ เริ่มแรกได้เดินทางไปศึกษาวิชาสมุนไพรไทยกับ หมอยามะยม มานัน ซึ่งเป็นหมอยาสมุนไพรไทยชื่อดัง ที่จังหวัดกำแพงเพชร ต่อมาได้เข้าศึกษาที่ สมาคมแพทย์แผนโบราณส่วนภูมิภาค จังหวัดอุตรดิตถ์ ในสาขาวิชาเวชกรรมไทย และสาขาวิชาเภสัชกรรมไทย จนสำเร็จการศึกษาพร้อมได้รับใบประกาศนียบัตรการประกอบโรคศิลป์แผนโบราณ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ โดยมีความชำนาญในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ด้วยยาสมุนไพรไทย อาทิเช่น โรคกระดูกทับเส้น โรคปวดเมื่อยตามร่างกาย โรคริดสีดวงทวาร โรคไข้หวัด โรคท้องร่วงท้องเสียและบรรเทาอาการอักเสบของบาดแผลทั่วไป เป็นต้น รวมทั้งได้รับเชิญให้เป็นวิทยากรบรรยายเรื่องสมุนไพรไทยโบราณจากวิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดพิษณุโลก และตามโรงเรียนประถม มัธยมต่าง ๆ ในอำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตรอยู่เป็นประจำ และได้นำความรู้ความสามารถเรื่องสมุนไพรไทยมารักษาและช่วยเหลือชาวบ้าน หมู่ ๑๕ และหมู่บ้านใกล้เคียง ปัจจุบันนายทม สอาดเอี่ยม ได้รับการยกย่องให้เป็นภูมิปัญญาปราชญ์ชาวบ้าน ด้านสมุนไพรไทย บ้านเลขที่ ๑๙ หมู่ ๑๕ ตำบลบ้านนา อำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตร

ผลงาน รางวัล เกียรติคุณ ของนายทม สอาดเอี่ยม ภูมิปัญญาปราชญ์ชาวบ้าน ด้านสมุนไพรไทย ที่เคยได้รับ (บางส่วน)

๑. ประกาศนียบัตร กรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และมหาวิทยาลัยเครือข่าย มอบให้แก่ นายทม สะอาดเอี่ยม ผ่านหลักสูตร “คณะกรรมการบริหารศูนย์บริหารและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล” ระหว่างวันที่ ๒-๔ กันยายน ๒๕๔๗

๒. ประกาศนียบัตร ปราชญ์ชาวบ้านด้านเกษตรปลอดสารพิษ จังหวัดพิจิตร รุ่นที่ ๒ มอบให้แก่ นายทม สะอาดเอี่ยม ในฐานะผู้นำการเปลี่ยนแปลงสู่การพึ่งพากันเอง ณ วันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๔๘

๓. ประกาศนียบัตร สมาคมแพทย์แผนโบราณส่วนภูมิภาค มอบให้แก่ นายทม สะอาดเอี่ยม ได้สำเร็จการศึกษาวิชาสาขาและสอบได้ตามหลักสูตร เวชกรรมไทย ณ วันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๕๑

๔. ประกาศนียบัตร สมาคมแพทย์แผนโบราณส่วนภูมิภาค มอบให้แก่ นายทม สะอาดเอี่ยม ได้สำเร็จการศึกษาวิชาสาขาและสอบได้ตามหลักสูตร เภสัชกรรมไทย ณ วันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๕๑

๕. ประกาศนียบัตร เครือข่ายจิตอาสา โรงพยาบาลวชิรบารมี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิจิตร มอบให้แก่ นายทม สะอาดเอี่ยม ในฐานะผู้เป็นบุคคลต้นแบบ พัฒนา สร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม เพื่อสังคมและชุมชน ณ วันที่ ๗ เมษายน ๒๕๕๓

๖. ประกาศนียบัตร กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุขมอบให้แก่ นายทม สะอาดเอี่ยม สำเร็จการอบรบระยะสั้น 2 ชั่วโมง หลักสูตรการปรุงยาสมุนไพรสามัญประจำบ้าน ณ วันที่ ๘ กันยายน ๒๕๕๕

๗. หนังสือรับรองจดแจ้ง เครือข่ายวัฒนธรรมระดำตำบลบ้านนา ประเภทเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้าน ๑. ปลูกพืชผักปลอดสารพิษ ๒. อนุรักษ์สมุนไพรไทย ๓. เผยแพร่ภูมิปัญญาชาวบ้านของนายทม สะอาดเอี่ยม ของสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิจิตร ณ วันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๕๕

๘. ประกาศนียบัตร พ่อดีเด่นเนื่องในวันพ่อแห่งชาติ ประจำปี ๒๕๕๖ มอบให้แก่ นายทม สะอาดเอี่ยม ของอำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตร ณ วันที่ ๖ ธันวามคม ๒๕๕๖

๙. ประกาศนียบัตร ๕ นักรบไทย ศาสตร์การแพทย์แผนไทย ก้าวไกลสู่อาเซียน มอบให้แก่ นายทม สะอาดเอี่ยม ในฐานะหมอพื้นบ้านดีเด่นจังหวัดพิจิตร ณ วันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙

๑๐. ประกาศนียบัตรกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกกระทรวงสาธารณสุขมอบให้แก่ นายทม สะอาดเอี่ยม สำเร็จการอบรบหลักสูตรการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุด้วยการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน (ผู้สูงอายุ)ณ วันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๖๑

วัตถุประสงค

๑. เพื่อเป็นการยกย่อง เชิดชูเกียรติ และเป็นขวัญกำลังใจแก่ นายทม สอาดเอี่ยม ภูมิปัญญาปราชญ์ชาวบ้านด้านสมุนไพรไทยของหมู่ ๑๕ ตำบลบ้านนา อำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตร ที่ทุ่มเทแรงกายแรงใจ มีความวิริยะอุตสาหะ รักษาและช่วยเหลือชาวบ้าน ตลอดระยะเวลาร่วม ๕๐ ปี

๒. เพื่อเป็นการอนุรักษ์ สืบสาน รักษา ต่อยอด ภูมิปัญญาปราชญ์ชาวบ้านด้านสมุนไพรไทย ที่มีคุณค่าและประโยชน์นานัปการ ให้คงอยู่สืบต่อไป

๓. เพื่อเป็นการพัฒนาองค์ความรู้ด้านสมุนไพรไทย ที่สามารถนำมาใช้รักษาโรคภัยไข้เจ็บ และเป็นประชาสัมพันธ์เผยแพร่องค์ความรู้ด้านสมุนไพรไทย เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน

ตัวอย่างสมุนไพรไทย และสรรพคุณ ที่นายทม สอาดเอี่ยม ภูมิปัญญาปราชญ์ชาวบ้านด้านสมุนไพรไทยใช้รักษาชาวบ้าน หมู่ 15 และหมู่บ้านใกล้เคียง ในตำบลบ้านนา อำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตร

๑. ว่านหางจระเข้

เป็นพืชล้มลุก สามารถขยายพันธ์ ได้โดยการแตกหน่อ พืชชนิดนี้ อวบน้ำ ลักษณะลำต้นสั้น ใบหนาอวบ สีเขียว ขอบใบมีลักษณะเหมือนฟันเล็กๆ เนื้อในใบว่านหางจระเข้ เป็นเหมือนเจลใสๆ เป็นเมือก ดอกของต้นว่านหางจระเข้ ออกเป็นช่อ ออกดอกช่วยฤดูร้อน กลีบดอกสีเหลือง

สรรพคุณ

ใบช่วยรักษาแผล รักษาฝี รักษาแผลสด รักษาแผลที่ริมฝีปาก รักษาแผลถลอก ช่วยสมานแผล รักษาแผลไฟไหม้ รักษาแผลน้ำร้อนลวก บำรุงผิวพรรณ ช่วยขจัดรอยแผลเป็นช่วยปกป้องผิวพรรณจากแสงแดด ลดอาการผิวแห้ง รักษาฝ้า

ราก และเหง้าช่วยขับปัสสาวะ รักษาหนองใน แก้ตกขาว ช่วยขับน้ำคาวปลา

๒. ฟ้าทลายโจร

เป็นไม้ล้มลุก สูง ๓๐-๗๐ ซม. ทุกส่วนของฟ้าทลายโจรมีรสขม กิ่งเป็นใบสี่เหลี่ยม ใบเดี่ยว แผ่นใบสีเขียวเข้มเป็นมัน ดอก ช่อ ออกที่ปลายกิ่งและซอกใบ ดอกย่อย กลีบดอกสีขาว โคนกลีบติดกัน ปลายแยก ๒ ปาก ปากบนมี ๓ กลีบ มีเส้นสีม่วงแดงพาดอยู่ ปากล่างมี ๒ กลีบ ผล เป็นฝัก เมื่อแก่เป็นสีน้ำตาล แตกได้ ภายในมีเมล็ดจำนวนมาก

สรรพคุณ

ทั้งต้นมีรสขม รับประทานแก้ไข้ แก้หวัด แก้ต่อมทอนซิลอักเสบ แก้ปอดอักเสบ แก้บิด แก้ท้องเดิน ลดความดันโลหิต สามารถใช้แทนยาปฏิชีวนะได้

ใบมีรสขม บดพสมน้ำมันพืชทาแผลน้ำร้อนลวก ไฟไหม้ ใบสด นำมาเคี้ยวกลืนผสมน้ำอุ่น แก้คออักเสบ แก้เจ็บคอ

๓.ขมิ้นชัน

เป็นพืชล้มลุก มีเหง้าอยู่ใต้ดิน สามารถขยายพันธ์โดยการแยกหน่อ ลักษณะของต้นขมิ้นชัน ลำต้นมีความสูงประมาณ ๓๐ ถึง ๙๕ เซนติเมตร เหง้าของขมิ้นชัน เป็นลักษณะทรงรี รูปไข่ อยู่ใต้ดิน ในเนื้อของเหง้ามีสีเหลืองส้ม กลิ่นฉุน ใบของขมิ้นชัน ลักษณะเป็นใบเดี่ยว ตรงกลางใบมีสีแดงคล้ำ เรียงซ้อนทับกันเป็นวง ดอกของขมิ้นชัน ดอกออกมาจากเหง้าขมิ้นชัน แทรกขึ้นตามก้านใบ ดอกขมิ้นรูปทรงกระบอก สีเหลืองอ่อน ใบประดับสีเขียวอ่อน

สรรพคุณ

เหง้ามีรสฝาดหวาน แก้ไข้เรื้อรัง แก้โรคผิวหนัง ผื่นคัน ทำให้ผิวหนังผุดผ่อง ลดการอักเสบ แก้โรคท้องร่วง แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ช่วยขับลม ขับกลิ่น อาหารไม่ย่อย

ผงขมิ้น(นำเหง้าแห้งมาบดเป็นผง) นำมาเคี่ยวกับน้ำมันพืช ทำน้ำมันใส่แผลสด

ขมิ้นสด(ใช้เหง้าสดล้างให้สะอาด) ตำกับดินประสิวเล็กน้อย ผสมน้ำปูนใส พอกบาดแผล และแก้เคล็ดขัดยอก ตำกับน้ำปูนใส รับประทาน แก้ท้องร่วง แก้โรคบิด

๔. ขิง

เป็นพืชล้มลุก มีเหง้าลักษณะคล้ายมือ เปลือกเหง้าจะมีสีเหลืองอ่อน มีรสเผ็ดและกลิ่นหอม แต่ผลยิ่งแก่จะมีรสเผ็ดร้อนมากขึ้น เหง้าขิง อยู่ใต้ดินเป็นข้อๆ เนื้อในสีขาว หรือเหลืองอ่อน ลำต้นสูงจากพื้นดินขึ้นมา ๕๐-๑๐๐ เซนติเมตร มีกาบ หรือโคนใบหุ้ม ใบขิง เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกันเป็นสองแถว ปลายใบเรียวแหลม โคนใบแคบ และจะเป็นกาบหุ้มลำต้นเทียม ดอกชิง ลักษณะเป็นช่อทรงกระบอก แทงขึ้นมาจากเหง้า กลีบดอกสีเหลืองอมเขียว โคนกลีบดอกม้วนห่อ ส่วนปลายกลีบผายกว้างออก ใบประดับสีเขียว มีแต้มแดงตรงโคน

สรรพคุณ

เหง้าขิงรสหวานเผ็ดร้อน ขับลม แก้ท้องอืด จุกเสียด แน่นเฟ้อ คลื่นไส้อาเจียน แก้บิด เหง้าสด ตำคั้นเอาน้ำผสมกับน้ำมะนาว เติมเกลือเล็กน้อย จิบแก้ไอ ขับเสมหะ

ต้นขิงรสเผ็ดร้อน ขับลมให้ผายเรอ แก้จุกเสียด แก้ท้องร่วง

ใบขิงรสเผ็ดร้อน บำรุงกำเดา แก้ฟกช้ำ แก้นิ่ว แก้ขัดปัสสาวะ แก้โรคตา ฆ่าพยาธิ

ดอกขิงรสเผ็ดร้อน แก้โรคประสาท ช่วยย่อยอาหาร แก้ขัดปัสสาวะ

รากขิงรสหวานเผ็ดร้อนขม แก้แน่นเฟ้อ เจริญอาหาร ขับลม แก้เสมหะ แก้บิด

ผลขิงรสหวานเผ็ด บำรุงน้ำนม แก้ไข้ แก้คอแห้ง เจ็บคอ แก้ตาฟาง เป็นยาอายุวัฒนะ

แก่นขิงฝนทำยาแก้คัน

๕. ว่านชักมดลูก

ว่านชักมดลูก เป็นพืชล้มลุก มีความสูงประมาณ 1เมตร หัวของว่านชักมดลูกอยู่ใต้ดิน ยาวประมาณ ๑๐ เซนติเมตร มีลักษณะใบเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับกัน รูปวงรี ขนาดกว้างประมาณ 15เซนติเมตร และยาวประมาณ ๔๐ เซ็นติเมตร ก้านดอกว่านชักมดลูก ยาว ๑๕-๒๐ เซ็นติเมตร กลีบดอกสีแดงอ่อน ใบประดับสีม่วง เกสรตัวผู้ที่เป็นหมัน มีกลีบดอกสีเหลือง

สรรพคุณ

รากของว่านชักมดลูก ใช้แก้ท้องอืดเฟ้อได้ดี

เหง้าใช้เป็นยาบีบมดลูก สำหรับทำให้มดลูกเข้าอู่เร็ว ใช้กับสตรีหลังคลอดบุตร ช่วยให้ประจำเดือนมาตามปรกติ รักษาโรคมดลูกพิการปวดบวม แก้อาการปวดท้องระหว่างมีประจำเดือน ใช้รักษาริดสีดวงทวารหนัก รักษาไส้เลื่อน เป้นยาขับเลือด ขับน้ำคาวปลา ช่วยทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่งสดใส มีเลือดฝาด ช่วยขยายหน้าอก ช่วยเพิ่มน้ำหล่อลื่นในช่องคลอด ช่วยแก้อาการตกขาว ช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางเพศในสตรี ช่วยบำรุงหลอดเลือด

๖. บอระเพ็ด

ถือไม้เลื้อย ซึ่งจะพบเห็นต้นบอระเพ็ด พันตามต้นไม้ เถาของบอระเพ็ดมีลักษณะกลมใหญ่เป็นปุ่ม มีสีเทาอมดำ รสขมจัด ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกัน ลักษณะใบเหมือนรูปหัวใจ ขอบใบเรียบ สีเขียว ดอกจะออกตามซอกใบ สีเขียวอมเหลือง ขนาดเล็ก ผลเป็นทรงกลม สีเหลือง

สรรพคุณ

รากของบอระเพ็ด ใช้ลดไข้ ดับพิษร้อน และช่วยเจริญอาหาร

ลำต้นของบอระเพ็ด ใช้ลดไข้ บำรุงกำลัง บำรุงธาตุขัน บำรุงเลือด บำรุงร่างกาย แก้ร้อนในกระหายน้ำ ช่วยเจริญอาหาร เป็นยาอายุวัฒนะ

ใบของบอระเพ็ด ใช้แก้ไข้ ขับพยาธิ แก้ปวดฝี บำรุงธาตุ ลดความร้อนในร่างกาย บำรุงผิวพรรณ รักษาโรคผิวหนัง รักษาผดผื่นคัน บำรุงเส้นเสียง ใช้รักษาเลือดคั่งในสมอง

ดอกของบอระเพ็ด ใช้ฆ่าพยาธิในท้อง ในฟัน ในหู

ผลของบอระเพ็ด ใช้ขับเสมหะ ลดไข้

๗. อัญชัน

เป็นพืชไม้เลื้อย ขนาดไม่ใหญ่ สามารถปลูกตามรั้วบ้าน หรือ ปลูกเป็นซุ้มประตูให้ความสวยงาม สามารถขยายพันธ์ุโดยการเพาะเมล็ดพันธ์ สามารถปลูกได้ในทุกสภาพดิน โตง่าย ลักษณะลำต้นเป็นไม้เนื้ออ่อน เป็นไม้เลื้อย อายุสั้น ใช้ยอดเลื้อยพันตามหลักหรือเสา ใบอัญชันมีปลายใบแหลม โคนใบมน ผิวใบด้านล่างมีขนหนาปกคลุม ดอกอัญชัน มีดอกสีขาว สีฟ้า และสีม่วง ดอกออกเดี่ยว กลีบดอก 5 กลีบ กลีบคลุมรูปกลม ออกดอกเกือบตลอดปี ผลอัญชัน เป็นฝักแบน มีเมล็ดคล้ายรูปไต สีดำ

สรรพคุณ

ดอกอัญชันช่วยให้ผมดกดำ ผมนุ่มสวย บำรุงเลือด บำรุงสมอง มีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยบำรุงสายตา ขับสารพิษในร่างกาย ลดน้ำตาลในเลือด

เมล็ดเป็นยาระบาย แก้อาการคลื้นไส้ อาเจียน

รากมีรสขม นำมาใช้เป็นยาขับปัสสาวะ และทำยาระบาย แก้อาการปวดฟัน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการมองเห็นให้ดียิ่งขึ้น

ใบช่วยขับปัสสาวะ ช่วยบำรุงสายตา ขับของเสียออกจากร่างกาย

๘. มะขามป้อม

เป็นไม้ยืนต้น ขนาดเล็กและขนาดกลาง นิยมรับประทานผลสด เป็นผลไม้ มะขามป้อมสามารถขยายพันธ์ทางการเพาะเมล็ด ลำต้นมีลักษณะตั้งตรง ความสูงประมาณ 10เมตร ลำต้นมีเปลือก สีน้ำตาล ผิวลำต้นเรียบ สีของเนื้อไม้มะขามป้อมมีสีแดงอมน้ำตาล ใบมีลักษณะเป็นใบประกอบ คล้ายใบมะขาม ใบอ่อนมีสีเขียว ใบแก่มีสีแดงอ่อน ใบมีลักษณะเรียวรี ใบเรียบ ปลายใบมน ออกดอกเป็นกระจุก ออกเป็นดอกเดี่ยว สีขาวอมเหลือง ผลมะขามป้อมลักษณะทรงกลม แบน ผลอ่อนมีสีเขียว ผลสุกจะมีสีเขียวอมเหลือง เปลือกผลเรียบ เนื้อผลอ่อน ชุ่มน้ำ ภายในผลมีเมล็ดลักษณะแข็ง รสของผลมะขามป้อมเปรี้ยว และ ฝาดเล็กน้อย

สรรพคุณ

ใบมะขามป้อมบำรุงผิวพรรณ ป้องกันโรคมะเร็ง ช่วยขับปัสสาวะ ช่วยขับสารพิษ ในร่างกายเสริมสร้างภูมิต้านทานร่างกาย ช่วยคลายกล้ามเนื้อ แก้กระหายน้ำ ลดเสมหะ ลดน้ำตาล ในเลือด บำรุงเหงือกและฟัน ป้องกันเลือดออกตามไรฟัน รักษาแผลในปาก ช่วยขับลม แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ช่วยขยายหลอดลม รักษาหอบหืด รักษาโรคตาแดง

ผลมะขามป้อมบำรุงผิวพรรณ ป้องกันโรคมะเร็ง ช่วยขับปัสสาวะ ช่วยขับสารพิษ ในร่างกาย เสริมสร้างภูมิต้านทานร่างกาย ช่วยคลายกล้ามเนื้อ แก้กระหายน้ำ ลดเสมหะ ลดน้ำตาลในเลือด บำรุงเหงือกและฟัน ป้องกันเลือดออกตามไรฟัน รักษาแผลในปาก ช่วยขับลม แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ ช่วยขยายหลอดลม รักษาหอบหืด รักษาแผลไฟไหม้ รักษาโรคตาแดง

เมล็ดของมะขามป้อมมีน้ำมันหอมระเหย สรรพคุณช่วยขับปัสสาวะ ช่วยขับลม แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ

เปลือกลำต้นและแก่นไม้ของต้นมะขามป้อมบรรเทาแก้อาหารเป็นพิษ ช่วยขับปัสสาวะ และรักษาโรคผิวหนัง

วิธีการเดินทาง

จากอำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร มุ่งหน้าเข้าสู่ทางหลวงชนบทหมายเลข ๑๑๕ (สามง่าม - วชิรบารมี) เลี้ยวซ้ายที่แยกปลวกสูง เข้าสู่ทางหลวงชนบทหมายเลข ๑๑๗ (สายเอเชีย AH 13) มุ่งหน้าสู่จังหวัดนครสวรรค์เลี้ยวขวาเข้าซอยวัดหนองสะเดาผ่านโรงเรียนโนนสะเดา และวัดหนองสะเดา เลี้ยวซ้ายตรงบริเวณสามแยก ไปตามทางประมาณ ๑ กิโลเมตร ถึงศูนย์การเรียนรู้สมุนไพรชุมชน นายทม สะอาดเอี่ยม บ้านเลขที่ ๑๙ หมู่ ๑๕ ตำบลบ้านนา อำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตร ระยะทางประมาณ ๓๓ กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทาง ประมาณ ๔๕ นาที

คุณค่าและบทบาทของวิถีชุมชนที่มีต่อองค์ความรู้เรื่องนี้

๑)คุณค่าขององค์ความรู้ทางวัฒนธรรม

ภูมิปัญญาเกี่ยวกับการใช้สมุนไพรไทยเพื่อการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ และการดูแลสุขภาพของนายทม สะอาดเอี่ยม ภูมิปัญญาปราชญ์ชาวบ้านด้านสมุนไพรไทย ณ ชุมชน หมู่ ๑๕ ตำบลบ้านนา อำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตร ถือเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า ที่ได้สั่งสมและสืบทอด ต่อกันมาอย่างช้านาน ผ่านการศึกษาเรียนรู้จากบรรพบุรุษ โดยวิธีการเรียนรู้ การฝึกฝน ด้วยความวิริยะอุตสาหะ อีกทั้งยังเป็นการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และรักษาทำให้องค์ความรู้เรื่องสมุนไพรไทยเกิดประโยชน์แก่ชาวบ้านในชุมชน และบริเวณใกล้เคียง นับเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งในการป้องกันและแก้ปัญหาสุขภาพของสมาชิกในชุมชน และบริเวณใกล้เคียง ได้เป็นอย่างดี ซึ่งผู้คนสมัยก่อนต้องพึ่งพาอาศัยธรรมชาติแทบทุกด้าน ตั้งแต่อาหารการกิน เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค ทั้งนี้ พืชสมุนไพรไทยถือว่าเป็นผลผลิตจากธรรมชาติที่มีการนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ ตั้งแต่สมัยโบราณกาล ดังนั้น การใช้สมุนไพรไทยเพื่อการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ และการดูแลสุขภาพ จึงถือเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมท้องถิ่นอันล้ำค่า ของสังคมไทยที่ควรอนุรักษ์ และรักษาไว้สืบต่อไป

๒)บทบาทของชุมชนในการสืบสาน รักษา ต่อยอด ขององค์ความรู้ทางวัฒนธรรม

ปัจจุบัน พระครูพิศาลธรรมวุฒิ เจ้าคณะอำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตร และเจ้าอาวาสวัดหนองสะเดา พระปลัดพายัพ มหาญาโณ เลขานุการเจ้าคณะอำเภอวชิรบารมี วัดหนองสะเดา นายทม สะอาดเอี่ยม ภูมิปัญญาปราชญ์ชาวบ้านด้านสมุนไพรไทย นางกัลยาณีย์ โตรูปสม บุตรสาวและผู้ช่วยภูมิปัญญาปราชญ์ชาวบ้านด้านสมุนไพรไทย ของชุมชน หมู่ 15 ตำบลบ้านนา อำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตร เป็นแกนนำที่สำคัญ ที่มีบทบาทในการอนุรักษ์ สืบสาน รักษา ต่อยอด องค์ความรู้ทางวัฒนธรรมเรื่องสมุนไพรไทยซึ่งเป็นมรดกภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สำคัญ รวมทั้งชาวบ้านในชุมชน ทุกเพศ ทุกวัย และชุมชนบริเวณใกล้เคียงต่างร่วมมือกันที่จะพยายามรักษาองค์ความรู้ทางวัฒนธรรมเรื่องสมุนไพรไทยให้สืบต่อไป

การส่งเสริม สนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ หรือภาคเอกชน หรือภาคประชาสังคม

ปัจจุบันภูมิปัญญาปราชญ์ชาวบ้าน ด้านสมุนไพรไทย ของนายทม สะอาดเอี่ยม บ้านเลขที่ ๑๙ หมู่ ๑๕ ตำบลบ้านนา อำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตร ยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนหรือภาคประชาสังคม หน่วยงานภาครัฐ อาทิเช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล โรงพยาบาลประจำอำเภอหรือหน่วยงานราชการต่าง ๆ ควรเข้ามาสนับสนุนทั้งในเรื่องของด้านวิชาการ ด้านงบประมาณ เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนภูมิปัญญาปราชญ์ชาวบ้าน ด้านสมุนไพรไทยให้คงอยู่ต่อไป

สถานภาพปัจจุบัน

๑)สถานะการคงอยู่ขององค์ความรู้

เสี่ยงต่อการสูญหายต้องได้รับการส่งเสริมและรักษาอย่างเร่งด่วน

๒)สถานภาพปัจจุบันของการถ่ายทอดความรู้และปัจจัยคุกคาม

ปัจจุบันภูมิปัญญาปราชญ์ชาวบ้าน ด้านสมุนไพรไทย ของนายทม สะอาดเอี่ยม หมู่ ๑๕ ตำบลบ้านนา อำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตรอยู่ในสถานะเสี่ยงต่อการสูญหายต้องได้รับการส่งเสริมและรักษาอย่างเร่งด่วนรวมถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านสมุนไพรไทยที่ใช้ในการดูแลและรักษาสุขภาพ ก็ยังไม่ได้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านสมุนไพรไทยแต่อย่างใด

ส่วนปัจจัยคุกคาม เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์ องค์ความรู้ด้านสมุนไพรไทยที่ใช้ในการดูแลและรักษาสุขภาพ การใช้สมุนไพรในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ แม้เริ่มกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง แต่ก็ถูกด้อยค่าและทดแทนด้วยวิธีการรักษาทางการแพทย์และยาสมัยใหม่แพทย์แผนปัจจุบันไม่นิยม นำสมุนไพรมาใช้เป็นยารักษาโรค ประกอบกับองค์ความรู้ด้านสมุนไพรไทย ที่ใช้ในการดูแลและรักษาสุขภาพขาดการถ่ายทอดองค์ความรู้และการสานต่อ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยคุกคามที่มีต่อองค์ความรู้สมุนไพรไทย

๑๑. ข้อเสนอแนะ

๑. ควรมีการส่งเสริมและสนับสนุนการให้ความรู้ เกี่ยวกับการนำสมุนไพรมาใช้ในการดูแลและ รักษาสุขภาพเบื้องต้นในชีวิตประจำวัน ผลักดันองค์ความรู้เรื่องสมุนไพรให้เป็นพืชสามัญประจำบ้าน ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับคุณประโยชน์ด้านต่าง ๆ และวิธีการใช้สมุนไพรอย่างถูกต้องและถูกวิธี รวมถึงตระหนักและเห็นความสำคัญของการใช้สมุนไพรในการดูแลและรักษาสุขภาพตนเอง

๒. หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาสุขภาพ ควรมีทัศนคติ เชิงบวกต่อการนำสมุนไพรมาใช้ดูแลและรักษาสุขภาพ เนื่องจากภูมิปัญญาในการนำสมุนไพรมาใช้ในการดูแลสุขภาพเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าของคนไทย การคงอยู่ของภูมิปัญญานี้ก่อให้เกิดการสืบสาน การรักษา การต่อยอดภูมิปัญญาที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าของคนไทยจากรุ่นสู่รุ่น นำไปสู่การพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ด้านสมุนไพรอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานของภูมิปัญญาไทย

ข้อมูลอ้างอิงบุคคล

ชื่อ-นามสกุล นายทม สอาดเอี่ยม

ตำแหน่ง ภูมิปัญญาปราชญ์ชาวบ้าน ด้านสมุนไพรไทย

หน่วยงาน/องค์กร ศูนย์เรียนรู้สมุนไพรชุมชน บ้านนายทม สอาดเอี่ยม

ที่อยู่ บ้านเลขที่ ๑๙ หมู่ที่ ๑๕ ตำบลบ้านนา อำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตร รหัสไปรษณีย์ ๖๖๑๔๐

ชื่อ-นามสกุล นางกัลยาณีย์ โตรูปสม

ตำแหน่ง ผู้ช่วยภูมิปัญญาปราชญ์ชาวบ้าน ด้านสมุนไพรไทย

หน่วยงาน/องค์กร ศูนย์เรียนรู้สมุนไพรชุมชน บ้านนายทม สอาดเอี่ยม

ที่อยู่ บ้านเลขที่ ๑๙ หมู่ที่ ๑๕ ตำบลบ้านนา อำเภอวชิรบารมี จังหวัดพิจิตร รหัสไปรษณีย์ ๖๖๑๔๐

เบอร์โทรศัพท์ ๐๘๔-๔๙๕๙๓๙๗

ข้อมูลอ้างอิงอื่นๆเช่นเอกสารงานวิจัย, แผ่นพับ, เว็ปไซด์, ฯลฯ

๑.https://www.rama.mahidol.ac.th/poisoncenter/th/pois-cov/Herbal

- คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี Ramathibodi Poison Center

๒.https://fongza.com/สมุนไพร

- ความรู้สมุนไพรและโรค เรียนรู้เรื่องสนุกๆเพื่อการดูและสุขภาพสำหรับทุกคน สมุนไพรไทย ๑๐๘ ชนิด พืชเพื่อสุขภาพ

๓.http://www.midscaleoff3.com/km/information/012/01/K0036.pdf

- สมุนไพรไทยยอดฮิต ๒๐ ชนิด ที่ทุกคนรู้จักชื่อเสียงเรียงนามกันดี ว่าแต่รู้จักสรรพคุณครบถ้วนแล้วหรือยัง

๔.http://www.thai-explore.net/file_upload/submitter/file_doc/

- ภูมิปัญญาการใช้สมุนไพรพื้นบ้านในการดูแลสุขภาพ

เกร็ดความรู้

คำว่าสมุนไพรตามพระราชบัญญัติ หมายความถึง ยาที่ได้จากพืช สัตว์ และแร่ ซึ่งยังมิได้มีการ ผสมปรุงหรือแปรสภาพ (ยกเว้นการทำให้แห้ง) เช่น พืชก็ยังคงเป็นส่วนของราก ลำต้น ใบ ดอก ผล ฯลฯ ยังไม่ได้ผ่านขั้นตอนการแปรรูปใดๆ เช่น การหั่น การบด การกลั่น การสกัดแยก รวมทั้งการผสมกับสารอื่นๆ แต่ในทางการค้า สมุนไพรมักจะถูกดัดแปลงในรูปแบบ ต่างๆ เช่น ถูกหั่นเป็นชิ้นเล็กลง บดให้เป็นผง อัดให้เป็นแท่ง หรือปอกเปลือกออก เป็นต้น เมื่อพูดถึงสมุนไพร ประชาชนทั่วไปมักจะนึกถึงเฉพาะพืชที่นำมาใช้ประโยชน์ในทางยา ทั้งนี้เพราะ สัตว์ และแร่มีการใช้น้อย จะใช้เฉพาะในโรคบางชนิดเท่านั้น

ประวัติของการใช้สมุนไพร

สมุนไพรคือ ของขวัญที่ธรรมชาติมอบให้กับมวลมนุษยชาติ มนุษย์เรารู้จักใช้สมุนไพรในด้านการบำบัดรักษาโรค นับแต่ยุคโบราณในประเทศอิรักปัจจุบัน บริเวณหลุมฝังศพพบว่ามีการใช้สมุนไพร หลายพันปีมาแล้ว ชาวอินเดียแดงในเม็กซิโก ใช้ต้นตะบองเพชร เป็นยาฆ่าเชื้อและรักษาบาดแผล ปัจจุบันพบว่า ตะบองเพชร มีฤทธิ์กล่อมประสาทประมาณ ๔,๐๐๐ ปีมาแล้ว ชาวสุเมเรียนได้เข้ามาตั้งรกราก ณ บริเวณแม่น้ำไทกริสและยูเฟรติสปัจจุบัน คือ ประเทศอิรัก ใช้สมุนไพร เช่น ฝิ่น ชะเอม และมัสตาร์ด ชาวบาบิโลเนียน ใช้สมุนไพร ได้แก่ ใบมะขามแขก หญ้าฝรั่น ลูกผักชี อบเชย และกระเทียม ในการบำบัดรักษาโรค

ในยุคต่อมาอียิปต์โบราณมีอิมโฮเทปแพทย์ผู้มีชื่อเสียงซึ่งต่อมาได้รับการยกย่องให้เป็นเทพเจ้า แห่งการรักษาโรค ของชาวอียิปต์ มีตำราสมุนไพรที่เก่าแก่ คือ Papytus Ebers ซึ่งเขียนเมื่อ ๑,๖๐๐ ปี ก่อนคริสตศักราช ซึ่งค้นพบโดยนักอียิปต์วิทยาชาวเยอรมัน ชื่อ Georg Ebers ในตำรานี้ได้กล่าวถึง ตำราสมุนไพรมากกว่า ๘๐๐ ตำรับ และสมุนไพรมากกว่า ๗๐๐ ชนิด เช่น ว่านหางจระเข้ เวอร์มวูด เปปเปอร์มินต์ เฮนเบน มดยอบ ละหุ่ง เป็นต้น รูปแบบในการเตรียมยาในสมัยนั้น ได้แก่ การต้ม การชง ทำเป็นผง กลั่นเป็นเม็ด ทำเป็นยาพอก เป็นขี้ผึ้ง เป็นต้น

นอกจากนี้ยังพบว่าชาติต่างๆ ในแถบยุโรปและแอฟริกา มีหลักฐานการใช้สมุนไพร ตามลำดับก่อนหลังของการเริ่มใช้สมุนไพร คือ หลังจากสมุนไพรได้เจริญรุ่งเรืองในอียิปต์แล้ว ก็ได้มีการสืบทอดกันมา เช่น กรีก โรมัน อาหรับ อิรัก เยอรมัน โปรตุเกส สวีเดน และโปแลนด์ ส่วนในแถบเอเชียตามบันทึกประวัติศาสตร์พบว่ามีการใช้สมุนไพรที่อินเดียก่อน แล้วสืบทอดมาที่จีน มะละกา และประเทศไทย

ประวัติการใช้สมุนไพรในประเทศไทย

ประเทศไทยมีภูมิอากาศที่เหมาะสมต่อการเจริญงอกงามของพืชนานาชนิด โดยเฉพาะพืชสมุนไพร มีอยู่มากมายหลายชนิด ทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและจากการเพาะปลูก บางชนิดก็ใช้เป็นวัตถุดิบ ในการผลิตยาแผนปัจจุบัน สมุนไพรหลายชนิด ถูกนำมาใช้ในรูปของยาสามัญประจำบ้าน ยาแผนโบราณ รากฐานของวิชาสมุนไพรไทยได้รับอิทธิพลจากประเทศอินเดียเป็นส่วนใหญ่ ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรม ประเพณี ศาสนา ตลอดจนการบำบัดรักษาโรคจากประเทศอินเดียเป็นจำนวนมาก ซึ่งปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าได้อาศัยคัมภีร์อายุรเวทของอินเดียเป็นบรรทัดฐาน คือ การวินิจฉัยโรค ชื่อสมุนไพรที่ใช้รักษาโรคมีเค้าชื่อของภาษาบาลีสันสกฤตอยู่ด้วย

ต่อมาในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเห็นว่าสมุนไพรเป็นทั้งยา และอาหารที่ใช้ในการดูแลสุขภาพ ครอบครัว สังคม ประเทศชาติ จะเจริญมั่นคงได้ก็ด้วยการมีสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง ทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ จึงทรงมีพระกรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินโครงการตามพระราชดำริ สวนสมุนไพรขึ้นในประเทศในปีพุทธศักราช ๒๕๒๒ โดยทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการรวบรวมศึกษาค้นคว้า ในเรื่องเกี่ยวกับสมุนไพรทุกด้าน เช่น ด้านวิชาการ ทางชีววิทยา ทางการแพทย์ การบำบัด การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะพืชที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนคนไทย ก่อให้เกิดโครงการพระราชดำริ สวนป่าสมุนไพรขึ้นมากมายหลายแหล่ง อีกทั้งยังมีการศึกษาวิจัย อย่างกว้างขวางโดยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยี เพื่อหาสาระสำคัญของสมุนไพรที่มีพิษทางเภสัชมาสกัดเป็นยาแทนยาสังเคราะห์ที่ใช้กันในปัจจุบัน

การจำแนกรูปแบบของสมุนไพรที่ใช้เป็นยา

สมุนไพรไม่ว่าจะเป็นส่วนที่มาจากพืช สัตว์ หรือแร่ธาตุต่าง ๆ ก็ตาม เวลาจะนำมาใช้เพื่อบริโภค หรือเพื่อการรักษาตามกรรมวิธีจำเพาะอันใดก็ตาม พอจะจำแนกรูปแบบของสมุนไพรที่ใช้เป็นยาได้ ดังนี้

. รูปแบบที่เป็นของเหลวยาเหล่านี้มักได้จากกรรมวิธีต่างๆ กันเช่น ยาต้มคือหั่นต้นยาแล้วต้มกับน้ำ ยาชงเป็นยาแห้งหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ คั่วแล้วนำไปชงกับน้ำ น้ำคั้นสมุนไพรเตรียมโดยการเอาต้นสมุนไพรสดๆ ตำให้ละเอียด เติมน้ำแล้วคั้นเอาน้ำยามารับประทาน และยาดองเตรียมโดยบดสมุนไพรให้แห้งห่อด้วย ผ้าขาวบาง ดองในสุรา

. รูปแบบที่เป็นของแข็งยาปั้นลูกกลอน เตรียมโดยหั่นต้นไม้ยาสดให้เป็นแว่นบางๆ ตากแดดให้แห้ง บดเป็นผง ผสมกับน้ำผึ้งหรือน้ำเชื่อม 1 ส่วน ปั้นเป็นลูกกลมๆ เล็กๆ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑ เซนติเมตร ปั้นเสร็จผึ่งแดดจนแห้ง

๓. รูปแบบกึ่งแข็งกึ่งเหลวสมุนไพรเหล่านี้จะทำให้อยู่ในลักษณะพอทรงตัวได้ มักใช้เพื่อ การรักษาภายนอก เช่น ยาพอก ยาทา เตรียมโดยใช้ต้นสดตำให้แหลกหรือกึ่งเหลว

. รูปแบบอื่นๆที่มีลักษณะการใช้พิเศษ เช่น ใช้วิธีรมควัน หรือสูดดม เพื่อรักษาโรดเกี่ยวกับทางเดินหายใจ หรือการรมควันเพื่อรักษาแผล และให้มดลูกเข้าอู่ในสตรีภายหลังคลอด

ข้อแนะนำสำหรับการนำสมุนไพรมาใช้ในการรักษาโรคและการดูแลสุขภาพ

ถึงแม้ว่าการใช้สมุนไพรเป็นยาในการรักษาโรค จะมีความปลอดภัยสูงก็ตาม แต่หากใช้ไม่ถูกวิธี หรือไม่ถูกต้อง อาจจะทำให้เกิดโทษหรือไม่ได้ผลการรักษาตามที่ต้องการ ซึ่งการใช้สมุนไพรจะได้ผลดีหรือไม่ขึ

สถานที่ตั้ง
ชุมชนคุณธรรมฯ วัดหนองสะเดา
เลขที่ 19 หมู่ที่/หมู่บ้าน 15
ตำบล บ้านนา อำเภอ วชิรบารมี จังหวัด พิจิตร
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
นายทม สะอาดเอี่ยม ภูมิปัญญาปราชญ์ชาวบ้าน ด้านสมุนไพรไทย
บุคคลอ้างอิง นายรัตน์ดนัย สิงห์คำ อีเมล์ culture.phichit01@gmail.com
ชื่อที่ทำงาน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพิจิตร อีเมล์ culture.phichit01@gmail.com
หมู่ที่/หมู่บ้าน ศาลากลางจังหวัดพิจิตร (หลังเดิม) ถนน บุษบา
ตำบล ในเมือง อำเภอ เมืองพิจิตร จังหวัด พิจิตร รหัสไปรษณีย์ 66000
โทรศัพท์ 0 5661 2675 โทรสาร 0 5661 2675
เว็บไซต์ https://www.m-culture.go.th/phichit
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่