ถ้ำจอมพล หรือชื่อเดิมว่า “ ถ้ำมุจลินทร์” ตั้งอยู่ที่อำเภอจอมบึง ในบริเวณสวนรุกชาติจอมพล ติดกับมหาวิทยาลัยราชภัฎหมู่บ้านจอมบึง ในปี พ.ศ. ๒๔๓๘ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรี พัชรินทราบรมราชินีนาถ ได้เสด็จประพาสถ้ำจอมพล ทรงพอพระทัยความงดงามของหินงอกหินย้อย โดยเฉพาะหินย้อยผาวิจิตร มีลักษณะคล้ายริ้วไหมอินทรธนูบนบ่าของจอมพล จึงทรงพระราชทานนามถ้ำใหม่ว่า “ถ้ำจอมพล” และบริเวณก้อนหินตรงปากถ้ำมีการสลักอักษรพระปรมาภิไธยย่อ “จปร ๑๑๔” บริเวณปากถ้ำจอมพล
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จประพาสถ้ำจอมพล และทรงเยี่ยมราษฎรที่อำเภอจอมบึง เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๔๙๙ ในวโรกาสนั้น ได้ทรงจารึกพระปรมาภิไธยย่อ ที่บริเวณหน้าถ้ำว่า “ภปร ๑ มิ.ย. ๙๙” และได้ปลูกต้นสัก สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ทรงปลูกต้นกัลปพฤกษ์ และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงปลูกต้นนนทรี ไว้เป็นที่ระลึก ณ สวนรุกขชาติที่บริหารหน้าถ้ำจอมพล พร้อมโปรดให้ราษฏรได้เฝ้าละอองธุลีพระบาทอย่างใกล้ชิด
เมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๒๐ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ สยามมกุฎราชกุมารเสด็จประพาสถ้ำจอมพล และเสวยพระกระยาหารกลางวันที่สวนรุกขชาติ ถ้ำจอมพลเมื่อคราวเสด็จวางศิลาฤกษ์โรงพยาบาล สมเด็จพระยุพราชจอมบึง และพระองค์ทรงลงพระนามาภิไธยย่อ “วชิราลงกรณ ๒๑ ก.ค ๒๐” ไว้ที่ก้อนหินใหญ่ ปากทางเข้าถ้ำจอมพล
ถ้ำจอมพลมีความกว้าง ๓๐ เมตร ยาว ๒๔๐ เมตร สูง ๒๕ เมตร ภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อย มีเกล็ดฉายแสงระยิบระยับอยู่ตลอดเวลาสวยงามมาก โดยมีชื่อเรียกแต่ละบริเวณ จำนวน ๙ ห้อง
บริเวณที่ ๑ ชื่อ ธารศิลา ลักษณะเป็นแอ่งสำหรับเก็บน้ำ มีหินงอก รูปร่างต่าง ๆ อยู่รายรอบ
บริเวณที่ ๒ ชื่อ จุลคูหา เป็นคูหาเล็กอยู่ทางขวามือ ลักษณะเป็นทางเดินแคบ ๆ
บริเวณที่ ๓ ชื่อ พิชิตชล หินงอกแท่งใหญ่ สูงขึ้นไปบนเพดานถ้ำ และมีแอ่งน้ำลดหลั่นลงมาเป็นชั้น ๆ ส่วนนี้ในอดีตมีน้ำไหลทั้งปี และเมื่อเดินชมให้รอบ ๆ บริเวณจะเห็นหินงอก หินย้อยอยู่รอบ ๆ
บริเวณที่ ๔ ชื่อ สร้อยระย้า เป็นหินงอกห้อยระย้าลงมา จะมีหินสองส่วนที่ห้อยระย้าจากเพดานถ้ำและส่วนที่งอกขึ้นจากพื้นถ้ำ
บริเวณที่ ๕ ชื่อ ผาวิจิตร เป็นบริเวณที่มีพื้นที่กว้างขวาง มีเพดานสูงมีหินงอกย้อยเป็นเหมือนฉากที่สร้างไว้อย่างสวยงาม มีเพดานมีร่องรอยหลากหลาย ความงดงามของหินผาที่มีริ้วรอยตามรูปร่าง เสมือนอินทรธนูบนบ่า ของนายทหารยศจอมพลในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
บริเวณที่ ๖ ชื่อ แส้จามรี เป็นหินย้อยแท่งใหญ่ทอดยาวลงมาลักษณะเป็นริ้วพู่สวยงาม
บริเวณที่ ๗ ชื่อถ้ำมัสยาสถิต เป็นบริเวณแคบ ๆ และมีความมืดมากกว่าบริเวณอื่น ๆ เข้าไปจะเห็นหินย้อยลงมา และหินย้อยจะมีแอ่งน้ำสมัยก่อนเป็นแอ่งน้ำใส ลึกพอประมาณ มีปลาชิวแหวกว่ายในแอ่งน้ำ เรียกแอ่งน้ำนี้ว่า ประสิทธิเทวา ในบริเวณใกล้กันขวามือจะเห็นหินย้อยเป็นริ้ว มีพุ่มลงมามีชื่อว่า “เกศาสลวย”
บริเวณที่ ๘ ชื่อ ธารเนรมิต อยู่บริเวณของปล่องอากาศด้านพระพุทธไสยาสน์ บริเวณปล่องอากาศเป็นบริเวณที่สว่างที่สุดมีแสงสว่างจากปล่องลงมาเป็นลำแสงงดงาม นักท่องเที่ยวนิยมมาชมในช่วงเวลาบ่าย ๆ เพราะลำแสงจะส่องลงมาเป็นแนวเฉียงกระทบกับพื้นหินบริเวณถ้ำและกระทบพระพุทธไสยาสน์สวยงามยิ่งนัก
บริเวณที่ ๙ ชื่อ บรมอาสน์ อยู่บริเวณใกล้เคียงกับพระพุทธไสยาสน์มีหินย้อยลักษณะเหมือนกระถาง
ถ้ำจอมพลอยู่ในความดูแลของสวนรุกชาติถ้ำจอมบึงและเทศบาลตำบลจอมบึง เปิดบริการตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐ น. – ๑๖.๓๐ น. เป็นแหล่งศึกษาธรรมชาติที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดราชบุรี ผู้ที่เข้ามาศึกษาจะได้รับความรู้ในเรื่องธรรมชาติในการเกิดของหินจนกลายเป็นหินงอกหินย้อยที่มีรูปร่างสวยงาม นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่จัดงานประเพณีปิดทองพระพุทธไสยาสน์ในถ้ำจอมพลของวัดจอมบึง ในช่วงเดือนมีนาคมหรือเดือนเมษายน อีกด้วย