ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 13° 34' 7.7434"
13.5688176
ลองจิจูด (แวง) : E 99° 46' 40.0026"
99.7777785
เลขที่ : 195961
อุทยานหินเขางู
เสนอโดย ราชบุรี วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2565
อนุมัติโดย ราชบุรี วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2565
จังหวัด : ราชบุรี
0 709
รายละเอียด

ความเป็นมาของอุทยานหินเขางู

อุทยานหินเขางูเป็นประติมากรรมธรรมชาติที่แปลกตา เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาที่มีความสูงไม่สม่ำเสมอกัน และมีชื่อต่างกันไป มองแต่ไกลเห็นทอดยาวคล้ายงูเลื้อย ยอดสูงที่สุดคือเขาหลักว่าว สูง 281 เมตร ส่วนเขางูนั้นเป็นส่วนหัวอยู่ทางทิศใต้ มีความสูงเพียง 20 เมตร หน้าเขางูเป็นที่ราบกว้างใหญ่

เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์

บริเวณทุ่งเขางูมีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ ใน “สงคราม 9 ทัพ” ที่พม่าระดมพลเข้ามา ขณะที่ไทยเพิ่งเริ่มสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ ขณะนั้นไทยไม่มีกำลังทหารมากพอจะรับมือกับทัพพม่าได้ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท พระอนุชา จึงทรงวางยุทธวิธีส่งกองทัพเล็กๆไปยันทัพพม่าที่เข้ามาทางภาคเหนือและราชบุรี เพื่อถ่วงเวลาไม่ให้เข้ามาช่วยทัพหลวงที่เข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ได้ จากนั้นกรมพระราชวังบวรก็ทรงนำทัพไปรับทัพหลวงพม่า และทรงใช้ยุทธวิธี “ปิดตรอกตีพม่า” ล่อให้พม่าเข้ามาในชัยภูมิที่เราได้เปรียบ แล้วตีทัพหน้าจนแตกพ่ายไม่เป็นขบวน ทำให้ทัพหลวงของพระเจ้าปะดุงที่เข้ามาถึงแค่ด่านเจดีย์สามองค์ต้องรีบถอยออกไป จากนั้นจึงทรงนำทัพไปช่วยทางราชบุรีต่อไป กองทัพไทยที่ส่งไปยันพม่าที่ราชบุรีนั้นมีพระยาธรรมากับพระยายมราชเป็นแม่ทัพ เมื่อยกไปถึงราชบุรีไม่เห็นวี่แววพม่าแต่อย่างใด จึงตั้งค่ายอยู่แต่ในเมือง ทั้งไม่ได้ส่งกองลาดตระเวนออกไปตรวจพื้นที่โดยรอบด้วย ส่วนกองทัพพม่าที่ยกเข้ามาทางด่านเจ้าเขว้า มาถึงราชบุรีเมื่อทัพหลวงแตกไปแล้วก็ยังไม่รู้ เลยตั้งค่ายที่ทุ่งเขางู เมื่อพระยากลาโหมราชเสนา กับพระยาจ่าแสนยกทัพลัดป่าจากเมืองกาญจน์จะมาช่วยราชบุรี เห็นพม่าตั้งค่ายอยู่ที่เขางู จึงเข้าโจมตีจนพม่าแตกพ่ายหนีไป เมื่อกรมพระราชวังบวรยกทัพหลวงตามมาถึงทราบเรื่อง ก็ทรงพระพิโรธให้ลงพระราชอาญาจำขังแม่ทัพนายกองที่ราชบุรีทุกคน แล้วบอกเข้ามากราบทูลสมเด็จพระเชษฐาที่กรุงเทพฯ จะขอประหารชีวิตแม่ทัพทั้ง 2 พระเจ้าอยู่หัวได้ขอชีวิตแม่ทัพทั้ง 2 ไว้ ด้วยมีความดีความชอบมาแต่ก่อน ให้ลงแต่พระอาญาทำโทษประจานตามกฎพระอัยการศึก กรมพระราชวังบวรจึงลงพระอาญาเจ้าพระยาธรรมาและพระยายมราช โดยโกนศีรษะเป็น 3 แฉก แล้วให้ตระเวนรอบค่าย ถอดเสียจากฐานันดรศักดิ์ ส่วนนายทัพนายกองทั้งหลายก็ให้เฆี่ยนทั้งสิ้น

สมัยก่อนในฤดูน้ำหลาก คือตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงพฤศจิกายน น้ำจะไหลบ่าเจิ่งนองจากแม่น้ำแม่กลองไปถึงเชิงเขา และมีระดับน้ำขนาดเรือยนต์ใหญ่ๆเข้าไปได้ จึงมีเทศกาลพายเรือไปนมัสการหลวงพ่อฤาษีและรอยพระพุทธบาทในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งเป็นวันพ้นออกพรรษา ถือเป็นงานประเพณีของท้องถิ่น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเสด็จประพาสไปที่เขางูหลายครั้ง ครั้งหนึ่งในปี 2431 ในการเสด็จประพาสไทรโยค ที่ขบวนเรือเสด็จต้องผ่านราชบุรี ได้ทรงนิพนธ์บทกลอนบรรยายลักษณะของเขางูไว้ว่า

“ ตรงหน้านั้นเขางูเปนหมู่ยาว
แต่หลายยอดหลายอย่างต่างชื่อเสียง
ที่เล็กเคียงข้างลงมาหน้าผาขาว
เป็นเขางูอยู่เท่านั้นปั้นเรื่องราว
เขาหลักว่าวและเปนสูงในฝูงนี้
ยอดเป็นหลักปักเห็นเด่นถนัด
เขาที่ถัดเป็นรากกล้วยพรวยแผกหนี
ถ้าเปนเขารอกไปได้จะดี
ต่อยอดนี้เขาจุฬาท้าพนัน...”

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้เคยบันทึกไว้ในคราวเสด็จตรวจราชการมณฑลราชบุรีใน พ.ศ.2441 ไว้ว่า

“...ฉันพึ่งเคยมาเห็นทุ่งเขางูในระดูน้ำคราวนี้ พอแลเห็นก็ทำยอมโดยทันทีว่า บรรดาทุ่งที่จะเที่ยวเล่นในระดูน้ำ จะเปนทุ่งหนึ่งทุ่งใดในกรุงเก่าก็ดี ท้องพรหมมาศเมืองลพบุรีก็ดี แม้ที่สุดถึงบึงบอระเพ็ดนครสวรรค์ก็ดี บรรดาที่เคยไปเห็นแล้วไม่มีแห่งใดที่จะสู้ทุ่งเขางูนี้เลย ด้วยเปนทุ่งกว้างน้ำลึกและมีเขาอยู่ใกล้ๆ จะแล่นเรือพายไปเท่าใดก็ไม่มีที่สุด โดยจะมีเรือใบเล็กๆมาแล่นเล่นก็ได้ กระบวนเรือที่จะเที่ยวทุ่งเก็บกุ่มเก็บบัวอย่างทุ่งกรุงเก่าก็ได้ หรือเอาเรือแวะจอดที่ดอนขึ้นไร่เก็บน้อยหน่าก็ได้ จะเดินเที่ยวไปถึงเขาก็ไม่ทันเหนื่อย เพราะอย่างนี้ใครๆจึงกลับมาชมกันว่าสนุกนัก...”

เมื่อคราวน้ำท่วมทุ่งเขางู และภาพน้ำท่วมทุ่งเขางูนี้ ยังเคยถูกใช้เป็นตราประจำจังหวัดราชบุรีในช่วงปี 2500 - 2509 เป็นภาพน้ำหลากทุ่งกับภูเขา ล้อมรอบด้วยงูใหญ่ ปัจจุบัน น้ำท่วมทุ่งเขางูในฤดูน้ำหลากนี้ไม่มีเกิดขึ้นแล้ว หลังจากที่มีการสร้างเขื่อนใหญ่ 2 เขื่อนที่ต้นน้ำแม่กลองในจังหวัดกาญจนบุรี ควบคุมน้ำไว้ได้ ท้องทุ่งอันกว้างใหญ่ได้กลายเป็นที่อยู่อาศัยของชุมชนและเป็นพื้นที่เกษตรกรรม

ด้านโบราณคดีเขางู เป็นศาสนสถานอันเก่าแก่มาแต่ครั้งทวารวดี มีพระพุทธรูปจำหลักหินบนฝาผนังถ้ำอยู่หลายแห่ง ภายในอุทยานหินเขางูแห่งนี้ มีสถานที่ท่องเที่ยวทางโบราณคดีซึ่งจะเป็นถ้ำ ที่อยู่บนภูเขามีถ้ำฤๅษี ถ้ำฝาโถและถ้ำจีน-จาม แต่ละถ้ำอยู่ไม่ไกลกัน ภายในถ้ำต่างๆนี้พบพระพุทธรูปจำหลัก หรือพระพุทธรูปที่สลักหินที่ฝาผนังถ้ำอยู่หลายองค์ ซึ่งพระพุทธรูปเหล่านี้เป็นพระพุทธรูปตั้งแต่สมัยทวารวดี อาณาจักรที่รุ่งเรืองในอดีต ทั้งยังมีรอยพระพุทธบาทประดิษฐานอยู่บนยอดเขา บริเวณรอบๆก็จะมีฝูงลิงอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก

ด้านการอนุรักษ์และพัฒนาเขางูเคยเป็นแหล่งระเบิดและย่อยหินที่สำคัญของไทยตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ เนื่องจากเป็นหินปูนที่มีคุณภาพดี ครั้งหนึ่งมีการออกสัมปทานบัตรให้ระเบิดย่อยหินเขางูเอาไปขายเป็นวัสดุก่อสร้างได้ ต่อมาทั้งภาครัฐและประชาชนได้เล็งเห็นถึงความเสื่อมโทรมของสภาพภูมิประเทศ และวิวทิวทัศน์ และความเดือดร้อนของคนในพื้นที่ที่เรียกร้องให้ระงับการระเบิดหิน คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้ยุติสัมปทานการระเบิดและย่อยหินบริเวณนี้เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2530 หลังจากยกเลิกสัมปทาน อุทยานหินเขางูกลายเป็นเหมืองร้าง มีสภาพทรุดโทรม ต่อมาในปี 2534 สำนักงานนโยบายและแผนพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มอบหมายให้คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินการจัดทำแผนการอนุรักษ์เขางู ในปี 2556 สำนักงานโยธาธิการและผังเมือง จังหวัดราชบุรี จึงดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์ของเขางู จนเป็นอุทยานหินเขางู และพัฒนาเขางูให้เป็นสวนสาธารณะและสถานที่ท่องเที่ยวทางโบราณคดีได้สร้างพระพุทธรูปหินขนาดใหญ่ เต็มพื้นที่หน้าผา สร้างจากการยิงแสงเลเซอร์ลงหน้าผาหิน ภายในอุทยานหินเขางูแห่งนี้ มีสถานที่ท่องเที่ยวทางโบราณคดีอยู่หลายแห่ง ซึ่งจะเป็นถ้ำที่อยู่บนภูเขามีถ้ำฤๅษี ถ้ำฝาโถและถ้ำจีน-จาม แต่ละถ้ำอยู่ไม่ไกลกัน เขางูก็มีถ้ำหลายแห่งที่มีความสำคัญทางโบราณคดี ภายในถ้ำต่างๆนี้พบพระพุทธรูปจำหลัก หรือพระพุทธรูปที่สลักหินที่ฝาผนังถ้ำอยู่หลายองค์ ซึ่งพระพุทธรูปเหล่านี้เป็นพระพุทธรูปตั้งแต่สมัยทวารวดี อาณาจักรที่รุ่งเรืองในอดีต ทั้งยังมีรอยพระพุทธบาทประดิษฐานอยู่บนยอดเขา บริเวณรอบๆก็จะมีฝูงลิงอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ปัจจุบันอุทยานหินเขางู เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่โดดเด่นของจังหวัดราชบุรี ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยว

สถานที่ตั้ง
อุทยานหินเขางู
เลขที่ - หมู่ที่/หมู่บ้าน - ซอย - ถนน -
ตำบล เกาะพลับพลา อำเภอ เมืองราชบุรี จังหวัด ราชบุรี
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
ชื่อที่ทำงาน หน่วยงานผู้ให้ข้อมูล เทศบาลตำบลหลักเมือง
ตำบล เกาะพลับพลา อำเภอ เมืองราชบุรี จังหวัด ราชบุรี รหัสไปรษณีย์ 70000
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่