มณฑปพระพุทธบาทจำลองตั้งอยู่บนเนินภายในบริเวณวัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหารจังหวัดนครศรีธรรมราช อยู่ทางทิศเหนือของเขตพุทธาวาส มองเห็นได้ชัดจากถนนราชดำเนิน มณฑปที่ประดิษฐานพระพุทธบาทจำลองสร้างบนเนินดินรูปสี่เหลี่ยมมีกำแพงกั้นไว้อย่างมั่นคง ลักษณะของมณฑปเป็นอาคารคอนกรีตสี่เหลี่ยมหลังคาซ้อนเป็น ๒ ชั้น หลังคาบนยอดสูง มีประตูเข้าออกทั้ง ๔ ด้าน ไม่มีหน้าต่างแต่มีช่องลม ระดับหน้าต่างข้างละ ๒ ช่อง เพดานเป็นไม้ มีลายประจำยามตกแต่ง ตรงกลางภายในมณฑปสร้างเป็นแท่นหินอ่อนรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยาว ๗๔ นิ้ว กว้าง ๔๔ นิ้ว เป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง หันพระบาทไปทางทิศตะวันออก ด้านขวาและด้านซ้ายของพระพุทธบาทจำลอง มีคำจารึกถึงประวัติการสร้างและวัตถุประสงค์ไว้อย่างชัดเจน คือ
ด้านซ้ายมือ (ทิศเหนือ)
ได้ลงมือทำพระพุทธบาทจำลองนี้ ในวันที่ ๑ มกราคม รัตนโกสินทร์ ๑๒๖ พระพุทธศาสนยุคกาลล่วงแล้ว ๒๔๕๐ ปีมะแม จุลศักราช ๑๒๖๙ นพศก ตรงกับเดือนอ้าย แรมสิบค่ำ วันพุธพระศิริธรรมมุนี (ม่วง) พระครูกาแก้ว (สี) พระยาตรังคภูมาภิบาล (ถนอม) พร้อมด้วยผู้มีศรัทธาเป็นอันมากได้จำลองแผ่นศิลา ของเจ้าพระยาสุธรรมนตรี (พร้อม)
ด้านขวามือ (ทิศใต้)
รอยพระพุทธบาทนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ที่นำมาซึ่งความเชื่อและความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าซึ่งดับขันธ์สู่พระนฤพาน ล่วงลับไปแล้วสู่กาลนาน กุศลอันยิ่งใหญ่ จงมีแก่ท่านทั้งหลายผู้เป็นศาสนิกชน ผู้ได้ทำการสักการะซึ่งจะนำมาซึ่งความสุข และประโยชน์เกื้อกูลให้สำเร็จกิจวิบูลผลจนตลอดกาลนาน
ภายในพระพุทธบาทจำลอง นอกจากแกะสลักเป็นนิ้วพระบาทแล้ว ได้แกะสลักเป็นตารางรวม มี ๑๐๘ ตาราง แต่ละตารางสลักเป็นรูปต่าง ๆ เช่น พระพุทธรูป รูปครุฑ รูปช้างสามเศียร รูปพานพุ่ม รูปบาตรใส่พระคัมภีร์ ตรงกลางฝ่าพระบาทแกะสลักเป็นรูปกลมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๒๘ เซนติเมตร ลักษณะคล้ายดอกไม้ รอยพระพุทธบาทจำลองที่วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหารแห่งนี้ มีประวัติการสร้างมานับร้อยปี แสดงถึงความเลื่อมใสศรัทธาของผู้นำในการสร้างและพุทธศาสนิกชนทั่วไปในยุคนั้นได้มอบไว้เป็นมรดกของชาวพุทธในปัจจุบันและต่อไป ควรที่พุทธศาสนิกชนจะได้ไปสักการะบูชาเพื่อเป็นศิริมงคลแก่ชีวิตสืบไป