ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 8° 24' 41.4306"
8.411508497062389
ลองจิจูด (แวง) : E 99° 57' 58.1633"
99.96615645893696
เลขที่ : 196553
เจดีย์ราย วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร
เสนอโดย นครศรีธรรมราช วันที่ 5 พฤษภาคม 2565
อนุมัติโดย นครศรีธรรมราช วันที่ 5 พฤษภาคม 2565
จังหวัด : นครศรีธรรมราช
0 422
รายละเอียด

“เจดีย์ราย”เป็นเจดีย์ทรงระฆังขนาดเล็กที่สร้างเรียงรายเป็นบริวารอยู่รอบเจดีย์ประธาน (หรือพระบรมธาตุเจดีย์) สร้างอยู่ภายในวงล้อมของวิหารคด (พระด้าน) จำนวน ๑๔๙ องค์ ส่วนใหญ่ถ่ายแบบจากพระมหาธาตุเจดีย์ แต่ลดทอนขนาดและรายละเอียดลง เป็นสัญลักษณ์แทนสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ช่วยสร้างเสริมความสำคัญแก่เจดีย์ประธาน และบรรยากาศภายในเขตพุทธาวาสให้ศักดิ์สิทธิ์และสง่างามสมกับเป็นพระอารามหลวง ด้วยเหตุนี้จึงเรียกเจดีย์รายเหล่านี้อีกชื่อหนึ่งว่า “เจดีย์บริวาร”

ประวัติการสร้าง

เจดีย์รายสร้างมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๖ และทยอยสร้างเพิ่มเติมมาจนถึงพุทธศตวรรษที่ ๒๓ ผลการขุดค้นทางโบราณคดีและการกำหนดอายุอิฐด้วยวิธี TLของสำนักศิลปากรที่ ๑๒ กรมศิลปากรเมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๕๙ พบว่าเจดีย์รายแถวชั้นใน (สามเถา) สร้างเมื่อราว ๑๐๒๑-๑๐๔๘ ปีมาแล้ว (ตรงกับ พ.ศ.๑๕๑๑-1๑๕๓๘) ส่วนเจดีย์รายแถวชั้นนอกและด้านทิศเหนือ ค่อยทยอยสร้างเพิ่มขึ้นตามศรัทธาของพุทธศาสนิกชนชั้นหลัง จนถึงปัจจุบันมีจำนวน ๑๔๙ องค์ ผังตำแหน่งที่ตั้งเจดีย์รายทั้ง ๑๔๙ องค์แบ่งได้เป็น ๒ กลุ่ม คือ กลุ่มเก่า เป็นกลุ่มที่สร้างขึ้นคราวเดียวกันในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๒๐ กลุ่มใหม่ เป็นกลุ่มที่เพิ่งทยอยสร้างในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๓ เป็นต้นมา เจดีย์แต่ละกลุ่มมีลักษณะแตกต่างกันอยู่ กล่าวคือ

เจดีย์รายกลุ่มเก่าเป็นเจดีย์ที่สร้างล้อมองค์พระบรมธาตุเจดีย์ เรียงเป็นสามแถวอยู่ในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส โดยสร้างถัดออกมาเป็นชั้น ๆ เจดีย์แต่ละแถวมีขนาดความสูงลดหลั่นลงมาจากเจดีย์ประธาน แถวของเจดีย์ลักษณะนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อคราวเสด็จประพาสวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๑ ทรงเรียกว่า“เจดีย์สามเถา”มีจำนวนทั้งสิ้น ๑๑๒ องค์ อยู่ทางทิศตะวันออก ๒๓ องค์ ทางทิศตะวันตก ๒๔ องค์ ทางทิศเหนือ ๓๒ องค์ และทางทิศใต้ ๓๓ องค์ ล้วนเป็นเจดีย์ทรงระฆัง ก่ออิฐฉาบปูนพร้อมทาด้วยสีปูนตำ แต่ลดทอนรายละเอียดและขนาดลง เจดีย์รายกลุ่มนี้ถือเป็นเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมด้านการสร้างกลุ่มเจดีย์ (หรือเจดีย์บริวาร) ของวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร

เจดีย์รายกลุ่มใหม่เป็นเจดีย์ที่ทยอยสร้างเพิ่มตามกำลังศรัทธา โดยอาศัยแนวความคิด ความต้องการในการใช้สอยและวัสดุก่อสร้างในลักษณะเดิม แต่วางตำแหน่งที่ไม่ตรงแบบแผนเดิม หลายองค์สร้างเบี่ยงไปจากแถวแนว รวมทั้งขนาดความสูงของเจดีย์ก็ไม่สม่ำเสมอกัน ส่วนใหญ่มักเป็นเจดีย์ทางทิศเหนือและทิศตะวันตกเฉียงเหนือซึ่งมี ๓๗ องค์ เจดีย์เหล่านี้สร้างขึ้นตามกำลังศรัทธาดังเช่นเจดีย์รายองค์ที่ ๑๒๔ ซึ่งดำเนินการโดยเจ้าคณะสงฆ์ไทยในรัฐเคดาห์ (ประเทศมาเลเซีย) มีจารึกแผ่นหินว่า“วันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๔๖๖ ท่านพระครูเขียว เจ้าคณะจังหวัดไทรบุรี พร้อมด้วยพระสงฆ์และทายกทายิกาทั้งหลาย ได้กระทำพระเจดีย์องค์นี้ไว้ในพระพุทธศาสนา ขอผลอันนี้จงสำเร็จแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายสิ้นกาลนานเทอญ”

ความสำคัญและคุณค่า

๑. เจดีย์รายถือเป็นส่วนหนึ่งของปูชณียสถานแห่งนี้ ก่อสร้างเป็นจุดเสริมสร้างศรัทธาให้แก่พุทธศาสนิกชนในรัฐตามพรลิงค์หรือรัฐนครศรีธรรมราชมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๖ แนวคิดการสร้างเจดีย์รายหรือเจดีย์บริวาร เกิดจากแนวคิดเรื่องจักรวาลที่ปรากฏในวรรณกรรมเรื่อง“ไตรภูมิกถา”หรือ “ไตรภูมิพระร่วง”) โดยเจดีย์ประธานเปรียบเสมือนดังเขาพระสุเมรุ ซึ่งมีทวีปทั้งสี่ล้อมรอบ ทวีปดังกล่าวหมายถึงเจดีย์ประจำทิศหรือเจดีย์ประจำมุม และสอดคล้องกับคติความเชื่อที่ปรากฏในคัมภีร์ฝ่ายเถรวาท

๒. แม้ว่าเจดีย์รายจะได้รับการถ่ายถอดแบบแนวคิดมาจากวัฒนธรรมศรีลังกา โดยเฉพาะเจดีย์รายในอานาหนบริเวณ (Alahara Parivena) ในเมือโปโลนนารุวะ ในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘ การสร้างมีลักษณะจัดวางเป็นหย่อม ๆ ไม่เป็นระบบระเบียบที่อิงตามแนวแกนรอบเจดีย์ประธานและที่สร้างแรกอยู่ระหว่างศาสนสถานก็มี แต่สำหรับในวัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร ได้ปรับเปลี่ยนให้เป็นระบบระเบียบยิ่งขึ้น

สถานที่ตั้ง
วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร
ตำบล ในเมือง อำเภอ เมืองนครศรีธรรมราช จังหวัด นครศรีธรรมราช
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด นครศรีธรรมราช
บุคคลอ้างอิง ผศ.ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ อีเมล์ ns-culture2009@hotmail.com
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่