การเสด็จประพาส เป็นพระราชกรณียกิจที่สำคัญของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ด้วยทรงต้องการรับรู้และทราบถึงทุกข์สุขของประชาชนด้วยพระองค์เอง รวมทั้งเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีงามระหว่าง พระมหากษัตริย์ ข้าราชการ และราษฎร
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสเมืองปราจีน จำนวน 2ครั้ง ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2415 และครั้งที่สองเมื่อปี พ.ศ. 2451 โดยในครั้งที่สอง พระองค์ทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ (ในกาลต่อมารับราชสมบัติเป็นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6) พระราชบันทึกเรื่องราวการเสด็จประพาสโดยตลอดเส้นทางเสด็จ โดยเฉพาะในช่วงวันที่ 17 – 18 ธันวาคม พ.ศ. 2451 ที่พระองค์เสด็จประพาสถึงเมืองศรีมหาโพธิ ดังนี้
วันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2451
ทรงลงเรือล่องไปขึ้นที่ทุ่งพลับพลา ณ อำเภอเมืองปราจีนบุรี เพื่อเยี่ยมชมตลาดหน้าเมือง จากนั้นล่องเรือขึ้นมาตามลำน้ำ เสวยพระกระยาหารที่ตำบลศรีมหาโพธิ ใต้ร่มไม้แห่งหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเป็นโคกสูง อยู่ทางใต้ของวัดอินทรแบกลงมา และได้ล่องเรือต่อไปยังพลับพลาที่ประทับแรม ณ อำเภอศรีมหาโพธิ ผ่านตลาดเป็นระยะ ๆ ที่ท่าพวกชาวป่าลง คือ ที่ท่าหาดและท่าเขมร ซึ่งเปลี่ยนชื่อว่า“ท่าประชุมชน”เมื่อถึงพลับพลาที่ประทับจึงได้เสด็จต่อไปยังบ้านเจ้าอลังการ (พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอลังการ) และได้เลยขึ้นไปชม ชุมชนท่าตูม ก่อนจะเสด็จกลับไปยังพลับพลาที่ประทับ ณ อำเภอศรีมหาโพธิ โดยทรงประทับพักแรมเป็นเวลา 1 คืน
วันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2451
ทรงขึ้นช้างของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ซึ่งมีชื่อว่า“กปุม”เพื่อเสด็จพระราชดำเนินไปสำรวจแหล่งโบราณสถานและเทวสถาน ณ ดงศรีมหาโพธิ ซึ่งมีการค้นพบในรัชสมัยของพระองค์ และพระองค์ทรงมีพระราชบันทึกถึงเรื่องประวัติดงศรีมหาโพธิไว้ในพระราชหัตถเลขา ดังความว่า
“ดงศรีมหาโพธินี้ ได้ชื่อจากต้นโพธิ์ต้นหนึ่ง ซึ่งว่าเป็นโพธิ์เก่าแก่ เป็นที่นับถือสักการะบูชา ระยะห่างจากโคกฝางนี้ประมาณเช้าชั่วเพลแต่ก็อยู่ชายดง ว่าโพธิ์นั้นตั้งอยู่บนโนน แต่คนแก่เขาบอกว่าไม่ใช่โนน เป็นทรายที่คนนับถือไปบูชา กองพอก ๆ ขึ้นไปจนเป็นโนนสูงสัก 6 ศอกเศษ มีพระรูปหนึ่งออกมาสร้างวัด เรียกชื่อว่าหลวงพ่ออิฐ จะถามหาปีเดือนว่าได้สร้างเมื่อใดก็บอกไม่ถูก ได้ความแต่ว่าวัดนั้น ได้สร้างมาแต่เมื่อยายแก่อายุ 60 ปี ได้เห็นเป็นวัดอยู่แล้ว พระเป็นไทยบ้าง ลาวบ้างปนกัน มีพระบาทจำลอง ฤดูเดือนห้า ราษฎรพากันไปไหว้ต้นโพธิ์และพระบาท มาแต่ไกลจากเมืองพนมสารคามท่าประชุมและที่อื่น ๆ เป็นตลาดนัดซื้อขายจอแจกัน 2 วัน 3 วัน และมีดอกไม้เพลิงบ้องไฟเป็นต้นมาจุดในการ นักขัตฤกษ์นี้”ณ เทวสถานโบราณดงศรีมหาโพธิ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้จารึกพระปรมาภิไธย “จปร ๔๑/๑๒๗” ลงบนแผ่นศิลาแลงขนาดสูง 1 เมตร กว้าง 50 เมตร ยาว 1 เมตร ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นซากของอาคารเก่าในสมัยทวารวดี โดยมีความหมายคือ ๔๑ หมายถึงปีที่รัชกาลของพระองค์ และ ๑๒๗ หมายถึง ร.ศ. ๑๒๗ ที่พระองค์ได้เสด็จประพาสมายังเมืองศรีมหาโพธิ
การเสด็จประพาสดงศรีมหาโพธิ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นับเป็นมิ่งขวัญ ให้แก่ชาวเมืองศรีมหาโพธิเป็นอย่างล้นพ้น ดังที่มีพระราชบันทึกว่าชาวบ้านที่มารับเสด็จต่างอยู่ในอาการ ชื่นชมยินดี และเข้ามากราบเทิดทูลพระองค์ไว้เหนือเกล้า รวมทั้งพากันเข้ามาขอให้พระองค์พระราชทานพรให้ ซึ่งนับว่าเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้นแก่ราษฎรเมืองศรีมหาโพธิที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพรแก่ชาวเมืองศรีมหาโพธิ ดังความว่า
“ขอให้ให้พรตามความปรารถนา คือถ้าทำนาก็ขอให้พรว่าให้ทำนาได้ข้าวงามดี ถ้าเจ็บเป็นโรคอะไรต้องเล่าโรคนั้นให้ฟัง แล้วขอให้ให้พรให้โรคนั้นหาย”
นอกจากนี้ การเสด็จประพาสเมืองศรีมหาโพธิในครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้ชื่นชมในรสชาติพระกระยาหารและเครื่องเสวยอาหารพื้นถิ่นของเมืองศรีมหาโพธิอย่าง ไก่เผา ปลาเผา และผัดน้ำพริก ซึ่งเจ้าเมืองและข้าราชการเมืองปราจีนบุรีจัดนำมาถวายไว้ด้วยว่า“ทำอร่อยดีมาก”
ด้วยความน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ในปี พ.ศ. 2457 ชาวเมืองศรีมหาโพธิ
จึงสร้างมณฑปคลุมหินที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวลงพระปรมาภิไธยไว้ ต่อมาได้เกิดชำรุดจึงได้มีการสร้างมณฑปใหม่ขึ้นมาทดแทนมณฑปเดิมในปี พ.ศ. 2473 ให้เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก มีลวดลายปูนปั้นรูปครุฑ ลายดอกไม้ โดยชาวเมืองศรีมหาโพธิ เรียกสถานที่นี้ว่า “อนุสาวรีย์ลายพระหัตถ์” หรือ “ลายพระหัตถ์” ตั้งอยู่ที่ ตำบลหนองโพรง อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี และได้จัดให้มี “งานเฉลิมฉลอง ลายพระหัตถ์ อำเภอศรีมหาโพธิ” ขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่มีต่อเมืองศรีมหาโพธิ และเพื่อปลูกฝังให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้เกิดจิตสำนึกรัก ในประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของตนเอง เห็นถึงความสำคัญในการอนุรักษ์มรดกโบราณสถาน และโบราณวัตถุที่มีคุณค่า ทางประวัติศาสตร์ของเมืองศรีมหาโพธิ ให้คงอยู่สืบไป