อำเภอแหลมสิงห์มีพื้นที่ติดชายทะเล และมีต้นมะพร้าวขึ้นเป็นจำนวนมาก ในช่วงฤดูมรสุม ลมพายุทำ ให้ลูกมะพร้าวล่วงหล่นเป็นจำนวนมาก ประกอบกับอำเภอแหลมสิงห์ประสบปัญหาสัตว์กัดแทะจำพวกกระรอก กระจ้อน กระถิก ทำความเสียหายให้แก่ลูกมะพร้าว โดยเฉพาะมะพร้าวอ่อนที่ไม่สามารถนำไปดื่มกินหรือนำไป ประกอบอาหารได้ เนื่องจากยังไม่มีเนื้อมะพร้าว น้ำมีรสเปรี้ยว ชาวบ้านต้องนำลูกมะพร้าวที่เสียหายไปทิ้ง แต่ด้วยความเสียดาย ชาวอำเภอแหลมสิงห์จึงได้นำกะลาอ่อนของมะพร้าว ซึ่งมีความกรอบ มัน และหวานอ่อน ๆ มาประยุกต์กับเมนูแกงเป็ดลูกกล้วย (แกงเป็ดใส่กล้วยน้ำว้า) ซึ่งมีรสชาติเผ็ดร้อน เกิดเป็นเมนูใหม่ที่ชื่อ “แกงเป็ดกะลามะพร้าว” ที่มีรสชาติที่อร่อยลงตัว เป็นที่ถูกอกถูกใจของผู้ได้ลิ้มลอง จนกลายเป็นเมนูต้องห้าม พลาด และเป็นเมนูหลักของอำเภอแหลมสิงห์จนถึงปัจจุบัน
เครื่องปรุง/ส่วนผสมสำหรับทำน้ำพริกแกงเผ็ด
๑. เร่วหอม ๒ กำมือ
๒. ผิวมะกรูด ๒ ลูก
๓. พริกขี้หนูแห้ง ๑๐๐ กรัม
๔. กระเทียม ๑๐๐ กรัม
๕. ดอกกะเพรา ๑ กำมือ
๖. กะปิ ๑๐๐ กรัม
๗. ดอกผักชีไร่ ๓ ก้าน
๘. ตะไคร้ ๕ ต้น
๙. หัวข่าหั่น ๒ ช้อนโต๊ะ
๑๐. พริกไทย ๑ ช้อนโต๊ะ
๑๑. ข้าวสาร ๑ กำมือ
๑๒. เกลือ ๑ ช้อนชา
เครื่องปรุง/ส่วนผสม สำหรับแกงเป็ดกะลามะพร้าว
๑. เนื้อเป็ด (เลาะกระดูกออก) ๑ กิโลกรัม
๒. กะลามะพร้าวอ่อน ๕ ลูก
๓. น้ำพริกแกงเผ็ด ๒๐๐ กรัม
๔. ผักชีฝรั่ง ๒ ต้น
๕. น้ำมัน ๒ ช้อนโต๊ะ
๖. น้ำปลา ๒ ช้อนโต๊ะ
๗. น้ำเปล่า ๑ ถ้วยตวง
๘. เกลือ ๑ ช้อนโต๊ะ
ขั้นตอนการทำ
๑. นำเครื่องแกงมาตำรวมกันจนละเอียดเป็นเนื้อเดียวกัน
๒. นำเนื้อเป็ดมาหั่นให้เป็นชิ้นพอดีคำ
๓. นำเนื้อเป็ดที่หั่นแล้วมารวนในกระทะ ด้วยไฟอ่อนให้น้ำเบื่อออก เพื่อลดกลิ่นสาบของเป็ด โดยเนื้อเป็ดจะต้องไม่สุกจนเกินไป แล้วตักใส่จานพักไว้ (น้ำเบื่อ หมายถึง น้ำที่อยู่ในเนื้อของเป็ดทำให้เป็ดมีกลิ่นสาบ)
๔. ผ่ามะพร้าวแล้วนำช้อนมาตักเอาแต่ส่วนที่เป็นกะลา จากนั้นหั่นเป็นชิ้นแช่ด้วยน้ำมะพร้าว เพื่อป้องกันกะลามะพร้าวเปลี่ยนเป็นสีดำ
๕. ตั้งกระทะให้ร้อนใส่น้ำมันลงไปตามด้วยน้ำพริกแกงเผ็ด เติมน้ำเปล่าลงไปเล็กน้อย ผัดน้ำพริก ให้หอม