ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 16° 8' 51.2022"
16.147556165560307
ลองจิจูด (แวง) : E 104° 23' 52.425"
104.39789584588625
เลขที่ : 198060
ประเพณีทำบุญเบิกบ้าน ชุมชนตำบลส้มผ่อ อำเภอไทยเจริญ จังหวัดยโสธร
เสนอโดย ยโสธร วันที่ 4 กันยายน 2566
อนุมัติโดย ยโสธร วันที่ 4 กันยายน 2566
จังหวัด : ยโสธร
0 301
รายละเอียด

ที่มาและความสำคัญ

ประเพณีทำบุญเบิกบ้าน ในท้องถิ่นจะเรียกว่า ประเพณีทำบุญเลี้ยงบ้าน จะจัดทำขึ้นในวันขึ้น 1 ค่ำ หรือ 2 ค่ำ แต่ไม่เกิน 3 ค่ำ เดือนเจ็ดของทุกปี หรือหลังจากทำบุญเดือนหก (บุญบั้งไฟ) เสร็จเรียบร้อยแล้ว ผู้นำจะประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านมาร่วมกันทำบุญที่ศาลเจ้าปู่กลางบ้าน ในตอนเย็นของวันรวมก็จะนิมนต์พระสงฆ์มาสวดพระพุทธมนต์ 3 คืน ติดต่อกัน ชาวบ้านจะนำหิน กรวดทราย ทำกระทงหน้าวัว มารวมกันที่ศาลเจ้าปู่กลางบ้าน เมื่อพระสงฆ์สวดครบ 3 คืนแล้ว เช้าวันรุ่งขึ้นชาวบ้านก็จะนำข้าวปลาอาหารข้าวหม้อแกงหม้อมาถวายภัตราหารเช้าร่วมกัน เมื่อเสร็จพิธีชาวบ้านก็จะนำหิน กรวด ทรายนั้น ไปหว่านให้ทั่วหมู่บ้าน เพราะมีความเชื่อกันว่า ในวันทำบุญเดือนหก (บุญบั้งไฟ) ที่ผ่านมา จะมีสิ่งต่าง ๆ ทั้งที่ดีและไม่ดีเข้ามาเที่ยวงาน เมื่อเสร็จสิ้นบุญแล้ว จึงกลัวว่า จะมีสิ่งที่ไม่ดีหลงเหลืออยู่ในหมู่บ้าน อาจจะมีเหตุอาเภทเกิดขึ้นได้ เช่น ฝนแล้ง มีพายุกระหน่ำ หรือสิ่งใดๆก็ตามที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ชุมชน จึงจำเป็นต้องจัดทำพิธีกรรมเลี้ยงบ้าน เพื่อชำระสิ่งเลวร้ายนั้น ในปัจจุบันก็ยังมีการปฏิบัติกันอยู่ แต่ไม่เคร่งครัดเหมือนสมัยก่อน

ภูมิหลัง

เมื่อประมาณ พ.ศ. 2300 มีบุคคลกลุ่มต่าง ๆ 18 กลุ่ม มีทั้งฝ่ายไพล่พล ทหาร พรรคพวกญาติพี่น้อง และพลเมืองทั่วไปมากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่จะรวมกลุ่มกันได้ คนส่วนใหญ่อพยพมาฝั่งลาวและลุ่มแม่น้ำโขงในครั่งนั้นภัยสงครามเป็นต้นเหตุของการอพยพ ข้ามแม่น้ำโขงสู่แดนอีสานเพื่อแสวงหาสิ่งที่ดีกว่าเดิม หนึ่งในจำนวน 18 กลุ่มดังกล่าว มีกลุ่มท้าวสุริยะเป็นกลุ่มที่ใหญ่กลุ่มหนึ่ง ท้าวสุริยะเป็นผู้นำขบวนทัพใหญ่มีพลช้าง พลม้า พลทหารถือศาสตราวุธ เช่น หอก ดาบ ง้าว เป็นต้น และยังมีพลเมืองผู้ติดตาม อีกมากมายเล่ากันว่ากลุ่มนี้มาจากเมืองน้ำเนา (กำเนิดนครเวียงจันทร์) ประเทศลาว ได้อพยพข้ามลำน้ำโขง มาเรื่อย ๆ จนมาถึงบริเวณป่าไม้ซึ่งมีต้นข่อย (คนในชุมชนเรียกว่าต้นส้มผ่อ) อยู่มากมายเต็มบริเวณ และรอบ ๆ ป่าจะมีลำน้ำอยู่ 3 ด้าน กล่าวคือ ทิศเหนือมีหนองน้ำชื่อ หนองแคนและมีภูเขาล้อมรอบ ภูเล็บเงือก ภูเพชร ทิศตะวันออกมีลำห้วยกุดตาโว ทิศตะวันตกมีลำห้วยเต่า ด้านทิศใต้มีห้วยลำโพง ละจะมีหนองน้ำขนาดใหญ่ เรียกชื่อว่า หนองขร้า หัวหน้ากลุ่มเห็นว่าเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ จึงได้ตกลง หยุดพัก สร้างที่พักและตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ที่นั่น และตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านนาสาน” ในรศ. 2337 มีวัดชื่อ วัดป่านาสาน วัดได้รับพระราชทานวิสุงครามสีมา รศ. 2350 ต่อมาได้เกิดโรคร้ายแรง (โรคฝีดาษ) ย้ายหมู่บ้านขึ้นมาทาง ด้านทิศเหนือ และตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านส้มผ่อ”มีวัด ชื่อ วัดโพธิ์ศรี ทุกฝ่ายได้ร่วมกันสร้างบ้านแปลงเมืองทำมาหาเลี้ยงชีพเรื่อยมาอย่างสงบสุข จากชุมชนเล็ก ๆ ขยายบ้านเรือนออกเป็นชุมชนใหญ่ และได้จัดตั้งเป็นหัวเมืองในกาลต่อมา กล่าวขานนามว่า "เมืองชุมพร" ปี พ.ศ. 2320 ท้าวสุริยะได้รับแต่งตั้งเป็นผู้นำครองเมืองชุมพรเป็นคนแรก ในทุกปีได้ส่งส่วยส่งบั้งหรือเครื่องราชบรรณาการให้แก่เมืองหลวงเรื่อยมาโดยไปส่งที่จังหวัดโคราช

ในกาลต่อมาสมเด็จกรมพระยาดำรงราชนุภาพ ได้เสด็จไปตรวจราชการจากเมืองหนองสูง คำชะอี มุกดาหาร ต้องเดินทางผ่านเมืองชุมพร และได้ประทับอยู่ที่นี่ 1 วัน 1 คืน ณ ที่พลับพลาที่ประทับ (ภาษาถิ่น เรียก “ตุบผาม”) ที่สร้างขึ้นใหม่เพื่อการนี้โดยเฉพาะ ปัจจุบันบริเวณนี้เป็นที่สาธารณะของชุมชน (อยู่ทางทิศใต้ของหมู่บ้าน ) หลังจากนั้นได้เสด็จไปยังบ้านสิงห์ท่า หรือเมืองยศสุนทร (ปัจจุบันคือจังหวัดยโสธร) เส้นทางที่เสด็จไปมาดังกล่าว เรียกนามว่า “เส้นทางเจ้าเสด็จ” จากเมืองยโสธรถึงเมืองมุกดาหาร

เอกลักษณ์ของชุมชน

คนในชุมชนดั้งเดิม สืบเชื้อสายมาจากชนชาติลาว จากเมืองน้ำเนา ประเทศลาว มีผิวขาวเหลืองเป็นส่วนมาก การใช้ภาษา ยังคงใช้ภาษาถิ่นเดิมที่เป็นเอกลักษณ์ มีสำเนียงคล้ายกับสำเนียงภาษาของประเทศลาวและคล้ายกับภาษาภูไท จะใช้สระเอือ แทนคำที่ประสมด้วยสระเอีย คำที่มีพยัญชนะต้น ฟ ฝ ช จะออกเสียงเป็น พ ผ ซ เช่น ไฟ้ฟ้า จะออกเสียงเป็น ไพพ้า ฝนตก จะออกเสียงเป็น ฝนตก ช้าง จะออกสียงเป็น ซ้าง เป็นต้น และยึดถือประเพณีวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ โดยเฉพาะประเพณีบุญเบิกบ้าน บวชนาค บูชาไฟ (บุญบั้งไฟ) ซึ่งมีความแตกต่างจากชุมชนใกล้เคียงอย่างเห็นได้ชัด และเป็นที่สนใจของบุคคลทั่วไป

ประเพณีบุญเบิกบ้าน บวชนาค บูชาไฟ (บุญบั้งไฟ)

งานประเพณีบุญเดือนหก หรือบุญบั้งไฟอยู่ในช่วงกลางเดือนมิถุนายน ของทุกปี ชุมชนจะจัดให้มี การบวชรวมกัน 20 - 40 คน ผู้ที่เป็นเจ้าภาพจะทำกิจกรรมทุกอย่างร่วมกัน เช่น การสู่ขวัญนาค ขบวนแห่นาค ขบวนแห่กองบุญ ซึ่งในการทำร่วมกันนี้ วันรวมเวลาบ่าย 3 โมง เจ้าภาพทุกคนจะต้อง จะนำกองบุญหรือกองบวช (ชาวบ้านเรียก “กองเม็ง”) มารวมกันที่บ้านเจ้าเมืองเก่า แต่ก่อนเรียกว่า วังพระยาเจ้าเมือง หรือ “เฮือนโฮง” หรือ”เฮือนโฮม” ก็เรียก บ้านหลังนี้จะสืบเชื้อสายของตระกูลบุตรอำคาจะเก็บอาวุธสงครามของเจ้าเมืองไว้ที่นี่ อาวุธที่ยังคงเหลืออยู่ คือ หอก ดาบ หลาว สามง่าม ด้ามของอาวุธเหล่านี้ เป็นไม้เนื้อแข็ง แกะสลักเป็นลายปล้องอ้อย สวยงามเหมือนจริง แสดงให้เห็นถึงฝีมือด้านงานศิลปะของบรรพบุรุษ

พิธีกรรมหรือกิจกรรมในงานบุญ

1. พิธีกรรมบวงสรวงและอัญเชิญดวงวิญญาณเจ้าปู่

วันแรกของงานเวลาประมาณ 07.30 น. ชาวส้มผ่อร่วมกันประกอบพิธีบวงสรวงอัญเชิญดวงวิญญาณเจ้าปู่สุริยะ จากศาลเจ้าปู่ ที่อยู่ด้านทิศตะวันออกของหมู่บ้าน เข้าประทับ ณ ศาลเจ้ากลางหมู่บ้าน ด้วยมีความเชื่อกันว่า ดวงวิญญาณเจ้าปู่ จะปกป้องคุ้มครอง ไม่ให้มีภยันตรายใดๆเกิดขึ้นในงานก่อนการอัญเชิญ ชาวบ้านจะนำเครื่องสักการบูชา ศาสตราอาวุธ ข้าวปลาอาหาร สิ่งของเซ่นไหว้ต่างๆ ถวาย การรำถวาย การจุดบั้งไฟถวาย จากนั้นอัญเชิญดวงวิญญาณขึ้นประทัปบนเสลี่ยง แห่แหนเข้าเมือง นำขบวนด้วยม้าทรง ซึ่งผู้ขี่ม้าต้องเป็นผู้มีเชื้อสายเจ้าเท่านั้น ขบวนอาวุธโบราณ มีหอก ดาบ ง้าว ตามด้วยขบวนกลองศึก (กลองที่ใช้ตีในยามศึกสงคราม) ขบวนกลองตุ้ม กลองยาว ขบวนไพร่ฟ้าประชาชน เป็นต้น


2. ประเพณีแห่เม็ง (หรือแห่กองบุญ)

หลังจากการรำเซิ้งถวายปู่ตาจบลง เวลา 14.00 น. จะเป็นพิธีแห่เม็ง (หรือแห่กองบวช) ซึ่งในแต่ละปี จะมีการอุปสมบทหมู่ในงานประเพณี ประมาณ 10 – 40 รูป เครื่องบริขารและเครื่องใช้สำหรับพระสงฆ์ทุกชนิดจะถูกรวบรวมใส่เม็ง (กองบวช) แห่จากหมู่บ้าน เข้าสู่ศาลาการเปรียญ ก่อนแห่ จะนำกองบวชไปรวมกันที่ เฮือนโฮง (ท้องพระโรงเก่า สมัยเจ้าสุริยะ) ถึงเวลาแห่ จะอัญเชิญดวงวิญญาณ เจ้าปู่ขึ้นเสลี่ยงแห่นำขบวน ตามด้วยขบวนอาวุธ ม้าทรง กลองศึก กลองตุ้ม ขบวนเม็ง ขบวนกลองยาว ขบวนบั้งไฟสวยงาม

ในเช้าของวันที่สองก็จะมีพิธีสู่ขวัญนาค แห่ขบวนนาคไปที่วัด โดยให้นาคนั่งบนสะแนน (คานหามทำด้วยไม้ไผ่) และมีญาติพี่น้องเป็นผู้หามขั้นตอนพิธีการเหมือนกันกับการแห่เม็งหลังจากส่งนาค เข้าโบสถ์แล้วก็จะมีพิธีกรรมละเล่นเอาชะตาบ้านเมือง เพื่อค้นหาและกำจัดสิ่งเลวร้ายให้ออกจากบ้านเมือง ฝนตกถูกต้องตามฤดูกาล ข้าวปลาอุดมสมบูรณ์ ต่อไปเป็นจุดบั้งไฟเป็นอันเสร็จพิธีกรรม

สถานที่ตั้ง
ตำบล ส้มผ่อ อำเภอ ไทยเจริญ จังหวัด ยโสธร
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
บุคคลอ้างอิง นางอุษณีย์ เวชกามา
ตำบล ส้มผ่อ อำเภอ ไทยเจริญ จังหวัด ยโสธร
โทรศัพท์ 0637296002
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่