ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 15° 30' 20.5326"
15.50570350609604
ลองจิจูด (แวง) : E 104° 18' 32.067"
104.30890750734372
เลขที่ : 198062
งานแทงหยวกทำปราสาทผึ้ง บ้านเหล่าใหญ่
เสนอโดย ยโสธร วันที่ 4 กันยายน 2566
อนุมัติโดย ยโสธร วันที่ 4 กันยายน 2566
จังหวัด : ยโสธร
0 379
รายละเอียด

ลักษณะทางกายภาพ

งานช่างแทงหยวก เป็นงานช่างวิจิตรศิลป์ที่ใช้มีดสองคมแทงลงไปบนกาบกล้วยให้เกิดลวดลายเป็นแบบลายไทยในลักษณะต่าง ๆ โดยไม่ต้องมีการร่างเส้นลวดลายลงบนกาบกล้วย เพราะจะทำให้กาบกล้วยช้ำ เป็นรอยไม่สวยงาม วัสดุที่นำมาใช้เป็นสิ่งที่ได้จากธรรมชาติ ตัดและเก็บมาสด ๆ สามารถหาได้ในท้องถิ่นนั้น ๆ นายช่างที่ดีจึงจำเป็นจะต้องฝึกฝนทักษะด้านต่าง ๆ ให้เกิดความเชี่ยวชาญและชำนาญ อยู่เสมอ งานช่างแทงหยวกใช้ได้ทั้งในงานพิธีมงคลและงานอวมงคล เช่น การประดับเบญจารดน้ำ ประดับร้านม้าเผาศพ ประดับจิตกาธาน การทำปราสาทผึ้ง เป็นต้น งานช่างแทงหยวกมีการสืบทอดกทั้งในรูปแบบ ของงานช่างในราชสำนัก และรูปแบบของสกุลช่างชาวบ้าน ตามชุมชนหรือจังหวัดต่าง ๆ การแทงหยวก เป็นงานที่คนในชุมชนได้มาร่วมแรงร่วมใจทำด้วยแรงศรัทธาต่อผู้ที่เป็นเจ้าของงาน หรือเป็นการระลึกถึงบุญคุณของผู้วายชนม์ญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว

วิธีแทงหยวกนั้นต้องเริ่มตั้งแต่การเลือกต้นกล้วย ซึ่งต้องเป็นต้นกล้วยตานีหรือต้นกล้วยน้ำว้าต้นสาวๆ (ต้นกล้วยที่ยังไม่ออกผล) เมื่อได้ต้นกล้วยที่ต้องการมาแล้วตัดหัวท้ายออกให้ได้ขนาดที่ต้องการ การตัดหยวกที่จะนำไปสลัก จำเป็นต้องตัดหยวกให้มีขนาดยาวกว่าขนาดของโครงแบบประมาณ ๓๐ - ๔๐ เซนติเมตร เพราะในการประกอบแผงหยวกเข้ากับโครงแบบนั้น จะต้องมีการเฉือนหยวกออกเล็กน้อยให้เป็นมุม ๔๕ องศา เพื่อให้หยวกประกบกันได้สนิทเป็นมุมฉากในการเข้ามุม

ส่วนการลอกกาบให้ลอกออกทีละชั้น เพราะกาบนอกสุดจะมีรอยตำหนิ สีไม่สวยงาม ให้ลอกทิ้งไป กาบรองลงมาแม้จะมีสีเขียวก็นำไปใช้รองด้านในได้จึงควรแยกไว้ต่างหาก โดยการลอกกาบกล้วยนี้ต้องทำด้วยความระมัดระวัง อย่าให้ช้ำเพื่อวามสวยงามของการแกะ เมื่อได้กาบกล้วยที่ต้องการแล้วช่างส่วนใหญ่
จะนำมาแทงเป็นลวดลายต่าง ๆ อย่างลายฟันปลา ลายฟันสาม ลายฟันห้า ลายน่องสิงห์ หรือแข้งสิงห์ ลายฟันบัว ลายเครือวัลย์ (ลายกนก) หรืออื่น ๆ ตามความถนัด เมื่อทำลายเพียงพอตามความต้องการเเล้วถึงขั้นตอน
การประกอบหยวก เพื่อทำเป็นเสาล่าง พรึง เสาบน รัดเกล้าเเละฐานล่าง โดยใช้ตอกผิวไม้ไผ่เย็บให้ติดกันเเล้วติดเเต่งมุมให้เรียบร้อยเป็นอันเสร็จเรียบร้อย

ประวัติความเป็นมา

บ้านเหล่าใหญ่ ตำบลม่วง อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร แบ่งออกเป็น ๒ หมู่ คือ หมู่ ๓,๕ ความเป็นมาในอดีต บรรพบุรุษของชาวบ้านเหล่าใหญ่อพยพมาจากจังหวัดอุบลราชธานี และใกล้เคียงด้วย การเดินลัดเลาะมาตามห้วยและผ่านหมู่บ้านต่าง ๆ มาจนถึงที่ตั้งหมู่บ้านในปัจจุบัน ซึ่งปัจจุบันนี้ เส้นทางที่ได้พากันเดินทางมาแทบจะไม่หลงเหลือร่องรอยให้เห็น เพราะเส้นทางบางช่วงได้ถูกตัดขาดและบดบังด้วยป่าไม้
ต้นไม้ใหญ่หมดแล้ว ผู้เฒ่าผู้แก่ได้บอกเล่าต่อกันมาว่า ชาวบ้านในอดีตนั้นต่างคนต่างมาจากคนละทิศละทาง และได้ร่วมแรงร่วมใจในตั้งหมู่บ้านขึ้นให้เจริญก้าวหน้าจนถึงปัจจุบัน มีการจัดงานประเพณีวัฒนธรรมตามฮีต ๑๒ มาโดยตลอด

เมื่อใกล้ถึงวันออกพรรษา ชาวบ้านเหล่าใหญ่จะมีประเพณีหรือกิจกรรมที่ทำสืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน นั่นคือ การทำปราสาทผึ้ง หรือต้นดอกผึ้ง ถวายเป็นพุทธบูชา ซึ่งเป็นศิลปะประเพณีที่สืบทอดกันมานานตามฮีต ๑๒ ของคนอีสาน มีความเชื่อและตำนานเล่าสืบต่อกันมาในเรื่องลิงถวายรวมผึ้ง เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จจำพรรษาในป่ารักขิตวัน ซึ่งเป็นดงไม้สาละใหญ่ มีช้างปาลิเลยยะ (ปาลิไลยก์) เป็นอุปัฏฐาก ได้จัดที่ประทับทั้งหาน้ำและผลไม้มาถวายตลอดระยะ ๓ เดือน ลิงตัวหนึ่งจึงนำรวงผึ้งมาถวายพระพุทธเจ้าด้วย และเมื่อเห็นพระองค์ทรงเสวยน้ำผึ้ง ทำให้ลิงดีใจกระโดดโลดเต้นจนกิ่งไม้หัก ผลัดตกลงมาถูกตอไม้เสียบตาย ด้วยอานิสงส์ ในการถวายรวงผึ้ง ลิงจึงได้ไปเกิดเป็นเทพบุตรบนปราสาทวิมานสูง ๓๐ โยชน์ ครั้งถึงวันปวารณาออกพรรษา (ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑) พระพุทธองค์เสด็จออกจากป่าเข้าเมืองโกสัมพี ช้างปาลิไลยก์รู้สึกเศร้าโศกจนหัวใจแตกสลายล้มลงและด้วยอานิสงส์ของการอุปัฏฐากพุทธองค์จึงได้ไปเกิดบนประสาทสูง ๓๐ โยชน์
ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เช่นกัน ประเพณีการถวายปราสาทผึ้งของชาวบ้านเหล่าใหญ่ จะทำกันในวันออกพรรษา บุญอัฏฐะ บุญกฐิน วัตถุประสงค์ในการทำเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติพี่น้องผู้วายชนม์ไปแล้วรวมทั้งสรรพสัตว์ทั้งหลายนอกจากนี้ ชาวบ้านยังนิยมทำปราสาทผึ้งในงานบุญกฐินอีกด้วย

การทำปราสาทผึ้งในงานวันออกพรรษา จะมีปราสาทผึ้งของหมู่บ้าน ของเจ้าภาพที่มีความประสงค์ ทำอุทิศส่วนกุศลในญาติผู้ล่วงลับ บางปีมีกว่า ๗ หลัง เมื่อมีการทำปราสาทผึ้งขึ้น ชาวบ้านก็ไปช่วยกันทำปราสาทผึ้ง ทั้งของหมู่บ้าน และของบ้านเจ้าภาพทุกคน จนแล้วเสร็จทุกหลังในการปราสาทผึ้ง ผู้ชายส่วนใหญ่จะทำหน้าที่ฉลุลาย และติดส่วนประกอบต่าง ๆ บนโครงสร้าง ส่วนผู้หญิงจะทำหน้าที่ทำดอกผึ้งและเครื่องประดับต่าง ๆ ให้กับปราสาทผึ้ง นอกจากเป็นการสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามแล้ว ยังช่วยส่งเสริมความสามัคคีในชุมชนอีกด้วย สมัยก่อนช่วงเวลาการทำปราสาทผึ้ง ก็จะเป็นโอกาสที่หนุ่มสาวจะแต่งตัวสวยงามได้มีโอกาสได้พบปะพูดคุยกัน หนุ่ม ๆ จะเล่นดนตรีพื้นบ้านอีสาน เช่น แคน พิณ เกี้ยวพาราสีสาวเป็นที่สนุกสนาน

บ้านเหล่าใหญ่ เป็นหมู่บ้านเก่าแก่ ชาวบ้านนับถือศาสนาพุทธทุกครัวเรือน มีประเพณีวัฒนธรรมตามฮีต ๑๒ อันดีงามที่ชาวบ้านได้ปฏิบัติสืบทอดต่อมาอย่างยาวนาน และประเพณีหนึ่งที่ได้สืบทอดมาแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนั้นก็คือการทำปราสาทผึ้ง ในงานวันออกพรรษา บุญอัฏฐะและบุญกฐิน โดยในการทำปราสาทผึ้งนั้น ก็จะมีการแทงหยวกเพื่อประดับประดาปราสาทผึ้งให้สวยงาม ในอดีตหมู่บ้านมีช่างแทงหยวกอยู่หลายคน ปัจจุบันบ้านเหล่าใหญ่ ช่างแทงหยวก ๒ คน คือ นายอุดร เที่ยงสัตย์ อายุ ๗๖ ปี และนายวิรัตน์ บุญทวี อายุ ๖๖ ปี

ลักษณะเฉพาะที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

ข้อมูลช่างแทงหยวก

ช่างแทงหยวก เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม สาขาช่างฝีมือดั้งเดิม ช่างแทงหยวก
ในการทำปราสาทผึ้ง บ้านเหล่าใหญ่ ปัจจุบันมี ๒ คน คือ

(๑) นายวิรัตน์ บุญทวี อายุ ๖๖ ปี อยู่ที่บ้านเลขที่ ๘๒ บ้านเหล่าใหญ่ หมู่ที่ ๓ ตำบลม่วง อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร เรียนรู้การแทงหยวกมาตั้งแต่ ปี ๒๕๒๗ จากคุณพ่ออินทร์ นิศรี และได้ฝึกฝนตนเองเรื่อยมาจนมีความชำนาญ เมื่อมีงานทำปราสาทผึ้งในหมู่บ้าน ก็ได้เป็นช่างแทงหยวกเพื่อทำปราสาทผึ้งมาโดยตลอด นอกจากนี้ ยังได้ไปช่วยงานทำปราสาทผึ้ง ในงานบุญอัฏฐะของหมู่บ้านใกล้เคียงภายในตำบลม่วง เป็นประจำ ในส่วนค่าตอบแทนตามแต่เจ้าภาพจะมอบให้ ในส่วนของการถ่ายทอดองค์ความรู้นั้น ปี ๒๕๕๘ และปี ๒๕๖๐ ได้สอนเรื่องการแทงหยวกสำหรับเด็ก เยาวชน ณ โรงเรียนยโสธรพิทยาคม ในปี ๒๕๕๙ สอนการแทงหยวก ที่โรงเรียนคำเขื่อนแก้วชนูปถัมภ์

(๒) นายอุดร เที่ยงสัตย์ อายุ ๗๖ ปี อยู่ที่บ้านเลขที่ ๑๐๘ บ้านเหล่าใหญ่ หมู่ที่ ๕ ตำบลม่วง อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร เรียนรู้การแทงหยวกมาตั้งแต่อายุ ๓๓ ปี โดยเรียนรู้ และสืบทอดการแทงหยวกจากคุณพ่อจวง เที่ยงสัตย์ ผู้เป็นบิดา โดยเรียนรู้การแทงหยวกการทำปราสาทผึ้งในงานบุญออกพรรษา และฝึกฝนตนเองเรื่อยมา และเป็นช่างแทงหยวกประจำหมู่บ้านเหล่าใหญ่

กระบวนการแทงหยวก

ช่างแทงหยวกมีเวลาจำกัดในการทำงาน เนื่องจากหยวกกล้วยเป็นวัสดุไม่คงทน และเหี่ยวเฉาง่าย จึงต้องมีการวางแผนการจัดการที่ดี เพื่อทำงานได้รวดเร็ว เสร็จตามกำหนดเวลา และต้องมีผู้ช่วยหลายคน โดยแบ่งหน้าที่รับผิดชอบไปตามความถนัดของแต่ละคน การจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้งานมี ดังนี้

เครื่องมือที่ใช้ในการแทงหยวก

เครื่องมือที่ใช้ในการแทงหยวก ได้แก่ มีดแทงหยวก เป็นมีดมีลักษณะมีใบมีดเรียวยาว ประมาณ ๕-๖ นิ้ว ปลายแหลม มีคมรอบด้าน อ่อนตัวได้ ด้ามกลม เวลาแทงหยวกจะพริ้วไปตามมือช่าง ทำให้ลวดลายอ่อนช้อยงดงาม มีดแทงหยวกจะต้องมีความคมอยู่เสมอ มิฉะนั้นจะทำให้เส้นขาดความคม แนวการฉลุลายจะไม่ตรงเป็นแนวเดียว ช่างจึงต้องลีบมีดอยู่เสมอ นอกจากนี้ ยังมีเครื่องมือที่ใช้ประกอบ ในการแทงหยวกอื่น ๆ ได้แก่ มีดโต้ เลื่อย สำหรับตัดต้นกล้วย ไม้ไผ่ จักตอก สำหรับประกอบโครงสร้างปราสาทผึ้ง

วัสดุที่ใช้ในการแทงหยวก

(๑) หยวกกล้วย การเลือกต้นกล้วยที่นำมาใช้ในการแทงหยวกนั้นเป็นสิ่งสำคัญ เพราะถ้าเลือกหยวกไม่ดีแล้ว จะทำให้ผลงานที่ได้ไม่สมบูรณ์ ควรเป็นต้นกล้วยที่มีขนาดใหญ่ โตเต็มที่ และยังออกปลี เพราะจะหยวกที่ใหญ่ เมื่อแทงหยวกแล้วจะได้ลายที่ชัดเจน นิยมใช้กล้วยตานี เพราะมีความเหนียว คงทน กาบใหญ่ ใบหนา ไม่มีใย

(๒) ตอก ตอกเป็นวัสดุสำคัญอย่างหนึ่งสำหรับร้อยรัดหยวกที่แทงลายแล้วประกอบเข้าด้วยกันและยังทำหน้าที่ยึดติดชิ้นส่วนต่าง ๆ ให้ติดกับโครงสร้างปราสาทผึ้งอีกด้วย ตอกเหลาจากไม้ไผ่ ความยาวประมาณ ๖๐ เซนติเมตร กว้าง ๑ - ๑.๕ เซนติเมตร ปลาย ๒ ข้างเรียวแหลม

(๓) ไม้ไผ่ สำหรับทำโครงสร้างปราสาทผึ้ง

(๔) ต้นกล้วยขนาดเล็ก สูงประมาณ ๒ เมตร ใช้เป็นแกนกลางปราสาทผึ้ง

การไหว้ครูก่อนการแทงหยวก

ก่อนจะเริ่มแทงหยวก ต้องมีพิธีไหว้ครู เพื่อระลึกถึงพระคุณของครูบาอาจารย์ที่ให้วิชาความรู้ก่อน ของที่ใช้ไหว้ครู ประกอบด้วย ดอกไม้ เทียน ๕ คู่ เหล้า บุหรี่ เครื่องมือช่างแทงหยวก โดยช่างจะนำของทั้งหมด ใส่จานรวมกัน ช่างแทงหยวกต้องไหว้ครูและเครื่องมือก่อนทำงาน

การเตรียมหยวก

เมื่อได้ต้นกล้วยมาตามที่ต้องการแล้ว ใชเลื่อยตัดต้นกล้วยให้ขนาดความยาวตามที่ต้องการ ลอกกาบออกที่ละชั้นอย่างระมัดระวัง ลอกกาบส่วนนอกทิ้ง กาบรองลงมาที่เป็นสีเขียวนำไปใช้รองด้านในได้ ลอกกาบกล้วยไปจนถึงถึงชั้นในสุดจำนวนตามที่ได้

ลวดลายที่ใช้ในการแทงหยวก

ลักษณะหรือเอกลักษณ์ลวดลายที่สำคัญใช้ในการที่ช่างแทงหยวก ดังนี้

(๑) ลายฟันหนึ่ง เป็นลาย ลายพื้นฐานที่จะต้องฝึกหัดเป็นอันดับแรกเรียกว่าลายฟันปลาตามความเชื่อทางช่างโบราณถือว่าเป็นลายขั้นต้น

(๒) ลายฟันสาม เป็นลายที่ดัดแปลงมาจากลายฟันปลาปลา เดิมมีฟันหนึ่งหยักจะเพิ่มลายฟันเป็นสามหรือสามหยัก

(๓) ลายฟันห้า

(๔) ลายตีเต่า

(๕) ลายนกกระจบ

(๖) ลายเชิงชาย

(๗) ลายกระทอด

(๘) ลายบายศรี เป็นต้น

ขั้นตอนการทำปราสาทผึ้ง

ในการทำปราสาทผึ้ง มีขั้นตอน ดังนี้

(๑) การจัดทำโครงสร้างปราสาทผึ้ง วัสดุ/อุปกรณ์ ดังนี้

๑.๑) ไม้ไผ่ทำคานหาม ขนาดยาว ๑.๙๐ ม. จำนวน ๒ อัน

๑.๒) ไม้ไผ่ทำขาตั้งปราสาท จำนวน ๔ อัน ขนาดยาว ๔๐ เซนติเมตร

๑.๓) ตอกสำหรับมัดโครงสร้างปราสาท

๑.๔) ไม้แขวนเครื่องอัฐบริขาร จำนวน ๔ อัน

๑.๕) ไม้ไผ่เหลาปลายแหลมสำหรับร้อยหรือเย็บกาบกล้วยเข้าไว้ด้วยกัน

๑.๖) ต้นกล้วยขนาดเล็กสูงประมาณ ๑.๘๐ เมตร สำหรับตั้งเป็นแกนกลางของปราสาท

(๒) การเตรียมเครื่องอัฐบริขาร ดอกผึ้ง ดอกไม้หงวย

(๓) เลือกต้นกล้วยตานีให้ได้ขนาดตามที่ต้องการ เหตุที่ใช้กล้วยตานี เพราะมีใยน้อยแกะสลักได้ง่าย และเป็นพันธ์ที่อุ้มน้ำในลำต้นเยอะ ไม่เหี่ยวเฉาง่าย หลังจากแกะสลัก คงความชุ่มชื่นและความสวยงามของลวดลายได้นาน กาบกล้วยมีขนาดที่เหมาะต่อการแกะสลักไม่เล็กไม่ใหญ่จนเกินไป เมื่อได้ต้นกล้วย ที่มีขนาดเหมาะสม ใช้เลื่อยคันธนูตัดต้นกล้วยเป็นท่อนยาวพอเหมาะตามขนาดของโครงสร้างปราสาท ประมาณ ๕๐ เซนติเมตร

(๔) ก่อนแทงหยวก ต้องมีการไหว้ครูก่อน โดยใช้ขัน ๕ /สุรา/บุหรี่ เป็นเครื่องไหว้ครู

(๕) การเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ในการแทงหยวก ประกอบด้วย มีดปลายแหลม สำหรับการแทงหยวกมีดแต่งลาย เลื่อยคันธนูสำหรับเลื่อยต้นกล้วยให้ได้ขนาดตามต้องการ

(๖) แกะกาบกล้วยออกเป็นชิ้น

(๗) นำกาบกล้วยที่แกะออกมาแล้ว นำมาทำการแกะสลัก โดยใช้มีดปลายแหลมแทงลงบนกาบกล้วยตามลวดลายที่ต้องการ โดยไม่ต้องวาดลายก่อน ลวดลายในการแทงหยวก ประกอบด้วย ลายฟันหนึ่ง ลายฟันสาม เป็นลายพื้นฐานก่อนที่ประยุกต์ เป็นลายอื่น ๆ

(๘) การประกอบลาย เมื่อแกะลวดลายต่างได้ตามจำนวนที่ต้องการแล้ว ก็นำลายต่าง ๆ มาประกอบเข้าด้วยกัน โดยใช้ไม้ไผ่เหลาปลายแหลมสำหรับร้อยหรือเย็บกาบกล้วยเข้าไว้ด้วยกัน แล้วนำลายที่ประกอบเสร็จแล้วไปประกอบกอบโครงสร้างปราสาทที่เตรียมไว้แล้ว

(๙) ประดับตกแต่งปราสาทผึ้ง ให้สวยงาม

วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ทำปราสาทผึ้ง ประกอบด้วย

(๑) กาบกล้วย ใช้กาบของต้นกล้วยตานี ซึ่งมีขนาดใหญ่และกาบสีขาวสวย มีความเงาเมื่อโดนแสงไฟ เลือกต้นที่ยังไม่แก่ หรือยังไม่ออกปลีออกผล ซึ่งกาบจะมีความเหนียวนุ่ม ลำต้นที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๒๐ – ๓๐ เซนติเมตรขึ้นไป กาบกล้วยในช่วงออกพรรษานี้จะมีขนาดใหญ่และความอวบอิ่ม เนื่องจากได้รับน้ำอย่างเพียงพอ ปราสาทผึ้ง ๑ หลังจะใช้ต้นกล้วยประมาณ ๑ ต้น

(๒) โครงสร้างปราสาท ใช้ไม้ไผ่ในการทำโครงสร้างปราสาท และมีต้นกล้วยขนาดเล็กสูง ๒ เมตร เป็นแกนกลาง

(๓) มีดปลายแหลม สำหรับแทง ฉลุ ตัดกาบกล้วยให้เป็นลวดลายต่าง ๆ

(๔) ดอกผึ้ง ดอกผึ้งจะเป็นตัวแทนของน้ำผึ้งที่ลิงนำไปถวายแก่พระพุทธเจ้า เมื่อครั้งไปจำพรรษาที่ป่ารักขิตวัน ตามตำนานที่เล่ากันมา

(๕) สมุด ดินสอ ผ้า เครื่องอัฐบริขาร ดอกไม้หงวย

การทำปราสาทผึ้งหลังหนึ่ง ๆ นั้น ประกอบด้วยการทำโครงสร้างปราสาท และการประดับประดาด้วยลวดลายจากการแทงหยวก ซึ่งต้องเลือกต้นกล้วยตานีหรือต้นกล้วยน้ำว้าต้นสาวๆ คือ ต้นกล้วยที่ยังไม่ออกผล ถ้าออกปลี ออกลูกแล้วจะใช้ไม่ได้เพราะกาบกล้วยจะกรอบเปราะหักง่าย แต่ถ้าเป็นต้นกล้วยที่ยังไม่มีลูก กาบกล้วยจะอ่อนเหนียวไม่หักง่าย เมื่อได้ต้นกล้วยมา ก็จะลอกกาบกล้วย ออกเป็นกาบๆ จนถึงแกนของลำต้นให้เหลือประมาณ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๒.๕ - ๓ นิ้ว เอาไว้ทำฐานล่าง เมื่อลอกกาบกล้วยออกมาแล้วก็ต้องคัดขนาด คือกาบใหญ่ ๆ รอบนอกก็เอาไว้สำหรับแทงลายต่าง ๆ ส่วนกาบเล็ก ๆ ก็ใช้ทำอกกลาง

ประเภทลวดลายที่ช่างแทงหยวกใช้ในการทำ ฟันปลา ฟันสาม ฟันห้า ลายตีเต่า ลายนกกระจิบ ลายเชิงชาย ลายกระทอด ลายบายศรี เป็นต้น ตามความถนัดเเละเน้นที่ความสวยงาม เมื่อทำลายต่าง ๆ ได้เพียงพอ ตามความต้องการเเล้ว ถึงขั้นตอนการประกอบลายต่าง ๆ เข้าด้วยกัน เพื่อประกอบเป็นลวดลายตามโครงสร้างปราสาทเเล้วตกเเต่งมุมให้เรียบร้อยเป็นอันเสร็จ

ความสำคัญ/ประโยชน์ต่อวัฒนธรรม

การแทงหยวก ในการทำปราสาทผึ้ง ในงานบุญอัฏฐะและบุญกฐิน ของบ้านเหล่าใหญ่ ก่อให้เกิดความสามัคคีในชุมชน เพราะทุกคนต้องมาช่วยกันในการทำปราสาทผึ้ง เกิดงานฝีมือด้านช่าง ไม่ว่าจะเป็นช่างไม้ ช่างแกะสลัก ช่างแทงหยวก ชาวบ้านได้สืบสาน สืบทอดพระพุทธศาสนาให้คงอยู่ อันจะส่งผลให้ชุมชน เกิดความร่วมเย็นเป็นสุข ภูมิปัญญาท้องถิ่นช่างแทงหยวกก็มีรายได้จากการ จ้างวานให้ไปทำปราสาทผึ้งในงานบุญอัฏฐะ และบุญกฐินของหมู่บ้านใกล้เคียง

บ้านเหล่าใหญ่ เป็นหมู่บ้านเก่าแก่ ชาวบ้านนับถือศาสนาพุทธทุกครัวเรือน มีประเพณีวัฒนธรรม ตามฮีต ๑๒ อันดีงามที่ชาวบ้านได้ปฏิบัติสืบทอดต่อมาอย่างยาวนาน และประเพณีหนึ่งที่ได้สืบทอด มาแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนั้นก็คือการทำปราสาทผึ้ง ในงานวันออกพรรษา บุญอัฏฐะและบุญกฐิน โดยในการทำปราสาทผึ้งนั้น ก็จะมีการแทงหยวกเพื่อประดับประดาปราสาทผึ้งให้สวยงาม ซึ่งชาวบ้านก็ยังคงปฏิบัติมา โดยตลอดทำให้ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมช่างแทงหยวก ยังอยู่คู่กับคนในชุมชนบ้านเหล่าใหญ่ต่อไป

ผู้สืบทอด/การต่อยอด/การจัดเก็บรักษา

งานช่างแทงหยวก เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม สาขาช่างฝีมือดั้งเดิม ช่างแทงหยวกในการทำปราสาทผึ้ง บ้านเหล่าใหญ่ ปัจจุบันมี ๒ คน คือ

(๑) นายวิรัตน์ บุญทวี อายุ ๖๒ ปี อยู่ที่บ้านเลขที่ ๘๒ บ้านเหล่าใหญ่ หมู่ที่ ๓ ตำบลม่วง อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร เรียนรู้การแทงหยวกมาตั้งแต่ ปี ๒๕๒๗ จากคุณพ่ออินทร์ นิศรี และได้ฝึกฝนตนเองเรื่อยมาจนมีความชำนาญ เมื่อมีงานทำปราสาทผึ้งในหมู่บ้าน ก็ได้เป็นช่างแทงหยวก เพื่อทำปราสาทผึ้ง มาโดยตลอด นอกจากนี้ ยังได้ไปช่วยงานทำปราสาทผึ้ง ในงานบุญอัฏฐะของหมู่บ้านใกล้เคียงภายในตำบลม่วง เป็นประจำ ในส่วนค่าตอบแทนตามแต่เจ้าภาพจะมอบให้ ในส่วนของการถ่ายทอดองค์ความรู้นั้น ปี ๒๕๕๘ และปี ๒๕๖๐ ได้สอนเรื่องการแทงหยวกสำหรับเด็ก เยาวชน ณ โรงเรียนยโสธรพิทยาคม ในปี ๒๕๕๙ สอนการแทงหยวก ที่โรงเรียนคำเขื่อนแก้วชนูปถัมภ์

(๒) นายอุดร เที่ยงสัตย์ อายุ ๗๒ ปี อยู่ที่บ้านเลขที่ ๑๐๘ บ้านเหล่าใหญ่ หมู่ที่ ๕ ตำบลม่วง อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร เรียนรู้การแทงหยวกมาตั้งแต่อายุ ๓๓ ปี โดยเรียนรู้ และสืบทอด การแทงหยวกจากคุณพ่อจวง เที่ยงสัตย์ ผู้เป็นบิดา โดยเรียนรู้การแทงหยวกการทำปราสาทผึ้งในงานบุญออกพรรษา และฝึกฝนตนเองเรื่อยมา และเป็นช่างแทงหยวกประจำหมู่บ้านเหล่าใหญ่

(๓) นายอพอลโล ภิริยารมย์ อายุ ๕๕ ปี กำนันตำบลม่วง อยู่ที่บ้านเลขที่ ๑๒ หมู่ที่ ๕ ตำบลม่วง อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร เป็นผู้นำชุมชนในการส่งเสริมประเพณีในชุมชน ส่งเสริม การแทงหยวก การทำปราสาทผึ้งในงานบุญออกพรรษา บุญอัฏฐะ บุญกฐิน

(๔) นายนิติศักดิ์ สร้อยรักษ์ อายุ ๕๙ ปี ผู้ใหญ่บ้านเหล่าใหญ่ หมู่ที่ ๕ อยู่ที่บ้านเลขที่ ๑๒ หมู่ที่ ๕ ตำบลม่วง อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร เป็นผู้นำชุมชนในการส่งเสริมประเพณีในชุมชน ส่งเสริม การแทงหยวก การทำปราสาทผึ้งในงานบุญออกพรรษา บุญอัฏฐะ บุญกฐิน

สถานที่ตั้ง
ตำบล ม่วง อำเภอ มหาชนะชัย จังหวัด ยโสธร
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
บ้านเลขที่ ๘๒ บ้านเหล่าใหญ่ หมู่ที่ ๓ ตำบลม่วง
บุคคลอ้างอิง นายวิรัตน์ บุญทวี อีเมล์ famforio@gmail.com
ตำบล ม่วง อำเภอ มหาชนะชัย จังหวัด ยโสธร
โทรศัพท์ ๐๙ ๘๙๗๕ ๑๒๖๘
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่