ชาวไทยทรงดำเป็นกลุ่มชาติพันธ์ที่มีถิ่นฐานเดิมอยู่ในแคว้นสิบสองจุไท บริเวณลุ่มแม่น้ำดำและแม่น้ำแดง ในภาคเหนือของประเทศเวียดนาม ปัจจุบันคือจังหวัดเตียนเบียนฟู ชาวไทยทรงดำ
ในประเทศเวียดนามได้อพยพเข้ามาในประเทศไทยในหลายจังหวัด เช่น จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดราชบุรี จังหวัดนครปฐม จังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดกาญจนบุรี เป็นต้น โดยจังหวัดกาญจนบุรี มีชาวไทยทรงดำอาศัยเป็นจำนวนมากในหลายอำเภอ อำเภอที่สำคัญ คือ อำเภอห้วยกระเจา ซึ่งมีชาวไทยทรงดำอาศัยอยู่ที่ตำบลสระลงเรือ ใน 6 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่บ้านห้วยยาง หมู่บ้านยางทอง หมู่บ้านบัวหึ่ง หมู่บ้าน
สระจันทอง และหมู่บ้านห้วยลึก โดยชาวไทยทรงดำในตำบลสระลงเรือ อำเภอห้วยกระเจา แต่เดิมอาศัยอยู่ที่จังหวัดเพชรบุรี ต่อมาได้อพยพมาอยู่ที่บ้านดอน จังหวัดสุพรรณบุรี และย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่ตำบลสระลงเรือซึ่งเป็นสถานที่ที่เหมาะแก่การทำการเกษตรและหาปลาจึงลงหลักปักฐานอยู่อาศัย
มาจนถึงปัจจุบัน
ชาวไทยทรงดำมีการแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์คือ ผู้หญิงและผู้ชายจะสวมใส่เสื้อผ้าด้วยสีดำ
เป็นสีพื้น ผู้หญิงจะนุ่งผ้าที่ทอกันขึ้นมาใช้เองเรียกว่า “ซิ่นลายแตงโม” มีประเพณีที่สำคัญ ได้แก่
พิธีเสนเรือนเป็นพิธีที่ทำขึ้นเพื่อระลึกถึงบุญคุณของบรรพบุรุษผู้ที่ตายไปแล้วเพื่อให้มาปกป้องคุ้มครองคนในครอบครัว พิธีกรรมการทำศพ โดยเมื่อทำพิธีเผาเสร็จแล้ว จะนำกระดูกใส่ไหแล้วนำไปป่าแฮ่ว
(ป่าช้า) ญาติผู้ตายจะไปปลูกเรือนหลัง ๆ ให้เรียกว่า “เรือนแฮ่ว” ผู้ตายที่เป็นผู้ชายอายุ 50 ปีขึ้นไป
จะมีนกปักไว้บนเสากอแก้ว 1 ตัว สำหรับเป็นพาหนะขี่ไปเมืองผี ผู้ชายที่อายุต่ำกว่า 50 ปี จะไม่มีนกปักไว้ส่วนผู้หญิงจะใช้ธงเล็กปักเป็นพุ่ม ๆ ทำหอแก้วหอคำมีหัวปลีไว้บนเสากอแก้ว และประเพณีลงขวง
เป็นประเพณีที่สาวชาวไทยทรงดำจะมานั่งรวมกันทำงาน เช่น ปั่นฝ้าย กรอด้าย ปักหน้าหมอน ในขวง
ซึ่งหมายถึงลานนัดพบของหญิงสาวชาวไทยทรงดำ แล้วชายหนุ่มชาวไทยทรงดำจะมาสนทนาหยอกล้อทักทายกับสาว ๆ ที่นั่งขวง เป็นพิธีที่ทำให้หนุ่มสาวชาวไทยทรงดำได้พูดคุยมีปฏิสัมพันธ์กัน
ในปัจจุบันชาวไทยทรงดำในตำบลสระลงเรือได้มีการบูรณาการร่วมกับเทศบาลตำบลสระลงเรือสภาวัฒนธรรมอำเภอห้วยกระเจา สภาวัฒนธรรมตำบลสระลงเรือ วัดพรหมนิมิต และหน่วยงานอื่น ๆ ในพื้นที่ตำบลสระลงเรือที่เห็นถึงความสำคัญในการฟื้นฟูและอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมชาวไทยทรงดำ
ร่วมกันจัดงานอนุรักษ์สืบสานประเพณีชาวไทยทรงดำ วัดพรหมนิมิต ซึ่งเป็นงานประจำปีของชาวไทยทรงดำที่จะจัดขึ้นในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี เพื่อให้เด็กและเยาวชนชาวไทยทรงดำได้ตระหนักถึงคุณค่าของวัฒนธรรมไทยทรงดำที่บรรพบุรุษรักษาไว้ ช่วยสืบสานวัฒนธรรม ประเพณีของชาวไทยทรงดำให้คงอยู่สืบต่อไป และเป็นการแสดงออกให้เห็นถึงความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ความเป็นไทยทรงดำ