ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 14° 30' 49.7581"
14.5138217
ลองจิจูด (แวง) : E 100° 7' 52.6523"
100.1312923
เลขที่ : 42789
พระร่วงนั่งพิมพ์สมาธิกรุวัดลาวทอง
เสนอโดย ว่าที่ ร.ต.สุพัฒน์ หอมสุวรรณ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2554
อนุมัติโดย สุพรรณบุรี วันที่ 4 มีนาคม 2554
จังหวัด : สุพรรณบุรี
0 2115
รายละเอียด
วัดลาวทอง จ.สุพรรณบุรี เคยเป็นวัดร้างมาก่อน เดิมชื่อว่า วัดเลา ต่อมาภายหลังชาวบ้านเรียกชื่อวัดเพี้ยนเป็น วัดลาวทอง เดิมวัดนี้ขึ้นอยู่กับ ต.หัวเวียง ต่อมา เมื่อราวพ.ศ.2519 ต.หัวเวียง แบ่งเขตปกครองออกเป็น 2 ตำบล คือ ต.พิหารแดง กับ ต.สนามชัย อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี วัดลาวทอง จึงขึ้นอยู่กับ ต.สนามชัย อยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสุพรรณ (ท่าจีน) ฝั่งเดียวกับที่ตั้งของศาลากลางจังหวัดสุพรรณบุรี วัดนี้มีโบสถ์เก่าๆ อยู่หลังหนึ่ง ปัจจุบันเหลือแต่ซากอิฐหัก ไม่มีหลังคา มีพระพุทธรูปเก่าอยู่ในโบสก์ และเจดีย์ร้างอยู่หลายองค์ สันนิษฐานว่า สร้างมาตั้งแต่ยุคปลายสมัยอยุธยา ถึงสมัยยุคต้นรัตนโกสินทร์ พระกรุวัดลาวทอง แตกกรุออกมาเมื่อประมาณ พ.ศ. 2504 โดยภารโรงคนหนึ่งของโรงเรียนวัดลาวทอง ต้องการปลูกบ้านอยู่อาศัยใหม่ ภายในบริเวณโรงเรียน ซึ่งอยู่ในเขตวัด ขณะที่กำลังขุดหลุม เพื่อลงเสาปลูกบ้านหลังใหม่ ได้พบโอ่ง ใบหนึ่งฝังอยู่ในดิน ปรากฏว่า ภายในโอ่งใบนั้นมี พระเครื่องเนื้อชิน และ พระบูชาเนื้อสัมฤทธิ์ เป็นจำนวนมาก จึงแอบเอาไปเก็บไว้ที่บ้านหลังเก่า แต่ก็ไม่พ้นสายตาของชาวบ้านในละแวกนั้น ซึ่งต่างก็ไม่เชื่อว่าเป็น พระแท้ เพราะเข้าใจว่า พระแท้ต้องฝังอยู่ในองค์เจดีย์ ไม่ควรฝังอยู่ในพื้นดินทั่วๆ ไป เลยเล่าลือกันว่า ภารโรงคนนั้น เป็นคนฝังพระเอาไว้เอง เพื่อสร้างภาพหลอกขายเป็นพระกรุพระเก่าต่อไป พระเครื่องที่ขุดได้นี้ ภารโรงนำไปขายในตัวเมืองสุพรรณบุรี แต่ไม่มีใครสนใจซื้อไว้เลย มีเพียงคุณครูวาดเขียนท่านหนึ่ง ซื้อไว้ 2-3 องค์เท่านั้น ราคาองค์ละไม่เกิน 30 บาท เมื่อคุณครูท่านนี้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ ได้นำ พระกรุวัดลาวทองมาขายที่สนามพระวัดมหาธาตุ ปรากฏว่า ขายได้อย่างง่ายดาย เซียนพระแย่งกันซื้อ ทำให้ได้ราคาดี องค์ละร่วม 100 บาท เพราะในสายตาของเซียนพระเมืองกรุง มองว่า พระกรุวัดลาวทอง ที่นำมาขายนี้ เนื้อพระสนิมแดงจัดมาก สวยงาม และดูง่ายว่า เป็นพระแท้แน่นอน โดยเฉพาะเนื้อพระเก่าถึงยุค คุณครูท่านนี้ก็เลยขึ้นล่องอยู่เสมอ โดยซื้อ พระกรุวัดลาวทองจากสุพรรณ เอามาขายที่สนามพระกรุงเทพฯ ได้กำไรอยู่คนเดียวเป็นจำนวนมาก พระกรุนี้จึงทยอยออกจาก จ.สุพรรณบุรี ไปจนเกือบหมด พระกรุวัดลาวทอง ที่ขุดพบมีทั้งหมด 4 พิมพ์ คือ พิมพ์พระนาคปรก พิมพ์พระร่วงนั่ง พิมพ์พระร่วงยืน และ พิมพ์ซุ้มนครโกษา พระกรุวัดลาวทอง แต่ละพิมพ์ ยังแบ่งแยกย่อยรายละเอียดต่างๆ ออกไปอีก 2-3 พิมพ์ ที่นิยมกันมากที่สุด คือ พระนาคปรก พิมพ์ปรกแบน พิมพ์ทรงองค์พระมีความงดงามมาก ศิลปะลพบุรีโดยแท้ องค์พระมีขนาดกะทัดรัด ไม่ใหญ่เหมือนกับพระนาคปรกทั่วๆ ไป มีหลายพิมพ์ คือ พิมพ์ฐาน 3 ชั้น, พิมพ์ฐาน 2 ชั้น, พิมพ์ต้อ (พิมพ์เล็ก), และพิมพ์ผมเม็ด พุทธลักษณะ พระนาคปรก พิมพ์ปรกแบน กรุวัดลาวทอง เป็นพระปางนาคปรก นาค 7 เศียร องค์พระปฏิมาประทับนั่ง ปางสมาธิขัดราบ พระพักตร์แลดูทมึน เคร่งขรึม พระศกผมหวี ไรพระศกเป็นปื้นใหญ่ พระกรรณยานจดพระอังสา แล้วย้วยออกข้างๆ ห้อยกรองศอ (สายสร้อย) ที่ต้นพระพาหาทั้งสองข้าง ประดับด้วยพาหุรัด (กำไลแขน) พระอุระมีกล้ามเนื้องามอ้วนสมบูรณ์ จนเห็นพระนาภีลึกบุ่มชัดเจน ขนาดองค์พระ กว้าง 1.8 ซม. สูง 4.0 ซม. ส่วน พระนาคปรก พิมพ์ต้อ (พิมพ์เล็ก) เป็นพิมพ์ที่แปลกตา แตกต่างจากพระนาคปรกทั่วไป ถึง 2 ประการด้วยกัน คือ 1.เป็นพระปางนาคปรกนาค 5 เศียร เท่านั้น 2.องค์พระมีพระอุทร (ท้อง) ที่แลดูอ้วนถ้วน สมบูรณ์มาก ในลักษณะที่เรียกกันว่า พุงป่อง องค์พระประทับนั่ง อยู่บนฐาน 2 ชั้น ปางสมาธิขัดราบ เหมือนกับพระพิมพ์ใหญ่ทุกประการ แต่พิมพ์นี้เป็นพระที่มีขนาดเล็กจิ๋วกะทัดรัดมาก องค์พระกว้าง 1.5 ซม. สูง 2.5 ซม. เนื้อหาของพระกรุวัดลาวทอง เป็นพระเนื้อชินตะกั่วสนิมแดง ซึ่งอาจจะมีส่วนผสมของปรอทมาก จึงทำให้เกิดสนิมแดงอย่างสวยงาม และดูง่าย พระกรุวัดลาวทองบางองค์ที่ไม่มีสนิมแดง อาจจะเป็นพระที่มีเนื้อตะกั่วล้วนๆ ไม่ได้ผสมปรอท เนื้อพระจึงไม่เกิดสนิมแดง บนผิวพระที่จับอยู่ภายนอก เหนือสนิมไขขาว เป็นผิวสีน้ำตาลอ่อน มีความแห้งผาก และงดงามมาก ยากที่จะทำปลอมได้ง่ายๆ ส่วนคราบทรายของดินขี้กรุ บางองค์มี บางองค์ไม่มี องค์ที่มีคราบทรายเกาะ จะติดแน่นมาก เอาออกยาก หรือเอาออกไม่ได้เลย หากฝืนเอาออกให้จนได้ เนื้อแท้ขององค์พระอาจจะหลุดติดออกมาด้วยก็ได้ ซึ่งทำให้หมดความงามตามธรรมชาติ ตามศัพท์ที่วงการพระเรียกว่า ผิวขี้กรุสภาพเดิม ซึ่งปัจจุบันนิยมเล่นหาในลักษณะผิวเดิมๆ มากกว่า พระล้างขี้กรุ แบบที่เซียนพระยุคเก่าก่อนนิยมทำกัน เพื่อให้เห็นสนิมแดงล้วนๆ จึงขัดล้างเอาผิวขี้กรุเดิมออก จนหมด ซึ่งเซียนพระทุกวันนี้ไม่นิยมทำกัน
หมวดหมู่
โบราณวัตถุ
สถานที่ตั้ง
วัดลาวทอง
ถนน สุพรรณบุรี-ชัยนาท
ตำบล สนามชัย อำเภอ เมืองสุพรรณบุรี จังหวัด สุพรรณบุรี
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
บุคคลอ้างอิง ว่าที่ ร.ต.สุพัฒน์ หอมสุวรรณ อีเมล์ panloa1@hotmail.com
ชื่อที่ทำงาน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสุพรรณบุรี อีเมล์ suphanburi@m-culture.go.th
ถนน สุพรรณบุรี-ชัยนาท
ตำบล สนามชัย อำเภอ เมืองสุพรรณบุรี จังหวัด สุพรรณบุรี รหัสไปรษณีย์ 72000
โทรศัพท์ 035-536058 โทรสาร 035-536045
เว็บไซต์ http://province.m-culture.go.th/suphanburi
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่