ประเพณีการแต่งงานของชาวผู้ไทย ความหมายและความเป็นมา
ประเพณีแต่งงานมีมาตั้งแต่สมัยโบราญกาล เป็นประเพณีที่สำคัญสำหรับวิถีชีวิตไทย เพราะเป็นการบ่งบอกว่าผู้ที่แต่งงานนั้นมีความเป็นผู้ใหญ่แล้ว มีความรับผิดชอบมากขึ้น และพร้อมที่จะเป็นครอบครัว รับผิดชอบชีวิตอีกหลายคนเพิ่มขึ้นนอกจากชีวิตของตนเองและยังได้ทำหน้าที่แสดงความสามารถ ตามบทบาทของตนเองในฐานะหัวหน้าของครอบครัว ดังนั้น การแต่งงาน หมายถึง การที่ชาย-หญิง ของไทย มีความรักใคร่ต่อกันจนสุกงอม มีความเห็นอกเห็นใจกันและพร้อมที่จะดำเนินชีวิตร่วมกันเป็นครอบครัวอย่างสามีภรรยา จึงจำเป็นต้องแต่งงานกัน เพื่อให้เป็นไปตามประเพณีของสังคม มีผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายยอมรับและสังคมต้องรับรู้ด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ประเพณีการแต่งงานจึงจำเป็นต้องจัดให้มีพิธีกรรมตามขั้นตอนของประเพณีไทย เริ่มตั้งแต่ การทาบทาม การสู่ขอ หมั้น และแต่งงาน เรียกได้ว่าผูกพันอยู่กับประเพณี และวัฒนธรรมเก่าแก่หลายขั้นตอน จึงนับว่ามีความสำคัญมาก และเป็นประเพณีที่งดงามเหมาะสม แสดงถึงความงดงามทางวัฒนธรรมด้วยจิตใจ และวัฒนธรรมทางด้านวัตถุของบรรพบุรุษของไทยเราที่มองการณ์ไกล และมีความละเอียดอ่อน ทุกขั้นตอนยังแฝงไปด้วยความอ่อนหวานและความดีงามตามประเพณีของชนเผ่าต่าง ๆ โดยเฉพาะเผ่าผู้ไทย กำลังจะเรือนลางจางหายไปจากสังคมปัจจุบัน ดังนั้น จึงได้มีการอนุรักษ์สืบค้นประเพณีแต่งงานชาวผู้ไทยบ้านนาโสก งานประเพณีแต่งงานของคนไทย จึงถือได้ว่าเป็นงานที่มีเสน่ห์ไม่น้อยไปกว่าประเพณีต่าง ๆ ไทยแม้แต่น้อย
ความเห็นในการประกอบพิธี(ทัศนคติความเชื่อ)
ประเพณีแต่งงาน นับว่าเป็นประเพณีที่ดีงามและละเอียดอ่อนมาก เป็นประเพณีโบราณที่บรรพบุรุษของประเทศไทย ได้มองเห็นความสำคัญและสืบทอดกันมาชั่วลูกชั่วหลาน เพื่อให้ลูกหลานได้ถือปฎิบัติไม่ให้ชิงสุกก่อนห่าม และเชื่อว่า ได้ทำตามประเพณีนี้แล้วจะทำให้ชีวิตการแต่งงานจะครองคู่อยู่กันยั่งยืนมีความสุข ตลอดทั้งอุดมไปด้วยความมั่งมีศรีสุขตลอดจนชั่วชีวิตการครองเรือน
องค์ประกอบและพิธีกรรม
๑.คู่บ่าว-สาว
๒.บิดา มารดา ของคู่บ่าว-สาว
๓.ล่าม/พราหมณ์ สูตขวัญคู่บ่าว – สาว
๔.ขันหมาก ประกอบด้วย ดอกไม้ เทียน เงิน (เหรียญ)
๕.สินสอด
๖.บานศรีสู่ขวัญ
ขั้นต้องการหาพ่อล่าม(พ่อสื่อ)
เตรียมดอกไม้กับเทียนอย่างละ ๑ คู่ พร้อมเงิน ๑ บาท ไปหาคนที่ชอบพอที่หมายตาเอาไว้ แต่จะต้องไม่เป็นญาติของฝ่ายชาย และญาติของฝ่ายหญิง เมื่อมาถึงบ้าน (เฮือน) ที่จะขอให้เป็นพ่อล่ามแล้ววางดอกไม้เทียนคู่ใส่จานต่อหน้า แล้วยกมือไหว้พร้อมกับพูดว่า“สวัสดีคือได้มาหึ้นตั่งนั่งเฮือนในมื้อนี้กะได้มีดอกไม้เทียนคู่ มาคู้เข่าหาคู้ขาไหว้มาหาขอเฮ้อเจ้านี้แล้วเป็นพ่อล่ามเฮ้อ”......(นามผู้จะแต่งงาน) ความหมีหลายขอไหว้พร้อมกับยกมือไหว้ ถ้าพ่อล่ามที่ไปหาตกลงเขาจะตอบว่า “ ขอบคุณเอ็ดแนวเลอเป็นกะเป็นแหลว” แต่ถ้ามีเหตุที่เขาจะรับเป็นพ่อล่ามให้ไม่ได้ เช่น เมียกำลังตั้งท้อง หรือนอนฝันร้าย หรือ รับเป็นล่ามให้กับคนอื่นมาแล้วยังไม่ถึงปี โบราณท่านห้ามเอาไว้ “ว่าคะลำ” เขาก็จะตอบว่า”ขอบคุที่แนมาเชอกะดี แต่เอ็ดแนวเลอคือเว้าเฮ้อฟังนะละหมีสามารถที่จะเป็นเฮ้อได้” โบราณเพิ่นว่า มันคะลำความหมีหลายขอไหว้ พร้อมยกมือไหว้
ขั้นตอนการพิธีกรรม
พิธีแต่งงานตามธรรมเนียมประเพณีไทย นั้น เริ่มต้นด้วยการสู่ขอของฝ่ายชาย เปรียบเสมือนด่านแรกของการเริ่มต้นชีวิตคู่ระหว่างคนสองคน โดยฝ่ายชายจะส่งผู้ใหญ่หรือที่ชาวผู้ไทยเรียกว่า พ่อล่าม มาทำการทาทามสู่ขอว่าที่เจ้าสาวจากพ่อแม่ของฝ่ายหญิง และการจัดประเพณีแต่งงาน ซึ่งมีขั้นตอนของพิธีกรรมพอสมควรดังนี้
๑. การสู่ขอของฝ่ายชาย ซึ่งพ่อล่าม หรือที่ชาวบ้านไห้การยอมรับว่าเป็นผู้ที่มีความเป็นอาวุโสในหมู่บ้านและรู้จักประเพณี การปฎิบัติเป็นอย่างดี เป็นที่ยอมรับนับถือของชาวบ้าน เป็นผู้ที่นำพา ญาติ พี่น้อง ของฝ่ายชายไป โดยจะไม่มีบิดา-มารดา ของฝ่ายชายไปด้วยในวันที่ไปสู่ขอฝ่ายหญิง โดยสิ่งที่จะนำไปในวันสู่ขอฝ่ายหญิง ประกอบด้วย
-ดอกไม้ ๑ ค่
-เทียน ๑ คู่
-เหล้า ๑ ขวด
-เงิน ๘ เหรียญ
-ของฝากน้อย ได้แก่ เงิน ๘ สตางค์
-ขอฝากใหญ่ ได้แก่ เงิน ๑๒ สตางค์
เมื่อฝ่ายหญิงรับหมั้นฝ่ายชายหรือยอมรับฝ่ายชาย และได้เรียกสินสอดจากฝ่ายชายแล้วเป็นจำนวนเงินเท่าไรแล้วแต่จะตกลงกันได้ระหว่างผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่าย ผู้ใหญ่ของฝ่ายหญิงก็จะมอบเงิน ๑ เหรียญ และดอกไม้ ๑ คู่ คืนให้ล่ามของฝ่ายชาย ซึ่งของที่ฝ่ายหญิงคืนให้ฝ่ายชายนี้ จะต้องมอบให้ล่ามของฝ่ายชายเท่านั้น
๒. พิธีการแต่งงาน จะถูกกำหนดขึ้นในวันข้างขึ้น และเดือนคู่ เท่านั้น โดยการหาฤกษ์ทั้งสองฝ่ายจะต้องเห็นฟ้องต้องกัน การจัดงานจะจัดขึ้นที่บ้านของฝ่ายชายและฝ่ายหญิง พร้อมกันในวันเดียวกัน ในวันที่จัดงานนั้นมีการเลี้ยงฉลองขึ้น โดยการฆ่าหมูเลี้ยงแขกที่ที่มาช่วยงานแต่งงาน แต่ในสมัยใหม่นี้จะนิยมฆ่าโค และหมู ประเพณีในสมัยโบราณจะไม่ฆ่าโค หมู เลี้ยงแขก แต่จะมีเหล้าและไก่เลี้ยงเพื่อให้เป็นประเพณีถือปฎิบัติสืบทอดมาให้ลูกหลาน แต่ปัจจุบันนี้จะฆ่า โค หมู ถือเป็นประเพณีในปัจจุบัน เพราะไม่ว่าจะมีงานแต่งงานที่ใดก็จะมีการเลี้ยงต้อนรับแขก และสิ่งของที่ฝ่ายชายต้องนำมาที่บ้านของฝ่ายหญิงเพื่อเข้าพิธีการแต่งงาน ได้แก่
- เทียน ๔ คู่
- เหล้า ๔ ขวด
- ดอกไม้ ๔ คู่
- เงินสินสอด
- ไข่ต้ม ๔ ฟอง (ต้องเป็นไข่ที่ใหม่ไม่มีตำหนิ ถ้ามีตำหนิต้องเปลี่ยน)
-ไก่ต้ม ๔ (ไก่ต้มตัวที่๑ได้แก่ บิดามารดาตัวที่ ๒ได้แก่ ตายาย ตัวที่ ๓ ได้แก่ ล่าม ตัวที่ ๔ ได้แก่ เจ้าบ่าว)
หลังจากนั้นก็จะแห่ขบวนเจ้าบ่าวมาที่บ้านเจ้าสาว เมื่อขบวนของเจ้าบ่าวมาถึงบ้านเจ้าสาวแล้ว ทางผู้ใหญ่ของฝ่ายเจ้าสาวก็จะล้างเท้าเจ้าบ่าวเพื่อขึ้นบนบ้านประกอบพิธีกรรม โดยมีบายศรีสู่ขวัญของฝ่ายเจ้าสาวและไก่ต้มอีก ๑ ตัวของฝ่ายเจ้าสาวที่เตรียมไว้ จากนั้นฝ่ายเจ้าบ่าวก็วางของที่เตรียมมาด้วยไว้ข้างๆ บายศรีสู่ขวัญ และทางผู้ใหญ่ของฝ่ายเจ้าสาวก็จะถามล่ามของฝ่ายเจ้าบ่าวว่า “เจ้าบ่าวในวันนี้มาจากที่ไหน มีชีวิตความเป็นมาอย่างไร โสดหรือไม่ เป็นคนดีหรือไม่อย่างไร” โดยเฉพาะล่ามจะต้องพูดความจริงกับทางผู้ใหญ่ของฝ่ายเจ้าสาวเพราะล่ามได้ถูกคัดเลือกมาดีแล้วเป็นที่เคารพนับกถือของฝ่ายเจ้าบ่าวและเจ้าสาวก็ต้องยอมรับด้วย เมื่อฝ่ายเจ้าสาวยอมรับแล้วล่ามก็จะทำหน้าที่เป็นพราหมณ์สูตขวัญให้คู่บ่าวสาว เมื่อเสร็จพิธีสูตขวัญแล้ว ก็จะมีการกินเลี้ยงรับเขยใหม่ (เจ้าบ่าว) และเขยเก่าของฝ่ายเจ้าสาวหรือพี่เขยของฝ่ายหญิงร่วมกันทั้งหมด ซึ่งการเลี้ยงบุตรเขยร่วมกันนี้ก็เพื่อที่จะให้บุตรเขยทุกคนในบ้านทำความรู้จักกัน เป็นที่รักใคร่ปรองดองกัน มีความสามัคคีกลมเกลียว เอี้อเฟื้อเผื่อแผ่รู้จักช่วยเหลือซึ่งกันและกันภายในครอบครัว ถือเป็นประเพณีของชาวผู้ไทยที่ควรนำมาเป็นแบบอย่าง เพราะในพิธีการแต่งงานในสมัยปัจจุบันนี้มองข้ามเรืองนี้ไปไม่ให้ความสำคัญ เพราะท้องถิ่นบางแห่งไม่มีประเพณีนี้เลย หลังจากเลี้ยงเขยแล้วก็จะเลี่ยงแขกที่มาช่วยงานแต่งงานของฝ่ายเจ้าบ่าวแล้วจึงเสร็จสิ้นพิธีการแต่งงาน