ปราชญ์ชาวบ้าน
การถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านศิลปะการแสดงอนาซีดกุมปัง
ประวัติครูภูมิปัญญาท้องถิ่น
นายอาลียะ หะมะ เกิดเมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๐๒ ภูมิลำเนาเกิดบ้านบาโงสนิง ตำบลกาวะ อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส ปัจจุบันพักอาศัยอยู่บ้านเลขที่ ๙๖ หมู่ที่ ๖ ตำบลกาวะ อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส เป็นบุตรคนที่ ๔ ในจำนวน
พี่น้อง ๗ คน บิดาชื่อ นายหะมะ ดือราแม มารดาชื่อนางมีเนาะ อาแวหะมะ คู่สมรสชื่อ นางซีตีมีเน๊าะ หะมะ อาชีพกรีดยาง มีบุตร ๗ คน ชาย ๕ คน หญิง ๒ คน
นายอาลียะ หะมะ ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านศิลปะการแสดงอนาซีดกุมปัง ตำบลกาวะ อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส ได้รับการถ่ายทอดศิลปะการแสดงด้านนี้มาจากบรรพบุรุษคนรุ่นก่อนๆ ถึงแม้จะไม่มีความรู้ในเรื่องตัวโน๊ต และคีย์เพลง แต่อาศัยความจำ และหมั่นฝึกซ้อมจนเกิดทักษะในการบรรเลงดนตรีกุมปังเข้าจังหวะกับเพลงแต่ละเพลง ต่อมาก็ได้มีการประยุกต์ปรับใช้ให้เข้ากับเนื้อเพลงในยุคปัจจุบันให้ทันสมัย นับถึงปัจจุบันรวมระยะเวลาที่นายอาลียะ หะมะ มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการถ่ายทอดให้ความรู้ด้านศิลปะการแสดงอนาซีดกุมปังแก่บุคคลที่สนใจประมาณ ๑๐ ปี
ประวัติการถ่ายทอดและผลงาน
ถึงแม้ว่า นายอาลียะ หะมะ จะไม่เคยได้รับรางวัลหรือเกียรติบัตรทางด้านศิลปะการแสดงอนาซีดมาก่อนก็ตาม แต่จากที่ผ่านมานายอาลียะ ได้ถ่ายทอดความรู้ให้กับลูกๆของตนเอง เด็ก เยาวชน หรือกลุ่มบุคคลที่สนใจ มาอย่างต่อเนื่อง โดยใช้สถานที่บ้านของตนเองเป็นที่ฝึกสอนเพราะมองเห็นว่า อนาซีด เป็นกิจกรรมที่ช่วยให้เด็ก เยาวชน ได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ แทนที่จะไปเที่ยวเตร่ หรือมั่วสุมกัน จนเป็นที่มาของปัญหาสังคมในด้านต่างๆ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้เด็ก เยาวชนได้ใกล้ชิดศาสนา และได้แสดงออกซึ่งความสามารถ และยังคาดหวังว่าอนาซีดนี้จะเป็นสื่อสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในพื้นที่ เพราะบทเพลงอนาซีด คือการย้ำถึงศรัทธาของอิสลามมิกชน การเผยแพร่คำสอนผ่านบทเพลง และการสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้า คือการส่งเสริมให้คนได้ระลึกถึงศรัทธาของตน และการทำความดีเพื่อเอกองค์อัลลอฮ รวมทั้งการแสดงออกในวิถีทางของตน ให้คนศาสนิกแห่งศาสนาอื่นๆทำความเข้าใจ และเรียนรู้ความคิดความเชื่อที่ดีงามของชนมุสลิม
เครื่องดนตรี
เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบเล่นอนาซีดกุมปัง มีทั้งหมด ๕ ชิ้น ดังนี้
๑. โบคล ๑ คู่
๒. กุมปังใหญ่ (กุมปังอีบู ) ๑ ลูก
๓. กุมปังเล็ก (กุมปังอาเนาะ) ๒ ลูก
๔. ลูกแซ็ก ๑ ลูก
กุมปัง เป็นเครื่องดนตรีที่ทำมาจากหนังวัวหรือแพะ เมื่อตีเข้าจังหวะกับอนาซีดทำให้การร้องอนาซีดมีความไพเราะมากยิ่งขึ้น
อนาชีดเป็นอัตลักษณ์ของมลายูมุสลิมเพราะการขับร้องอนาชีดคือการแสดงอย่างหนึ่งที่ศาสนาอนุญาตที่สำคัญเราสามารถใส่เนื้อหาที่เราต้องการให้เป็น เช่นเราสามารถแต่งบทเพลงเกี่ยวกับสันติภาพ เกี่ยวกับพิษภัยยาเสพติด หรือเกี่ยวกับบทลงโทษของการทำบาป
วันนี้ “อนาซีด”จึงเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ได้แรงตอบรับอย่างกว้างขวาง เห็นได้จากการจัดการแข่งขันและประกวดร้องอนาซีด ในสถานศึกษาหรือโรงเรียนสอนศาสนาหลายแห่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ นัยหนึ่งเป็นเวทีให้เยาวชนมุสลิมได้แสดงออกถึงความสามารถ พร้อมๆ กับดึงคนรุ่นใหม่ให้ใกล้ชิดกับศาสนา
การต่อยอดเพื่อให้เกิดรายได้
อนาซีด เป็นศิลปะการแสดงที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง เนื่องจากดนตรีที่ไพเราะ
และเนื้อหาที่สอดแทรกหลักคำสอนทางศาสนา องค์ความรู้นี้สามารถนำมาต่อยอดในการนำไปแสดงโชว์ตามสถานที่ต่างๆ หรือตามงานเทศกาลที่ได้รับเชิญ และปัจจุบันนี้อนาซีดได้นำมาใช้เป็นกิจกรรมการแข่งขันระหว่างโรงเรียน ระดับอำเภอ หรือระดับจังหวัด อาจมีการปรับเนื้อร้อง ดนตรี ให้ทันสมัยเข้ากับเหตุการณ์ปัจจุบัน จึงเป็นโอกาสในการสร้างรายได้เสริม หรือสร้างชื่อเสียงได้อย่างน่าภูมิใจ