มหาวิทยาลัยขอนแก่นตั้งอยู่ที่บ้านสีฐาน ถนนมะลิวัลย์ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น มหาวิทยาลัยแห่งแรกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีเนื้อที่ประมาณ 5,500 ไร่ เป็นมหาวิทยาลัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช โปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้งขึ้นและสถาปนาเป็นมหาวิทยาลัย โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้การศึกษาชั้นสูงขยายออกไปถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภูมิภาคที่สำคัญที่สุดส่วนหนึ่งของประเทศ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการพัฒนายกฐานะความเป็นอยู่ของประชาชนในภูมิภาคนี้
.
ประวัติ/ความเป็นมา
.
เมื่อปี พ.ศ. 2484ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 โดยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีนโยบายและโครงการที่จะขยายการศึกษาระดับอุดมศึกษาสู่ส่วนภูมิภาค สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะจัดตั้งมหาวิทยาลัยที่จังหวัดอุบลราชธานี แต่ในระหว่างนั้นได้เกิดสงครามเอเชียบูรพา ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องตัดสินใจเข้าร่วมกับญี่ปุ่นต่อสู้กับฝ่ายสัมพันธมิตรจึงทำให้การจัดตั้งมหาวิทยาลัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือยุติลง
.
เมื่อปี พ.ศ. 2503รัฐบาลซึ่งมี จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการทบทวนการจัดตั้งมหาวิทยาลัยที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อีกครั้งหนึ่ง
.
เมื่อปี พ.ศ. 2505จึงได้มีมติให้จัดตั้งสถาบันการศึกษาชั้นสูง ด้านวิศวกรรมศาสตร์ และเกษตร ศาสตร์ ขึ้นที่จังหวัดขอนแก่น เสนอชื่อสถาบันแห่งนี้ว่า "สถาบันเทคโนโลยีขอนแก่น" และเสนอชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า "Khon KaenInstitute of Technology" มีชื่อย่อว่า K.I.T. หลังจากนั้นได้เปลี่ยนชื่อสถาบันนี้เป็น "มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ" มีชื่อย่อว่า "North-EastUniversity หรือ N.E.U"เนื่องจากขณะนั้นยังไม่มีหน่วยราชการใดที่จะรับผิดชอบการดำเนินการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยโดยตรง รัฐบาลจึงได้มีมติให้สภาการศึกษาแห่งชาติเป็นผู้รับผิดชอบในด้านการหาสถานที่ และจัดร่างหลักสูตร ตลอดจนการติดต่อความช่วยเหลือจากต่างประเทศ
.
เมื่อปี พ.ศ. 2506คณะอนุกรรมการได้ตกลงเลือกบ้านสีฐานเป็นที่ตั้งมหาวิทยาลัย ห่างจากตัวเมืองขอนแก่น 4 กิโลเมตร เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2507 ได้มีการลงรกฐานก่อสร้างอาคาร "คณะวิทยาศาสตร์-อักษรศาสตร์" สำนักงานจัดตั้งมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพมหานคร ได้รับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยรุ่นแรก ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2507 จำนวน 107 คน โดยแยกเป็นนักศึกษาเกษตรศาสตร์ 49 คน และวิศวกรรมศาสตร์ 58 คน โดยฝากเรียนที่คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (มหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบัน) คณะรัฐมนตรีมีมติให้เปลี่ยนชื่อจาก มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็น "มหาวิทยาลัยขอนแก่น" ตามชื่อเมืองที่ตั้ง และได้โอนกิจการจากสำนักงานสภาการศึกษาแห่งชาติ ไปเป็นของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในปี พ.ศ. 2508
.
เมื่อปี พ.ศ. 2509มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยขอนแก่น และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2509 ซึ่งถือเป็นวันสถาปนามหาวิทยาลัย อีกทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของมหาวิทยาลัย จอมพล ถนอม กิตติขจร และนายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น ในขณะนั้นได้ประชุมสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น และพิจารณาแต่งตั้งให้:-
(1) ฯพณฯ พจน์ สารสิน เป็นอธิการบดี
(2) ศาสตราจารย์ พิมล กลกิจ เป็นรองอธิการบดี ผู้รักษาการคณบดีคณะวิทยาศาสตร์-อักษรศาสตร์ และผู้รักษาการคณบดีเกษตรศาสตร์
(3) ศาสตราจารย์ ดร. วิทยา เพียรวิจิตร เป็นผู้รักษาการคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์
.
เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2510พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดมหาวิทยาลัยอย่างเป็นทางการ อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น คือ รองศาสตราจารย์ ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย
.
ความสำคัญ
.
มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีความสำคัญต่องานวัฒนธรรมด้านศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม เช่น การจัดงานประเพณีลองกระทงที่บึงสีฐานทุกปี เพื่ออนุรักษ์สืบสานขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของไทย และการจัดงานวันเกษตร เพื่อการแสดงผลงานของนักศึกษา การจำหน่ายผลิตผลการเกษตรและผลิตภัณฑ์ของกลุ่มเกษตรกร ณ อุทยานเทคโนโลยีการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นโดยจัดในรูปของงานสินค้าชุมชนได้จัดต่อเนื่องกันมาเป็นเวลา ๒๐ ปี แล้ว และเป็นหน่วยงานต้นสังกัด สำนักวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยขอนแก่น
.
ความเชี่ยวชาญ
.
การจัดการเรียนการสอนครอบคลุมสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์การแพทย์ การเกษตร มนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์ โดยได้รับการจัดอันดับมหาวิทยาลัยของไทย โดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาให้เป็นมหาวิทยาลัยระดับดีเลิศ ทางด้านการเรียนการสอนและดีเยี่ยมทางด้านการวิจัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น