เตหน่ากู เป็นเครื่องดนตรีของกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอญอ ถ้าจำแนกตามระบบการจำแนกเครื่องดนตรีของ Hornbostel-Sachs จัดว่าอยู่ในกลุ่มเครื่องดนตรีที่เสียงเกิดจากสาย (Chordophones) ประเภท พิณคอโค้ง (Arched Harp) คือเป็นเครื่องสายประเภทเครื่องดีด(pluck-stringed) ที่สายข้างหนึ่งยึดตรึงกับกล่องเสียง (soundbox) สายอีกข้างหนึ่งถูกตรึงกับคอ (neck) ที่มีรูปโค้ง คอยึดติดโดยตรงกับกล่องเสียงสายของเตหน่ากู เดิมทำจากพืชตระกูลเถาวัลย์ รากกล้วยหรือหวาย ต่อมาได้มีการพัฒนามาใช้เอ็นสัตว์ ก่อนจะพัฒนามาใช้สายเอ็นเบ็ดตกปลา และสายเบรกรถจักรยานในที่สุด เตหน่ากูโดยทั่วไปมีสายตั้งแต่ 6 สายขึ้นไป กล่องเสียงของเตหน่ากูมักทำจากไม้ที่เนื้อไม่แข็งไม่อ่อนจนเกินไปขุดขึ้นรูปจนรูปร่างคล้ายเรือ จากนั้นจึงปิดด้านบนด้วยแผ่นสังกะสีจากปี๊บใส่ขนม หรือปี๊บน้ำมันก๊าด ด้านที่คล้ายหัวเรือต่อกับคอ ที่ทำจากไม้เนื้อแข็งรูปโค้ง ที่คอเจาะรูเพื่อใส่ลูกบิดที่มักทำจากไม้ไผ่แก่ เตหน่ากู เป็นเครื่องดนตรีที่สามารถบรรเลงเดี่ยว เป็นหมู่ หรือเล่นประกอบเครื่องดนตรีอื่น ๆ ได้ ในอำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ มีการเล่นเตหน่ากูในงานประเพณีที่สำคัญ และมีการถ่ายทอดให้เยาวชนได้ศึกษาและฝึกเล่นในช่วงปิดภาคเรียน