เขาวงเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดกาฬสินธุ์ พื้นที่ส่วนใหญ่ทำการเกษตร ปลูกข้าวเหนียวและข้าวจ้าวประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวภูไท พูดภาษาภูไท มีอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ทำไร่ เลี้ยงสัตว์ และหัตถกรรม (ทอผ้า)
คำขวัญอำเภอเขาวง
เขาวงดงอู่ข้าว สาวภูไทยงาม น้ำตกพริ้ว
ทิวเขาเรียงราย มากมายผ้าห่ม อุดมวัฒนธรรม
อ่างวังคำน้ำใส ทฤษฎีใหม่น้ำพระทัยจากในหลวง
ประวัติความเป็นมา
ประชากรชาวอำเภอเขาวงเป็นคนเชื้อสายผู้ไท อพยพมาจากเมืองวัง แขวงคำม่วน เมื่อปี พ.ศ.2384โดยในปีดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แห่งราชวงศ์จักรี ทรงรับสั่งให้พระมหาสงครามเป็นแม่ทัพนำกำลังไปตีเมืองวังและเมืองใกล้เคียง เนื่องด้วยเมื่อปี พ.ศ.2369 เจ้าอนุวงศ์ผู้ครองนครเวียงจันทร์เป็นกบฎต่อไทย กองทัพไทยไปปราบชนะ ต่อมาประเทศไทยเป็นคู่อริกับญวน (ประเทศเวียดนาม) เพื่อแย่งการปกครองเขมร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 จึงมีรับสั่งให้ไปตีเมืองวังดังกล่าว เพื่อเป็นการตัดกำลังเสบียงญวน เมื่อตีเมืองวังได้จึงกวาดต้อนผู้คนจากเมืองวังและเมืองใกล้เคียง จำนวน 3,003 คน กลับเมืองไทยซึ่งมีบุคคลชั้นนำมาด้วยได้แก่ เจ้าราชวงศ์กอ ท้าวด้วย บุตรเจ้าเมืองวัง ท้าวต้อบุตรอุปฮาด (อุปราช) เมืองวัง เมื่อมาถึงบริเวณภูพาน จังหวัดสกลนคร ได้ปลดปล่อยให้เป็นอิสระตั้งครอบครัวและประกอบอาชีพบริเวณนั้นได้ประมาณ 2 ปี เกิดน้ำท่วมจึงพากันอพยพลงทางใต้ มาถึงบริเวณอำเภอเขาวงปัจจุบันเห็นว่าภูมิประเทศเป็นที่ราบสองฝั่งลำน้ำยัง ประกอบกับมีลำน้ำสายเล็กๆอื่นอีกหลายสาย อีกทั้งมีกุดน้ำ (หนองน้ำ) หลายแห่ง ซึ่งกุดน้ำแห่งแรกที่พบ มีก้อนหินลายคล้ายใบเสมาอยู่ เห็นว่าบริเวณดังกล่าวมีความเหมาะสมจึงพากันตั้งบ้านเรือนอยู่เป็นหมู่บ้าน เรียกชื่อหมู่บ้านว่า " บ้านกุดสิมนารายณ์ " ตั้งแต่ปีนั้น
ต่อมาเมือ่ปี พ.ศ.2388 (จ.ศ.1207) ตรงกับปีมะเส็ง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ตั้งเป็นเมืองกุดสิมนารายณ์ ขึ้นกับเมืองกาฬสินธุ์ หรือจังหวัดกาฬสินธุ์ในปัจจุบันมีพระธิเบศร์วงศา ( กินรี ) เป็นนายอำเภอกุดสิมนารายณ ์คนแรก ต่อมาเมื่อกลางเดือนมีนาคมพ.ศ.2456ในสมัยหลวงวิภักดิ์สถานุกูล(สิ มัธยมนันท์) เป็นนายอำเภอ ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอกุดสิมนารายณ์ไปตั้งที่บ้านบัวขาว และเปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอกุฉินารายณ์ตราบเท่าทุกวันนี้ ส่วนเมืองกุดสิมนารายณ์ ก็มีฐานะเป็นตำบลหนึ่งของอำเภอเขาวง คือ ตำบลคุ้มเก่าในปัจจุบัน จนกระทั่งวันที่ 1 กรกฎาคม 2512 จึงได้มีประกาศตั้งกิ่งอำเภอเขาวงขึ้น ซึ่งเป็นชื่อที่สอดคล้อง กับสภาพภูมิประเทศที่มีภูเขาล้อมรอบ โดยสร้างที่ว่าการกิ่งอำเภออยู่ ณ หมู่ที่ 3 ตำบลคุ้มเก่า อันเป็นที่ตั้งของอำเภอเขาวงในปัจจุบัน ต่อมาวันที่ 23 มีนาคม 2517 จึงได้ยกฐานะเป็นอำเภอเขาวง
ในวันที่ 1 เมษายน 2538 กระทรวงมหาดไทย ได้ประกาศเรื่อง แบ่งเขตท้องที่อำเภอเขาวง ตั้งเป็นกิ่งอำเภอนาคู มีเขตการปกครองรวม 5 ตำบล คือ ตำบลนาคู ตำบลสายนาวัง ตำบลโนนนาจาน ตำบลบ่อแก้ว ตำบลภูแล่นช้าง ทำให้อำเภอเขาวงเหลือเขตการปกครองเพียง 6 ตำบล คือ ตำบลคุ้มเก่า ตำบลหนองผือ ตำบลคุ้มใหม่ ตำบลกุดปลาค้าว ตำบลสงเปลือย และตำบลสระพังทอง
ที่ตั้งและอาณาเขต
อำเภอเขาวง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัด บริเวณเทือกเขาภูพาน ห่างจากตัวเมืองกาฬสินธุ์ 91 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังต่อไปนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอนาคู และอำเภอดงหลวง (จังหวัดมุกดาหาร)
ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอดงหลวงและอำเภอคำชะอี (จังหวัดมุกดาหาร)
ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอกุฉินารายณ์
ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอกุฉินารายณ์และอำเภอนาคู
พื้นที่ : 205.1 ตารางกิโลเมตร
ประชากร : 35,238 คน
อำเภอเขาวง แบ่งพื้นที่การปกครองตามพระราชบัญญัติ ลักษณะปกครองท้องที่ออกเป็น 6 ตำบล 71 หมู่บ้าน
ที่ตั้ง
ที่ว่าการอำเภอเขาวง หมู่ที่ 3 ตำบลคุ้มเก่า อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ 46160 โทรศัพท์ : 043-859089 โทรสาร : 043-859089
ลักษณะอากาศ
ภูมิอากาศโดยทั่วไปพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบ มีลักษณะเป็นแอ่งกะทะ มีภูเขาล้อมรอบ ความสูง สูงสุด262 เมตร ต่ำสุด 168 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง อากาศค่อนข้างหนาวและมีลมแรงตามบริเวณชายเขา ระหว่างเดือนตุลาคม ถึง มกราคม และอากาศร้อนตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ถึงเมษายน
สภาพเศรษฐกิจ
1.อาชีพหลัก ได้แก่ ทำนา เลี้ยงสัตว์
2.อาชีพเสริม ได้แก่ ทอผ้าไหม, ทอผ้าย้อมสีธรรมชาติ, จักรสานกระติ๊บข้าว, ทำไม้กวาด
3.จำนวนธนาคาร มี 2 แห่ง ได้แก่
1. ธนาคารกรุงเทพ โทร. 043-859537
2. ธนาคาร ธ.ก.ส. โทร. 043-859167
การเกษตรกรรม
1.ผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ ได้แก่
1.ข้าวเหนียวเขาวง, ข้าวจ้าวหอมมะลิ
2. สานกระติ๊บข้าว
3. ถักไม้กวาด
4. ทอผ้าไหม
5. ทอผ้าห่ม
6. ทอผ้าย้อมสีธรรมชาติ
2.ชื่อแหล่งน้ำที่สำคัญได้แก่
1. ลำน้ำยัง,ลำห้วยบง,ลำห้วยส้มป่อย
2. อ่างเก็บน้ำห้วยสายนาเวียง
3. อ่างเก็บน้ำลำพะยังตอนบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ปัจจุบัน อำเภอเขาวง อยู่ภายใต้การบริหารงานของนายรณชิต พุทธลา (พ.ศ.25 55)และได้จัดงานผู้ไทยนานาชาติ เมื่อวันที่ 9-10 มีนาคม 2555 โดยมีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นประธานในพิธี