ประเพณีการแต่งกายของชาวโย้ยแต่งกายด้วยเสื้อผ้าย้อมครามทอมือ เย็บด้วยมือ สีกรมท่าเข้มออกดำ กางเกงขากระบอก เสื้อแขนทรงกระบอก มีผ้าขาวม้าฝ้ายไหมผูกเอว ส่วนหญิง เสื้อทำด้วยผ้าฝ้ายย้อมครามทอมือ สีดำแขนทรงกระบอก ผ้าถุงเป็นผ้ามัดหมี่ทอเอง หรือผ้าไหมมัดหมี่มีหัวซิ่นและตีนซิ่น มีผ้าสไบลวดลายต่าง ๆ พาดไหล่ สามรถแต่งได้ทุกเวลาเป็นชุดแต่งกายที่ประหยัด ปัจจุบันชาวไทโย้ยบ้านอากาศอำนวยจะแต่งเฉพาะมีงานประเพณีเทศกาลงานบุญในหมู่บ้านเท่านั้น ในชีวิตประจำวันจะแต่งแบบง่าย ๆ เหมือนคนกลุ่มอื่น ๆ ซึ่งส่วนมากจะซื้อจากตลาดแต่ถ้าเป็นงานศพจะแต่งกายไว้ทุกข์สีดำหรือขาวหรือสีสุภาพที่สุด อย่างไรก็ตามสำหรับการแต่งกายกลุ่มไทยโย้ยนี้พอจะแยกวัยได้ดังนี้
เด็กหญิง
เสื้อ สวมเสื้อคอวง (คอกลม) มีจีบรูดถี่ ๆ ไม่มีแขน สวมหัว ตัดด้วยผ้าฝ้าย
ผ้านุ่ง นิ่งซิ่นต่ง (ผ้าถุง) เป็นซิ่นหมี่ลาดหรือหมี่คั่นลาดเล็ก ๆ เรียกซิ่นคั่นหรือ หมี่หมากไม (ผ้าที่ทอด้วยเส้นด้ายแค่ ๒ สี) ปั่นผสมเข้าในหลอดเดียวกันทอออกมาจะเป็นลานหมี่คั่นหมากไน ไม่ต้องทัดแบบมัดหมี่ ทอได้เลย ลายของซิ่นนิยมลายขอลายหมากจับเป็นต้น
ทรงผม นิยมตัดสั้นแค่ใบหู ปัจจุบันคือทรงบ๊อบ
หญิงสาว
เสื้อ สวมเสื้อต่อง เสื้ออ้อง (เสื้อชั้นใน) ผ่าหน้าติดหมากกะติ่ง (กระดุม) หรือผ้าเคียนอกเป็นผ้าขาวม้าฝ้ายย้อมครามขณะอยู่บ้าน
เสื้อแขนกระบั้ง (แขนกระบอก) เมื่อไปทำบุญที่วัด บางครั้งจะห่มผ้าเบี่ยง (ผ้าสไบที่เป็นผ้าขาวม้าฝ้ายย้อมคราม หรือเป็นผ้าฝ้ายทอมือสีขาวไม้ย้อมครามชาวบ้านเรียกผ้าแพร) ทับตัวเสื้อ
ผ้านุ่ง นุ่งซิ่นต่ง (ผ้าถุง) เป็นซิ่นหมี่ลาดหรือหมี่คั่น มักนุ่งแบบเหน็บชายพกไม่คาดเข็มขัด (พึงมาคาดเข้มขัดเมื่อประมาณ ๖๐ ปีที่ผ่านมาแม้เมื่อ ๓๐ ปีก่อนหน้านี้ก็ยังนิยมเหน็บชายพกเป็นส่วนใหญ่) การนุ่งซิ่นของผู้หญิงต้องต่อตีนและหัวซิ่นเนื่องจากฟืมที่ใช้ทอมีหน้าแคบผ้าที่นำมาต่อเป็นผ้าฝ้ายทดลายขั้นทางยาวหลากสี ล้วนเป็นเส้นคั่นใช้หลากสี ไม่นิยมต่อหัวซิ่นด้วยผ้าพื้น
ทรงผม นิยมไว้ผมทรงซิงเกิ้ล ทรงดอกกระทุ่ม ทรงบ๊อบ และผมยาว เกล้ามวยสูงก็มี สำหรับหญิงที่แต่งงานและมีบุตรแล้ว มักจะเปลือยอกเพื่อความสะดวกในการให้นมบุตร ส่วนหญิงที่มีฐานะจึงจะสวมเสื้อทับเสื้ออ้องอีกชั้นหนึ่ง
หญิงมีอายุ
เสื้ึง สวมเสื้อต่องหรือเสื้ออ้องบ้างครั้งใช้ผ้าขาวม้าฝ้ายมาห่มเป็นผ้าเบี่ยงปิดหน้าอกเท่านั้นก็ไปไหน ๆ ได้
ผ้านุ่ง นุ่งซิ่นหมี่ลาดหรือหมี่คั่น
ทรงผม ทรงซิ้งเกิ้ล หรือเกล้าผมมวยสูง
เด็กชาย
เสื้อ เดิมพ่อแม่มักไม่ค่อยได้ให้สวมเสื้อ พอโตขึ้นไปโรงเรียน จึงได้สวมเสื้อซึ่งตัดจากผ้าฝ้ายทอมือมีทั้งย้อมครามหรือไม่ย้อมตามโอกาสที่ใช้
ซ่งหรือกางเกง ถ้าเป็นเด็กเล็กก็ไม่สวมซ่งหรือกางเกงโตขึ้นจึงจะได้สวม
ทรงผม ผมตัดสั้น
ชายหนุ่ม
เสื้อ โดยทั่วไปไม่นิยมสวมเสื้อ ยกเว้นเมื่อไปวัดทำบุญ จะสวมเสื้อคอกลมผ่าหน้าแขนสั้น ตัดด้วยผ้าฝ้ายทอมือย้อมครามมล
ซ่งหรือกางเกง แต่เดิมนุ้งผ้าขาวม้าฝ้ายแบบนุ่งผ้าเตี่ยวเมื่อทำงานและนุ่งผ้าโสร่งเมื่อไปวัดทำบุญหรืองานเทศกาลต่าง ๆ มีผ้าขาวม้าพาดไหล่ ในระยะต่อมานิยมสวมกางเกงที่เรียกว่า ซ่งอุดร (ทรงอุดร) เป็นกางเกงขาสั้นคล้ายกางเกงนักเรียนเข้าใจว่าพ่อค้าจากเมืองอุดรธานีนำเข้ามาขายในหมู่บ้าน ยังมีกางเกงอีกชนิดหนึ่งเป็นกางเกงขาสั้นหูรูด เรียกทรงหูฮุดหรือซ่งน้อยหูฮูด ภายหลังใช้เป็นกางเกงชั้นในต่อมามีกางเกงทรงฮั่งหรือกางเกงขาก๊วยเป็นกางเกงย้อมคราม ซึ่งสมัยเวลาตัดจะใช้พร้าหัวโต (มีดอีโต้) ตัดแทนกรรไกรและใช้มือเย็บเนื่องจากกรรไกรในสมัยนั้นหายากมีราคาแพงต้องเก็บเอาไว้สำหรับตัดผม ไม่นำมาใช้ตัดเสื้อผ้า
ทรงผม ไว้ผมทรงปีก คือ หวีแสกกลางมีปีกสองข้างเอาไว้สะลิด (สะบัด) ชายมีอายุ ถ้าอยู่บ้านอาจนุ่งผ้าขาวม้าหรือนุ่งซ่งหูรูด ไม่ค่อยสวมเสื้อยกเว้นไปวัดไปงานบุญก็จะแต่งกายเหมือนชายเผ่าอื่น ๆ กลุ่มโทยโย้ยนี้นิยมทอผ้าฝ้ายย้อมครามใช้มาตั้งแต่เดิม ภายหลังได้พัฒนาการทอผ้าฝ้ายในกลุ่มตนเองเป็นการทอแบบมัดหมี่เป็นลวดลายต่าง ๆ ปัจจุบันมีแหล่งทอผ้าฝ้ายดังกล่าวที่บ้านวาใหญ่ วาน้อย และบ้านดอนแดง ซึ่งมีชื่อเสียงในการทอผ้าย้อมสีธรรมชาติจากเปลือกไม้และแก่นไม้ เป็นต้น ผ้าที่ทอนอกจากจะทอเป็นผ้าซิ่น ผ้าตัดเสื้อแล้วยังมีการทอผ้าห่ม ผ้าจ่องที่มีลวดลายสวยงาม สามารถนำไปเป็นผ้าสไบได้อีกด้วย