วัดสฎางค์ ตั้งอยู่เลขที่ ๑ บ้านสฎางค์ หมู่ที่ ๖ ตำบลท่าเจ้าสนุก อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ประวัติความเป็นมาวัดสฎางค์เดิมชื่อวัด "วัดเสือด่าง"แล้วจึงเปลี่ยนเป็นชื่อ "วัดศรีมหาโพธิ์" ต่อมาเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ พระราชโอรสของรัชกาลที่ ๕ ได้เสด็จมาที่วัด เห้นว่าวัดชำรุดทรุดโทรมมาก จึงบริจาคเงินเพื่อทำการบูรณะวัดเสียใหม่ จำนวน ๑ ชั่ง (เท่ากับ ๘๐ บาท ตามมาตราแลกเปลี่ยนเงินตรา) ซึ่งเงินจำนวน ๘๐ บาทนี้ หากมาเทียบกับค่าของเงินสมัยนี้จะแตกต่างกันมากทีเดียว และชาวบ้านจึงให้เกียรติท่านเรียกว่า "วัดอัษฎางค์"จนกระทั่งเรียกเพี้ยนต่อๆกันมาเป็น "วัดสฎางค์" ดังปัจจุบัน วัดนี้สังกัดคณะสงฆ์มหานิกายมีที่ตั้งวัดเนื้อที่ ๓๕ ไร่ ๓ งาน ๕๐ ตารางวา น.ส. ๔ เลขที่ ๘๐๑๘
สถานที่ตั้งวัดเป็นที่ราบอยู่ริมแม่น้ำป่าสัก มีต้นไม้ใหญ่หลายชนิดอายุนับร้อยๆปี ขึ้นอยู่ในบริเวณเวัดจำนวนมาก คาดว่าวัดนี้สร้างมาแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา ตั้งเป็นสำนักสงฆ์ก่อนยังไม่มีอุโบสถ เพราะเป็นวัดที่ห่างไกลเมืองหลวง จึงไม่นิยมสร้างเป็นอุโบสถที่ถาวรอย่างในเมืองหลวง เพราะเหตุบังคับ บ้านเมืองถูกภัยสงครามคุกคามอยู่เสมอ เมื่อข้าศึกมา ทั้งชาวบ้านและพระสงฆ์ก็ต้องอพยพหลบหนีบ้านก็ร้าง วัดก็ร้าง เมื่อเหตุการณ์ปกติก็กลับมาฟื้นฟูวัดใหม่อีกจึงไม่จำเป็นต้องสร้างอุโบสถถาวร คงสร้างเพียงศาลาคลุมพระพุทธรูปไว้เท่านั้น
ต่อมาภายหลังจึงมีการก่อสร้างเสนาสนะต่างๆ เมื่อสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นสมัยสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ได้สนับสนุนให้สร้างวัดให้สวยงามประชุนกัน เพื่อประดับบ้านเมืองทั้งในเมืองหลวงและตามหัวเมืองและสืบทอดพระพุทธศาสนา สันนิษฐานว่าวัดสฎางค์ ทำการก่อสร้างอุโบสถหลังเก่าโดย "กรมไกร" หรือ "กรมหมื่นไกรสรวิชิต" พระโอรสองค์ที่ ๔๑ ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก "กรมไกร" ได้สร้างอุโบสถวัดสฎางค์ในสมัยรัชกาลที่๓ ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๗๒-๒๓๙๐ เป็นฝีมือของช่างหลวงระดมกันทำที่เรียกว่า "ช่างสิบหมู่"ฝีมือแต่ละหมู่ไม่เหมือนกันรูปร่างลวดลายของปูนปั้น ประตูหน้าต่างจึงแตกต่างกันเรียกว่าแต่ละหมู่ทำกันตามถนัด
วัดสฎางค์ สร้างขึ้นเป็นวัดตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๕๙ ในสมัยพระเจ้าทรงธรรม กษัตย์แห่งกรุงศรีอยุธยา วัดสฎางค์ได้รับวิสุงคามสีมาครั้งหลังวันที่ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖
ผู้ดูแลวัด ปัจจุบันพระครูสมุห์ประชวน อกิญฺจโน เจ้าอาวาส โทรศัพท์๐๓๕-๓๔๒๖๗๐