ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 14° 25' 9.003"
14.4191675
ลองจิจูด (แวง) : E 100° 32' 54.0251"
100.5483403
เลขที่ : 154299
ค่ายโพธิ์สามต้น
เสนอโดย RaNiDa วันที่ 30 สิงหาคม 2555
อนุมัติโดย พระนครศรีอยุธยา วันที่ 2 กันยายน 2555
จังหวัด : พระนครศรีอยุธยา
2 2626
รายละเอียด

ประวัติค่ายโพธิ์สามต้น

เป็นบริเวณที่อยู่บนเส้นทางเดินทัพระหว่างกรุงศรีอยุธยากับหัวเมืองฝ่ายเหนือ ปรากฏหลักฐานในสมัยพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ คราวสงครามไทยพม่า พ.ศ. 2091 พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้นำทัพหลวง เสด็จยกทัพมาตั้งค่ายหลวง ณ ทุ่งพุทเลา แล้วเสด็จทรงช้างพระที่นั่งกระโจมทอง นำกำลังกองหลวงข้าม โพธิ์สามต้น มาตามทุ่งเพนียดเสด็จยืนช้าง ณ วัดสามวิหาร เตรียมเข้าตีกรุงศรีอยุธยา

ต่อมาในปี พ.ศ. 2303 สมัยพระเจ้าอลองพญา ได้นำทัพเข้าตีค่ายไทยที่ทุ่งตาลาน แล้วเคลื่อนที่เข้ามาจนถึงกรุงศรีอยุธยา ให้ทัพหลวงตั้งอยู่ที่บ้านกุ่ม ทัพหน้ามังระราชบุตรกับมังฆ้องนรธา เข้าตั้งที่โพธิ์สามต้น ในครั้งนั้นหลวงอภัยพิพัฒน์ ขุนนางจีน หาพวกจีนบ้านนายก่ายประมาณ 2,000คน มาขออาสาตีค่ายข้าศึกที่โพธิ์สามต้น จึงโปรดฯให้จมื่นทิพเสนาปลัดกรมตำรวจนำกำลัง 1,000 คน เป็นกองหนุน กองกำลังจีนเคลื่อนที่ไปถึงยังไม่ทันที่จะตั้งค่าย พม่าก็ข้ามลำน้ำโพธิ์สามต้นเข้าตีกองกำลังจีนจนพ่าย จมื่นทิพเสนาซึ่งเป็นกองหนุนยังตั้งอยู่ที่วัดทะเลหญ้าทุ่งเพนียดเคลื่อนที่ขึ้นมาหนุนไม่ทัน ครั้นเห็นพม่าไล่ฆ่าฟันจีนมา กองหนุนของจมื่นทิพเสนาก็พลอยแตกไปด้วย

การรบคราวนี้ฝ่ายไทยและจีนเสียคนเป็นจำนวนมาก มังระเห็นได้ที่ก็นำกำลังรุดเข้ามาตั้งค่ายที่เพนียด ให้มังฆ้องนรธาเป็นกองระวังหน้าเคลื่อนที่เข้ามาตั้งค่ายที่ วัดสามวิหาร การสงครามคราวนี้พม่าต้องถอยทัพกลับ เนื่องจากพระเจ้าอลองพญาทรงถูกแตกที่“วัดหน้าพระเมรุ”ปรชวรสิ้นพระชนม์ในระหว่างทางก่อนกลับถึงพม่า
ต่อมาในปี พ.ศ. 2309 คราวสงครามเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งทิ่ 2 พระเจ้ามังระกษัตริย์พม่าได้ส่งแม่ทัพพม่า 2 คน คือ เนเมียวสีหบดี และ มังมหานรธาเข้าตีกรุงศรีอยุธยาทุกๆ ด้าน กองทัพของเนเมียวสีหบดียกกองทัพเข้ามาทางเมืองเชียงใหม่ตีหัวเมืองฝ่ายเหนือ แล้วตั้ง“ค่ายใหญ่ที่โพธิ์สามต้น”โดยรื้อเอาอิฐวิหาร โบสถ์ มาก่อกำแพงล้อมเป็นค่าย คู่กับค่ายสีกุกที่มังมหาราชนรธาตั้งขึ้นเป็นค่ายบัญชาการทัพอยู่ทางด้านตะวันตก


เมื่อมังมหาราชนรธาตายในค่ายสีกุก เนเมียวสีหบดีเป็นแม่ทัพใหญ่บัญชาการรบแต่ผู้เดียว ให้กองทัพพม่าทั้งฝ่ายเหนือฝ่ายใต้สมทบกันเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยาทุก ๆ ด้าน ระดมตีเข้ากรุงศรีอยุธยาได้ตรงหัวรอ ถมคูทำสะพานจุดไฟเผารากกำแพงเมืองพระนคร จุดไฟเผาบ้านเรือนวัดวาอาราม ปราสาท ราชมณเฑียร ครั้นพม่าเห็นว่าไม่มีผู้ใดต่อสู้ก็เที่ยวเก็บรวบริบทรัพย์จับผู้คน จับได้พระเจ้าอุทุมพร และ ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยภิกษุสามเณรไปเมืองพม่าโดยพวกที่ประชวรก็ถูกคุมขังอยู่ที่ ค่ายโพธิ์สามต้น


กองทัพพม่าพักอยู่กรุงศรีอยุธยาประมาณ 9–10 วัน พอรวบรวมเชลยและทรัพย์ สิ่งของเสร็จเรียบร้อยแล้ว พม่าก็เลิกทัพกลับ เนเมียวสีหบดีได้ตั้งให้สุกี้มอญที่มีความชอบครั้งตีค่ายบ้านบางระจันเป็นนายทัพ ให้ มองญ่าแม่ทัพพม่าเป็นนายทัพคลุม พม่ามอญ รวม 3,000 คน ตั้งอยู่ที่ ค่ายโพธิ์สามต้น ทำหน้าที่ดูแลกรุงศรีอยุธยาคอยรวบรวมผู้คนและทรัพย์สิ่งของส่งไปเมืองพม่า ค่ายโพธิ์สามต้นจึงเป็นเสมือนกองบัญชาการของพม่าที่ควบคุมดูและกรุงศรีอยุธยาในขณะนั้น


ต่อมาเมื่อพระเจ้าตากสินมหาราชทรงรวบรวมกำลังคน ยกกองทัพเรือจากเมืองจันทบุรี เข้าตีเมืองธนบุรี แล้วยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยานั้น แม่ทัพพม่าได้คุมกำลังคนอยู่ที่ค่ายเพนียด เมื่อทราบว่าพระเจ้าตากสินทรงยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยานั้น แม่ทัพพม่าได้หนีไปค่ายโพธิ์สามต้น พระเจ้าตากสินจึงทรงยกทัพตามมองญ่าแม่ทัพพม่าขึ้นไปถึงโพธิ์สามต้น สั่งให้ทหารระดมตี ค่ายโพธิ์สามต้น ต้นข้างฟากตะวันออก พอได้ค่ายโพธิ์สามต้นข้างฟากตะวันออก พระเจ้าตากสินจึงให้เข้าตั้งรักษาค่าย ทำบันไดปืนค่ายข้างฟากตะวันตก ครั้นเสร็จแล้วก็ให้พระยาพิพิธ พระยาพิชัย นายทหารจีนคุมกองทหารจีนเข้าระดมตีค่ายสุกี้ ข้างฟากตะวันตก กองทัพพระเจ้าตากสินเข้าค่ายโพธิ์สามต้นข้างฟากตะวันตกได้ ฆ่าสุกี้แม่ทัพพม่าตายในที่รบ พวกไพร่พลที่เหลือตายมองญ่าพาหนีไปได้ กรุงศรีอยุธยาก็กลับมาเป็นของไทยอีกครั้ง


เมื่อพระเจ้าตากสิน มีชัยชนะพม่าแล้ว ตั้งพักกองทัพอยู่ที่ค่ายพม่าที่โพธิ์สามต้น ขณะนั้นมีคนและทรัพย์สมบัติที่สุกี้ยังมิได้ส่งไปพม่า ได้รวบรวมเก็บรักษาไว้ในค่ายแม่ทัพที่โพธิ์สามต้น ผู้คนเข้าราชการเจ้านายที่พม่าจับไว้หลายคน เช่น พระยาธิเบศร์บดี จางวางมหาดเล็ก พระราชธิดาของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ธิดาของกรมพระราชวังบวรมหาเสนาพิทักษ์ ธิดากรมหมื่นจิตรสุนทร ธิดากรมหมื่นเสพภักดี รวมเจ้านาย 8 พระองค์ เมื่อพม่าจับได้ประชวรหนัก จึงยังมิได้ส่งไปเมืองอังวะ พระเจ้าตากสินก็ทรงอุปการะจัดหาที่ประทับให้แล้วปลดปล่อยผู้คนที่พม่าขังไว้ แจกจ่ายทรัพย์สิ่งของเครื่องอุปโภค บริโภคประทานให้พ้นทุกข์เป็นค่ายประวัติศาสตร์แห่งชัยชนะในการกู้อิสรภาพของพระเจ้ากรุงธนบุรี ค่ายโพธิ์สามต้นแยกออกเป็น ค่ายฝั้งตะวันตกและฝั่งตะวันออก ค่ายฝั่งตะวันตกยังหลงเหลือร่องรอยทางประวัติศาสตร์อยู่มากมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ส่วนค่ายฝั่งตะวันออก แนวคูค่ายส่วนใหญ่ถูกทำลายไปเกือบหมดสิ้น เหลือเป็นแนวกำแพงค่ายยาวประมาณ 150 เมตร


สภาพปัจจุบัน


สภาพโดยทั่วไปและลักษณะแผนผังโบราณสถานภายหลังการขุดตรวจด้านโบราณคดีปรากฏให้เห็นหลักฐานสิ่งก่อสร้างซึ่งมีดินทับถมอยู่อย่างชัดเจน ส่วนฐานของแนวกำแพงซึ่งมีขนาดความกว้างประมาณ 6.60เมตร ยังมีลักษณะโครงสร้างให้เห็นอยู่อย่างครบถ้วน แนวผนังก่ออิฐทั้งสองข้างหนาด้านละ 0.90 เมตรก่อขึ้นรูปผนัง แกนกลางเป็นดินถมผสมเศษอิฐหักอัดแน่น แนวอิฐก่อผนังทั้งหมดถูกก่อเรียงอย่างเป็นระเบียบก่อสอด้วยดิน จากคำบอกเล่าทำให้ทราบว่าก่อนนี้มีแนวอิฐก่อที่มองเห็นเป็นแนวชัดเจน

หลังสงครามโลกทางราชการที่กรุงเทพต้องการอิฐโบราณจำนวนมาก ทำให้ราษฎรเข้ารื้อถอนและขนอิฐไปขายเป็นจำนวนมาก ทำให้ปัจจุบันเหลือแนวกำแพงค่ายโพธิ์สามต้นฝั่งตะวันออกเหลืออยู่ประมาณ 150 เมตร สูงประมาณ1.00 เมตร เหลือเป็นแนวอิฐก่อประมาณ 10 % ปัจจุบันพื้นที่ตั้งและแนวกำแพงค่ายส่วนที่เหลืออยู่ก็ถูกราษฎรบุกรุกเข้ามาประชิดทำการถากไถ และขุดดินเป็นบ่อลึก ทางเข้าสู่แหล่งโบราณสถานแห่งนี้ไม่มี ต้องขอความอนุเคราะห์จากราษฎร

หมวดหมู่
แหล่งโบราณคดี
สถานที่ตั้ง
แหล่งโบราณคดีค่ายโพธิ์สามต้น
หมู่ที่/หมู่บ้าน 3
ตำบล โพธิ์สามต้น อำเภอ บางปะหัน จังหวัด พระนครศรีอยุธยา
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
องค์การบริหารส่วนตำบลโพธิ์สามต้น
ชื่อที่ทำงาน องค์การบริหารส่วนตำบลโพธิ์สามต้น
เลขที่ 34/1 หมู่ที่/หมู่บ้าน 6
ตำบล โพธิ์สามต้น อำเภอ บางปะหัน จังหวัด พระนครศรีอยุธยา รหัสไปรษณีย์ 13220
โทรศัพท์ 0 3571 0248 โทรสาร 0 3570 2251
เว็บไซต์ www.phosamton.go.th
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่