จากการสำรวจของสำนักศิลปากรที่ ๑๑ อุบลราชธานี ได้ตรวจสอบการพบกลองมโหระทึกสำริด ณ บ้านดอนจิก ตำบลดอนจิก อำเภอพิบูลมังสาหาร จากการขุดพบโดยบังเอิญจากการไถปรับพื้นที่นา ของนายสนิท แฝงโกฏิ เมื่อปี วันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๕๓ ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่วัดทุ่งนาเจริญนอก ตำบลดอนจิก อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี โดยพระอธิการหนูต่วน หาสุจิตโต เป็นเจ้าอาวาสวัดเป็นผู้เก็บรักษา
กลองมโหระทึกสำริดวัดทุ่งนาเจริญนอก กำหนดอายุโดยการเปรียบเทียมได้ค่าอายุประมาณ ๒,๐๐๐ ปี มาแล้ว นับเป็นกลองมโหระทึกใบที่ ๒ ที่พบในจังหวัดอุบลราชธานี ถัดจากที่พบที่บ้านชีทวน ตำบลชีทวน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี จึงจัดเป็นหลักฐานสำคัญอีกชิ้นหนึ่งของประเทศไทย
สภาพกลองมโหระทึกที่พบวางในลักษณะคว่ำหน้าลงบนแท่นโครงเหล็กและมีกุญแจล่ามไว้ โดยพบในที่บริเวณที่นาของ นางคนึงนิจ แฝงโกฎิ อยู่บ้านเลขที่ ๑๙๑ บ้านบุ่งคำ หมู่ที่ ๔ ตำบลดอนจิก อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี โดยนายสนิท แฝงโกฏิ ได้นำรถแทร็คเตอร์ไถปรับพื้นที่นา รถไถไปถูกกลองมโหระทึกสำริดเข้าจึงหยุดไถ ในเบื้องแรกนายสนิทฯ เข้าใจว่าเป็นหม้อน้ำ ๔ หู เนื่องจากส่วนขอบฐานมีรอยบิ่น และภายในกลวงจึงคิดว่าเป็นหม้อขนาดใหญ่ จึงนำไปฝากไว้กับพระอธิการหนู ต่วน เจ้าอาวาสวัดทุ่งนาเจริญนอก เก็บรักษา
ลักษณะกลองมโหระทึก ที่พบ สภาพชำรุด ด้านข้างตอนบนของตัวกลองมีรู สันนิฐานว่าเป็นรอยที่เกิดจากการหล่อ ส่วนหูกลองเชื่อมติดหลังจากการหล่อกลองทั้งใบแล้ว มีขนาดเส้นผ้าศูนย์กลางหน้ากลอง ๕๔.๔ เซนติเมตร สูงจากฐานถึงหน้ากลอง ๔๑ เซนติเมตร ส่วนลำตัวที่กว้างที่สุด ๖๒ เซนติเมตร ตัวกลองมีความหนา ๐.๑ เซนติเมตร
รูปทรงกลองมโหระทึก ส่วนห้ากลองแบนเรียบ ประดับลวดลายตรงกลางเป็นลายดาว ๑๒ แฉก ระหว่างแฉกมีลายกรอบสามเหลี่ยมซ้อนกัน ๒ ชั้น ตรงกลางมีจุดวงกลม ล้อมรอบด้วยวงกลมมีลายจุดไข่ปลา ถัดออกมาทำลายวงกลมเป็นแถวเชื่อมทแยง แถวลายประแจจีน แถวลายวงกลมเชื่อด้วยเส้นทแยง แถวลายจุดไข่ปลาและวงกลมล้อมรอบอีก ๑ เส้น ต่อมาเป็นลายวงกลมล้อมรอบ ๓ เส้น ต่อด้วยลายนำบินทวนเข็มนาฬิกา ลายซี่หวี ลายวงกลมเชื่อด้วยเส้นทแยง และลายซี่หวี
ตัวกลองนูนออกและสอบลงเป็นทรงกระบอกและบานออกตรงส่วนฐาน (ส่วนฐานชำรุด) ด้านข้างส่วนตัวกลองตกแต่งด้วยลายเส้นตรงในแนวนอน ๑ เส้น ลายซี่หวี ลายวงกลมเชื่อมด้วยเส้นทแยง ลายซี่หวี และลายเส้นตรงในแนวนอน ๑ เส้น คั่นด้วยพื้นที่ว่างและลายเส้นตรงในแนวนอน จำนวน ๓ เส้น บริเวณนี้มีหูกลองหล่อติดอยู่เป็นคู่ ตกแต่งด้วยลวดลายเกลียวเชือก จำนวน ๔ คู่ โดยรอบ ถัดลงมาตกแต่งลวดลายในแนวตั้ง ประกอบด้วยลายเส้นเฉียง ๑ คู่ คั่นด้วยลายวงกลมเชื่อมด้วยเส้นทแยง ๑ แนว สลับกับพื้นที่ว่างบนตัวกลอง ตอนล่างตัวกลอิงมีการตกแต่งลายเช่นเดียวกับตอนบน คือตกแต่งด้วยเส้นตรงในแนวนอน ๑ เส้น ลายซี่หวี ลายวงกลมเชื่อมด้วยเส้นทแยง ลายซี่หวี และลายเส้นตรงในแนวนอน ๑ เส้น ส่วนฐานกลางไม่ตกแต่งลวดลาย
การกำหนดอายุ จากลักษณะและลวดลายของกลองมโหระทึกสำริดที่วัดทุ่งนาเจริญนอก มีลักษณะของการยึดแบบแผนเดิมในการตกแต่งลวดลาย อาทิ ลายดาว ลายซี่หวี ลายแววงกลมเชื่อมด้วยเส้นทแยง และลายนกบิน ลองมโหระทึกใบนี้อาจใช้ในพิธีกรรมความเชื่อในยุคโลหะ เมื่อประมาณ ๒,๐๐๐ ปี มาแล้ว