งานประเพณีแห่ผ้าห่มธาตุน้อยบูชาพ่อท่านคล้ายวาจาสิทธิ์ เป็นวิถีชีวิตของชาวอำเภอฉวาง ซึ่งเกิดจากแรงบันดาลใจ ความเชื่อมั่น ความศรัทธาของนายสกล จันทรักษ์ นายอำเภอฉวางได้เห็นถึงความสำคัญของพ่อท่านคล้ายวาจาสิทธิ์ ในการเป็นศูนย์รวมความสมานสามัคคี เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนให้มุ่งทำความดี และสืบทอดพระพุทธศาสนา จึงได้ริเริ่มจัดงานแห่ผ้าห่มพระธาตุน้อยบูชาพ่อท่านคล้ายวาจาสิทธิ์ขึ้น เป็นงานประจำปีของอำเภอฉวางเป็นปีแรก ในปีพ.ศ.2552และให้จัดเป็นประเพณีอันยิ่งใหญ่ สืบไป โดยได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนทุกภาคส่วน ร่วมดำเนินงาน ที่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน ด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่าง ข้าราชการในท้องถิ่น เครือข่ายวัฒนธรรมและชุมชน ในรูปแบบการจัดการเชิงบูรณาการในทุกมิติ ซึ่งได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของบุญบารมี ของพ่อท่านคล้ายวาจาสิทธิ์ ที่ได้สร้างผลงานและพัฒนาท้องถิ่น สังคม ทั่วภาคใต้ ด้วยความมีเมตตาและวาจาสิทธิ์กับคนทุกคนในทุกจังหวัดทั่วภาคใต้ และ เพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีและผลงานของพ่อท่านคล้ายวาจาสิทธิ์ โดยจัดขึ้นในวันที่ ๒๗ มีนาคม ของทุกปีซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของพ่อท่านคล้ายวาจาสิทธิ์ ณ สนามหน้าที่ว่าการอำเภอฉวาง และวัดธาตุน้อย อำเภอช้างกลาง จังหวัดนครศรีธรรมราชโดยมีวัตถุประสงค์ คือ
1. เพื่อน้อมนำพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในตอนหนึ่งว่า “การรักษาขนบธรรมเนียม จารีต ประเพณี คือการรักษาชาติบ้านเมือง” มาปฏิบัติให้เกิดผลอย่างจิงจัง
2.เพื่อรำลึกถึงพระคุณงานความดีและผลงานของพ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์ ดังพุทธวจนะที่ว่า
“ปูชาตะ ปูชะนียานัง เอตัมมังคะละมุดตะมัง” “การบูชาบุคคลที่ควรบูชาเป็นมงคล และ “นิมิตตังสาธุรูปนัง กตัญญูกตเวทิตา” “ความกัญญูกตเวทิตาเป็นเครื่องหมายของคนดี “
3. เพื่อส่งเสริม สืบสานและจัดให้เป็นงานประเพณีวัฒนธรรม ของท้องถิ่นและเป็นเอกลักษณ์ของ อำเภอฉวางและอำเภอใกล้เคียง
4. เพื่อส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนได้ร่วมกันทำบุญในวันคล้ายวันเกิดของพ่อท่าน คล้ายวาจาสิทธิ์
5. เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมของจังหวัดนครศรีธรรมราช
เพื่อให้พุทธศาสนิกชน ได้ร่วมกันทำบุญ และแสดงออกซึ่งความกัตญญู และรำลึกถึงผลงงานสำคัญของพ่อท่านคล้ายวาจาสิทธ์ ประชาชนชาวอำเภอฉวาง อำเภอใกล้เคียง เกิดความภาคภูมิใจในเกียรติประวัติ ผลงานซึ่งเกิดจากบุญบารมีของพ่อท่านคล้ายวาจาสิทธิ์ เป็นที่รู้จักของคนทั่วประเทศ และ ผู้ร่วมงานได้มีส่วนช่วยกันสืบทอดประเพณีอันเป็นเอกลักษณ์ของอำเภอฉวางและจังหวัดนครศรีธรรมราช มีส่วนช่วยในการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดนครศรีธรรมราช