บ้านของบิดาแห่งชาติเวียดนามที่อุดรธานี เป็นเพียงกระต๊อบหลังคามุงหญ้า ความยาวเพียง 8 เมตร ที่นี่เป็นทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งเป็นที่ศึกษาอบรมทฤษฎี กระทั่งฝึกอาวุธ บ้านอีกหลังหนึ่งที่บ้านเกิดของประธานโฮจิมินห์ ที่ จ.เหงะอาน (Nghe An) ก็สภาพไม่ต่างกัน บิดาแห่งชาติเวียดนามในยุคใหม่ อาศัยอยู่ที่นั่นในช่วงปีที่หลบหนีการปราบปรามของนักล่าเมืองขึ้นฝรั่งเศส และ ทำการระดมสรรพกำลังชาวเวียดนามพลัดถิ่นกลับไปกู้อิสรภาพ นั่นคือในช่วงปี 2471 ทางการจังหวัดอุดรธานีเชื่อว่าอนุสรณ์สถานแห่งนี้จะเป็นแหล่งศึกษาทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับอดีตประธานโฮจิมินห์ และยังจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับชาวเวียดนาม ทั้งที่อาศัยทำกินอยู่ในไทยและจากประเทศเวียดนาม โดยมีกำหนดจะเปิดให้เข้าชมได้ในปลายปีนี้ โครงการพัฒนา “แหล่งศึกษาและท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์โฮจิมินห์” ที่บริเวณบ้านหนองโอน จะเป็นอนุสรณ์สถานแห่งที่ 2 ถัดจากแห่งแรกที่ บ้านนาจอก จ.นครพนม เพื่อรำลึกถึงวีรบุรุษผู้นำการกู้ชาติเวียดนาม ในช่วงที่ดำรงชีวิตอยู่ในประเทศไทย บ้านหนองโอนแห่งนี้เดิมชื่อ "บ้านนิคม" มีชาวเวียดนามอพยพมาอยู่ร่วมกันและตั้งเป็นหมู่บ้านขึ้นตั้งแต่ปี 2469 ต่อมาในปี 2491 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นบ้านหนองโอน ตามชื่อของบ้านหนองโอนเดิมซึ่งเป็นชื่อไปเป็นบ้านหนองฮาง จังหวัดอุดรธานีมีโครงการที่จะจำลองสถานที่ ที่เคยเป็นเสมือนค่ายรวบรวมชาวเวียดนามกู้ชาติในอดีตโดยประธานโฮจิมินห์ เพื่อให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาและเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัด จากการสืบค้นข้อมูลของคณะทำงานฯ ได้พบว่า ช่วงที่เข้ามาพักอยู่ในอุดรธานีใหม่ๆ ประธานโฮจิมินห์เวียดนามใช้ชื่อว่า "เฒ่าจิ๋น" อาศัยพักอยู่กับครอบครัวของเฒ่าแมด-ด๋าย สหายจัดตั้งที่บ้านหนองบัว-หนองเหล็ก ใกล้ๆ กับสถานีรถไฟอุดรธานี ซึ่งในปัจจุบันอยู่ในเขตเทศบาลนคร ชุมชนบริเวณนี้มีชาวเวียดนามอพยพอาศัยอยู่ราว 20-30 ครอบครัว ส่วนมากทำการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ ปี 2471 เฒ่าจิ๋น ได้เปลี่ยนสถานที่พักใหม่ ย้ายไปที่หมู่บ้านหนองโอน (หนองฮาง ต.เชียงพิณ ปัจจุบัน) โดยอาศัยอยู่กับครอบครัวของสหายที่ชื่อ "เฒ่าแงว็ก" ซึ่งได้ถึงแก่กรรมแล้ว การมาพักที่บ้านหนองโอนแห่งนี้ เฒ่าจิ๋นมีความมุ่งมั่นที่จะรวบรวมชาวเวียดนามพลัดถิ่นเข้าร่วมกระบวนการต่อสู้เพื่อกอบกู้เอกราชจากฝรั่งเศส ทั้งนี้เฒ่าจิ๋นพักอยู่กับเฒ่าแงว็กนานราว 2 เดือน นายกร ตันชัย วัย 88 เป็นหนึ่งในกลุ่มคนไทยเชื้อสายเวียดนามที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านแห่งนี้ เป็นอีกบุคคลหนึ่งที่อยู่ร่วมในเหตุการณ์ขณะที่พ่อเฒ่าจิ๋นพำนักอยู่ในบ้านหนองโอน นายกรหรือลุงกรในปัจจุบัน เป็นลูกชายของ "เฒ่าแงว็ก" ได้เล่าว่าช่วงที่ประธานโฮจิมินห์พักอยู่ที่บ้านนั้น ตนมีอายุราวๆ 11 ขวบ จำได้ว่าช่วงนั้นมีพี่น้องชาวเวียดมาอยู่ด้วยกับท่านประธานโฮจิมินห์นับสิบคน ลุงโฮท่านจะเลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ ปลูกผัก ใช้ชีวิตไม่ต่างจากชาวบ้านทั่วไป และ ทุกครั้งที่มีโอกาสท่านจะสอนเด็กๆ หลายเรื่อง โดยเฉพาะสอนไม่ให้เด็กทะเลาะกัน ให้รักสามัคคีกันให้มาก “ลุงโฮมาพักอยู่ที่บ้านได้ไม่กี่เดือน ก็เดินทางต่อ ไม่แน่ใจว่ากลับเวียดนามหรือหรือเดินทางต่อไปจังหวัดพิจิตร ตอนนั้นผมไม่ค่อยได้สนใจเพราะยังเด็กอยู่ แต่ระหว่างที่ลุงโฮพักอยู่ที่นี่จะมีพี่น้องชาวเวียดนามแวะเวียนมาหาเป็นระยะๆ” ลุงกรเล่าให้ฟัง นายสมาน วงศ์วรายุทธ นายอำเภอเมืองอุดรธานี เล่าว่านโยบายของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ต้องการสร้างความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และการท่องเที่ยวนั้นเป็นแรงผลักดันให้ จ.อุดรธานี พัฒนาแหล่งศึกษาและท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์โฮจิมินห์แห่งที่ 21 นี้ขึ้นมา นายสมานกล่าวว่าที่ดินเพื่อจัดทำโครงการนั้น มีจำนวน 4 ไร่ ราคาเกือบ 6 แสนบาท โดยการบริจาคของพี่น้องชาวไทยเชื้อสายเวียดนาม ขณะที่ อบต.เชียงพิณ สนับสนุนงบประมาณทำถนนและรั้วชั่วคราว โครงการปัจจุบันได้ทำการบูรณะบ้านพักอดีตประธานโฮจิมินห์ขึ้นมาใหม่ ซึ่งเป็นบ้านขนาดชั้นเดียว และทำการตกแต่งภายในไปแล้วบางส่วน โดยอาศัยข้อมูลจากลุงกรซึ่งเป็นประจักษ์พยานในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์นั่นเอง "ตอนนี้บ้านลุงโฮยังไม่เสร็จสมบูรณ์ เพราะรูปหรือประวัติของลุงโฮส่วนหนึ่งต้องรอจากพิพิธภัณฑ์โฮจิมินห์ ที่เวียดนามจัดส่งมาให้ เพื่อให้สถานที่เชิงประวัติศาสตร์ลุงโฮแห่งนี้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น" นายอำเภอเมืองกล่าว บ้านพักของลุงโฮแห่งนี้ นอกจากภายในจะมีนิทรรศการแสดงประวัติการต่อสู้ของลุงโฮเพื่อกอบกู้อิสรภาพให้กับประเทศเวียดนามแล้ว ยังจะมีนิทรรศการวิถีชีวิตชาวไทยเชื้อสายเวียดนามในประเทศไทยอีกด้วย เพื่อให้คนไทยหรือคนเวียดนามรุ่นหลังได้ศึกษา ส่วนหนึ่งของพื้นที่โครงการจะจัดทำเป็นสถานที่จำหน่ายสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ให้นักท่องเที่ยวได้เลือกซื้อ "โครงการจัดตั้งแหล่งศึกษาเชิงประวัติศาสตร์โฮจิมินห์ได้รับความร่วมมือจากชมรมชาวเวียดนามในอุดรฯ ดีมาก เพราะพวกเขาต้องการให้เยาวชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์การกอบกู้ชาติ ปัจจุบันจังหวัดอุดรมีพี่น้องชาวไทยเชื้อสายเวียดนามอยู่ 5-6 พันคน” นายสมานกล่าว ในด้านการบริหารจัดการแหล่งศึกษาและท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์โฮจิมินห์แห่งนี้ นายอำเภอเมืองอุดรธานีกล่าวว่า อาจจะต้องตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการขึ้นมา แล้วมอบหมายให้ อบต.เชียงพิณเป็นผู้ดูแลรักษา เพื่อจะได้เปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชมได้ทันตามกำหนดในเดือน ก.ย.ศกนี้