คำว่าเซียงข้อง เดิมทีคำว่าเซียง มีรากศัพท์มาจากภาษาส่วยที่ว่าเจียง ซึ่งแปลว่ายิ่งใหญ่ หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือเทวสิทธิ์อันเป็นที่เคารพ และคำว่า เจียง ได้เพี้ยนเสียงมาเป็นคำว่าเซียงในปัจจุบัน ส่วนคำว่าข้อง หมายถึง เครื่องจักสานสำหรับใส่ปลา รูปคล้ายตะกร้า ปากแคบอย่างคอหม้อดิน ก้นสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีขนาดต่าง ๆ (พจนานุกรมฉบับราชบัญฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕, หน้า ๑๓๕)
แรกเริ่มนั้น เซียงข้องมาจากไหนไม่มีใครทราบ ทราบแต่เพียงว่าได้มีพ่อค้ากลุ่มหนึ่ง ซึ่งมาจากอำเภอหนองบัวลำภู ซึ่งก็คือจังหวัดหนองบัวลำภูในปัจจุบันนั่นเอง ได้นำเสื้อผ้าแพรมาจากประเทศพม่า มาขายในบริเวณทุ่งกุลาร้องไห้ และได้นำเซียงข้องมาเผยแพร่ด้วย ส่วนที่บ้านตาโกนนั้น คนที่ทำพิธีเซียงข้องคนแรกคือ นายพรหมมา เหลาคำ ซึ่งเป็นเสมียนประจำหมู่บ้านในสมัยนั้น ทำหน้าที่คล้ายปลัดอำเภอในปัจจุบัน เสมียนพรมมา มีพื้นเพเดิมเป็นคนบ้านธาตุ อำเภอรัตนบุรี จังหวัดสุรินทร์ ต่อมาได้แต่งงานกับชาวบ้านตาโกน และทำพิธีเซียงข้องที่บ้านตาโกน และได้ปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาจนกลายเป็นประเพณี ความเชื่อ ต่อจากนั้นเสมียนพรมมาได้ถ่ายทอดเซียงข้องให้กับนายทา ผลสุข ซึ่งเป็นคนบ้านหนองลุง อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ ต่อมานายทา ผลสุข ก็ได้ถ่ายทอดเซียงข้องให้กับนายเมา ไชยโย ซึ่งเป็นคนบ้านตาโกน อำเภอเมืองจันทร์ จังหวัดศรีสะเกษ ต่อมานายเมา ไชยโย ได้ถ่ายทอดเซียงข้องให้กับนายทิพย์ ไชยโย และเป็นผู้ทำพิธีเซียงข้องในปัจจุบัน
เซียงข้องเป็นเทพและเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันลี้ลับที่ชาวบ้านตาโกนนับถือ เมื่อถูกอัญเชิญ ก็จะมาเข้าร่างทรงที่เตรียมไว้ให้คือ ข้องนั่นเอง และผู้ที่จะทำพิธีเชิญเซียงข้อง จะต้องได้ร่ำเรียนวิชาทางไสยศาสตร์มาจากขอม ในการทำพิธีเซียงข้องนั้น สิ่งที่สำคัญที่จะขาดไม่ได้เลย ก็คือผ้าแพรสีแดง ใช้สำหรับมัดศีรษะ ร่างทรง และจะต้องเป็นผ้าแพรสีแดง ซึ่งได้มาจากพม่าที่ชาวบ้านจังหวัดหนองบัวลำภูมาขายที่ทุ่งกุลาร้องไห้เท่านั้น ถ้าใช้ผ้าแพรสีแดงอื่น เซียงข้องจะไม่เข้าร่างทรง ส่วนเสื้อที่ใส่ร่างทรงนั้น จะต้องเป็นผ้าไหมเหยียบย้อมมะเกลือให้เป็นสีดำ ผู้ที่ทำพิธีอัญเชิญเซียงข้องนั้นจะต้องปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามประเพณีฮีต ๑๒ คลอง ๑๔ และห้ามรับประทานอาหารที่เป็นเนื้อสัตว์ จำพวกเนื้อหมา เนื้อแมว เพราะถือว่าผิดครู และทุกๆ ปี ผู้อัญเชิญเซียงข้องจะต้องแต่งขัน ๘ ในวันเข้าพรรษา และในวันออกพรรษา จะต้องแต่งขัน ๕ เพื่อให้เซียงข้อง และในช่วงระหว่างเข้าพรรษา ๓ เดือนนั้น ผู้ทำพิธีอัญเชิญเซียงข้องจะต้องทำพิธีไหว้เซียงข้องทุกๆ วันพระ หลังจากออกพรรษาแล้ว ในช่วงวันพระจะทำพิธีไหว้เซียงข้องหรือไม่ไหว้ก็ได้ ถือว่าไม่ผิดครู
การทำพิธีเซียงข้องนั้น มีอยู่เกือบทุกภาคของประเทศไทย และแต่ละภาคก็จะเรียกชื่อแตกต่างกันออกไปอย่างเช่น ในภาคกลางและภาคเหนือเขาจะเรียกนางข้อง และในจังหวัดอุดรธานี กาฬสินธุ์ ก็ยังเรียกนางข้องเช่นเดียวกัน ส่วนในจังหวัดนครสวรรค์ ก็มีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป คือนางกระด้ง
ที่มาข้อมูล : องค์การบริหารส่วนตำบลตาโกน อำเภอเมืองจันทร์ จังหวัดศรีสะเกษ