พิธีเรียกขวัญ (ฮ้องขวัญ)
v ชาวล้านนามีความเชื่อว่า มนุษย์ทุกคนมี “ขวัญ” ประจำตัวอยู่ ๓๒ ขวัญ และขวัญจะหนีออกจากร่างกายได้เมื่อมีเหตุให้ตกใจ เช่น เจ็บป่วย หกล้ม หรือได้รับอันตรายอย่างใดอย่างหนึ่งที่เรามักจะเห็นกันบ่อยๆว่า เมื่อเห็นเด็กเล็กหกล้ม ผู้เฒ่าผู้แก่มักจะพูดว่า “ขวัญเอ้ยขวัญมา”หรือต้องพลัดพรากจากบ้านไปไกล เรียกว่า “ขวัญหาย” หรือ “เสียขวัญ” เป็นต้น จึงได้มีการทำพิธีเรียกขวัญให้มาอยู่กับเนื้อกับตัว นอกจากนั้นก็มีพิธีเรียกขวัญในโอกาสต่างๆ โดยเฉพาะเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับชีวิต เช่น การขึ้นบ้านใหม่ บวช แต่งงาน หรือเมื่อได้รับตำแหน่งที่สำคัญๆ
v การฮ้องขวัญ ของชาวเหนือ จะทำบายศรีสู่ขวัญ ใส่ขันเงิน มีพานรองรับ ในขันมีข้าวเหนียวสุกปั้นเป็นก้อน ไข่ต้มสุกปอกเปลือก กล้วย ดอกไม้ ธูปเทียนประดับอย่างสวยงาม ถ้าเป็นในกรณีผู้ป่วยจะมีไก่ต้มทั้งตัวใส่ภาชนะวางร่วมด้วย เมื่อเสร็จพิธีก็จะให้ผู้ป่วยหรือผู้ถูกเรียกขวัญกินเป็นการทำขวัญ ด้ายดิบสีขาวสำหรับผูกข้อมือ ผู้ที่จะทำหน้าที่ฮ้องขวัญ หรือ“หมอขวัญ” คือ พ่ออาจารย์วัด หรือมรรคนายก นั่นเอง ซึ่งผู้ที่มีฝีปากในการฮ้องขวัญได้ไพเราะจับใจจะมีผู้มาหาให้ไปทำพิธีอยู่เสมอ ขันตั้งสำหรับบูชาครูกมีผ้าขาว ผ้าแดง ข้าวเปลือก ข้าวสาร ใส่กระทงใบตองพอประมาณ หมากแห้งร้อยเป็นพวง เรียกว่า“หมากหัว” ใบพลูสด ใส่ในสรวยใบตอง สรวยดอกไม้ ธูปเทียน เงินบูชาครูจำนวนหนึ่งประมาณ ๑๕-๓๐ บาท หรือแล้วแต่พ่ออาจารย์จะระบุมา ซึ่งแต่ละคนก็จะไม่เท่ากัน
v เมื่อจัดเตรียมสิ่งของทุกอย่างพร้อมแล้ว ผู้ทำพิธีจะนั่งบริกรรมคาถาบูชาครู แล้วให้ผู้ที่มาให้เรียกขวัญนั่งพนมมือ มีพานบายศรีวางอยู่ตรงหน้า แล้วเริ่มทำพิธีฮ้องขวัญด้วยท่วงทำนองเสนาะชวนฟัง ทำให้ผู้ที่อยู่ในพิธีจะเกิดความปีติสดชื่นขึ้น ในคำเรียกขวัญนั้นจะกล่าวถึงขวัญทั้ง ๓๒ ขวัญ จะตกไปอยู่ที่ไหนก็ขอให้กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว และเพื่อให้เกิดความศักดิ์สิทธ์ในคำเรียกขวัญนั้นจึงมีการอ้างถึงเทพเจ้าทั้งหลายในศาสนาพราหมณ์ อ้างถึงพระพุทธคุณ และมีการสอดแทรกภาษาบาลีไว้ในบทเรียกขวัญด้วย ในขณะที่ผู้ทำพิธีกล่าวถึงตอนที่เรียกขวัญทั้ง ๓๒ ขวัญแล้ว ก็จะผูกข้อมือ ให้ทั้ง ๒ ข้าง โดยผูกข้อมือซ้ายก่อน เรียกว่า “ไหมมือ” หรือ “ฝ้ายไหมมือ” เพื่อความเป็นสิริมงคลกับตนเอง จะช่วยคุ้มครองเด็กจากภูตผี สิ่งไม่ดีต่างๆ
v ในประเพณีการฮ้องขวัญ เราอาจสรุปได้ว่า ขวัญ ก็คือกำลังใจของคนเรานั่นเอง อย่างการเรียกขวัญของคู่บ่าวสาว ในการแต่งงานนอกจากจะมุ่งให้กำลังใจแล้วยังเป็นการสั่งสอนให้มีการครองรักครองเรือนแก่คู่สมรสอีกด้วย และเช่นการฮ้องขวัญนาค ในงานบวช ก็เพื่อให้ผู้ฟังรู้สึกรักและกตัญญูต่อบุพการี ประพฤติตนอยู่ในกรอบพุทธวินัยอย่างเคร่งครัดนั่นเอง
มานพ ชื่นภักดิ์
นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ
อ้างอิง : การตานต้อด., (ระบบออนไลน์) http://www.sridonmool.com
v เอื้อเฟื้อภาพจากเครือข่ายอินเทอร์เน็ต