ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
Latitude : N 19° 52' 5.0642"
19.8680734
Longitude : E 99° 38' 48.1787"
99.6467163
No. : 192523
ชนเผ่าอาข่า บ้านปางขอน
Proposed by. เชียงราย Date 23 March 2020
Approved by. เชียงราย Date 23 March 2020
Province : Chiang Rai
0 1522
Description

ชนเผ่าอาข่าเป็นชนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีบรรพบุรุษพื้นเพเดิม อาศัยอยู่ทางตอนใต้ของประเทศจีน ในประเทศจีนเรียกว่า “ฮานี หรือ โวน” โดยมีเส้นทาง 2 เส้นทาง คือ เส้นทางแรก อพยพจากประเทศพม่าแคว้นเชียงตุง เข้าสู่ประเทศไทยเนื่องจากเกิดปัญหาทางการเมือง ด้านฝั่งเขตอำเภอแม่จัน ทางหมู่บ้านพญาไพร (ปัจจุบันเป็นอำเภอแม่ฟ้าหลวง) และเส้นทางที่สอง อพยพโดยตรงจากประเทศจีนโดยเดินทางผ่านบริเวณตะเข็บชายแดนพม่า และแม่น้ำโขงประเทศลาว และเข้าสู่ประเทศไทยโดยตรงที่อำเภอ แม่สาย

อาข่า(หรือ อีก้อ) เป็นกลุ่มชนเผ่าที่อาศัยอยู่กระจัดกระจายในแถบภาคเหนือของประเทศไทย เช่น เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง แพร่ น่าน เป็นต้น ชนเผ่าอาข่าที่อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทย อาจแบ่งออกได้ เป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่มอุโล กลุ่มโลมีซาและกลุ่มลอบือ บุคลิกของชาวอาข่าเป็นคนร่าเริง รักอิสระ

ภาษา

ภาษาของเผ่าอาข่าจัดอยู่ในสาจา ยิ (โลโล) ของตระกูลพม่า-ธิเบต มีภาษาพูดแต่ไม่มีภาษาเขียน ไม่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาของภาษา และต้นกำเนิดที่แน่ชัด แต่จะเป็นในลักษณะสืบทอดต่อๆ กันมามากกว่า อย่างไรก็ตาม การใช้ภาษาของชนเผ่าอาข่า มีลักษณะการสื่อเพื่อให้เกิดความเข้าใจต่างกัน โดยใช้ลักษณะ วัย และลักษณะ งาน เป็นตัวแยกแยะการพูดสื่อสาร กล่าวคือหากพูดกับเด็กเล็กที่กำลังฝึกพูดจะมีการใช้ภาษาอีกแบบหนึ่ง เช่น น้ำ ก็จะเรียกว่า “อ่าอ่า” ในขณะที่ถ้าสื่อสารกัน ได้ก็จะเรียกว่า “อี๊จุ” และหากมีการใช้ภาษาในพิธีกรรม เช่น งานศพ ก็จะใช้ศัพท์ ค่อนข้างยาก อาทิเช่น เรียกพระอาทิตย์ คำเต็ม เรียกว่า “น๊องมา” แต่ถ้ามาใช้ในการสวดพิธีก็จะใช้แทนพระอาทิตย์ว่า “น๊อง” โดยไม่ใช้คำเต็ม เป็นต้น สำเนียงภาษาพูดของชนเผ่าอาข่ามีลักษณะเสียงสั้นสูง นิยมตะโกนออกเสียงดัง และมีเสียงแหลมอาจเป็นเพราะว่าอาข่าอาศัยอยู่บนพื้นที่สูง และอากาศหนาวเย็น จึงมีการใช้เสียงดัง เพื่อจะได้ยินในระยะไกล

การละเล่นในพิธีกรรมได้แก่
ลูกข่าง (ฉ่อง)เป็นการละเล่นของอาข่าที่เล่นในช่วงที่มีพิธีกรรม หรือประเพณีเท่านั้น มีปีละครั้ง เป็นการละเล่นของผู้ชาย ให้ความสนุกสนานเพลิดเพลิน โดยเมื่อถึงวันที่มีพิธีกรรมผู้ชายจะออกจากบ้านตั้งแต่เช้า เพื่อจะไปตัดไม้เนื้อแข็งมาทำเป็นลูกข่าง เมื่อกลับมาถึงบ้านก็จะเริ่มทำลูกข่างโดยเหลาปลายไม้ให้ปลายแหลมๆ บางคนจะใส่เหล็กตรงปลาย เพื่อให้ลูกข่างหมุนได้นาน จากนั้นก็จะมาเล่นแข่งกันโดยแบ่งเป็นสองฝ่ายๆ ละกี่คนก็ได้

โล้ชิงช้า (หล่าเฉ่อบี่เออ)เป็นประเพณีที่จัดขึ้นช่วงประมาณปลายเดือนสิงหาคมถึงต้นเดือนกันยายนของทุกปี หลังจากที่ทำการเพาะปลูกข้าว หรือข้าวโพดเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยชิงช้าที่ทำจะมี 3 ลักษณะ คือ ชิงช้าใหญ่ที่ชาวบ้านร่วมกันสร้างขึ้น (หล่าเฉ่อ), ชิงช้าหมุน (ก่าลาหล่าเฉ่อ), และชิงช้าขนาดเล็กที่สร้างไว้หน้าบ้านของแต่ละครอบครัว (เออเลอ) นอกจากให้ความเพลิดเพลินแล้ว ยังเป็นการโล้เพื่อเร่งผลผลิตต่างๆ ที่เพาะปลูกให้เจริญงอกงามอีกด้วย

การเต้นรำ (บ่อฉ่องตูเออ)เป็นการละเล่นในช่วงที่มีพิธีกรรม หรือประเพณีเท่านั้น โดยทั้งชายและหญิงจะแต่งกายด้วยชุดประจำเผ่าที่งดงาม แล้วมารวมตัวกันที่ลานหมู่บ้านหรือที่ที่มีพื้นที่กว้างขวาง โดยจะมีอุปกรณ์ที่ใช้ในการเต้นรำ ดังนี้ กลองที่ทำมาจากไม้ หนังวัว-กวาง (ถ่อง), ฆ้อง (โบวโล), ฉิ่ง (แจและ), และกระบอกไม้ (บ่อฉ่อง) สำหรับลักษณะการเต้นก็มีหลายแบบด้วยกัน ดังนี้
- เต้นเป็นวงกลม โดยทุกคนจะเต้นเป็นจังหวะตามเสียงกลอง โดยจะเต้นจากด้านซ้ายไปยังด้านขวาอย่างพร้อมเพรียงกัน
- เต้นแบบราวกระทบไม้ เป็นการเต้นที่เน้นในเนื่องของจังหวะ โดยผู้หญิงจะมีกระบอกไม้ไผ่สำหรับกระทบไม้แล้วให้ เกิดเสียงดัง และผู้ชายก็อาจเต้นเป็นวงกลมล้อมรอบผู้หญิงก็ได้

-สะบ้า(อ๊ะเบอฉ่อเออ)เป็นการละเล่นของผู้หญิง นิยมเล่นกันในช่วงที่มีงานประเพณี หรืออยู่กรรม เพราะชาวบ้านจะมีเวลาว่าง โดยจะเก็บผลสะบ้าจากป่ามาแล้วเล่นกันเป็นทีม

การละเล่นทั่วไปเช่น

สามล้อ (ลาหล่อ)เป็นการละเล่นที่เด็กชนเผ่าอาข่านิยมเล่นกันมาก ค่อนข้างอันตราย เพราะถ้าเด็กทำหรือประดิษฐ์สิ่งของไม่แน่น อาจทำให้เกิดอันตรายได้ในการทำจะไปหาตัดท่อนไม้ที่มีขนาดใหญ่พอสมควรมา จากนั้นก็ตัดไม้มามัดหรือตอกให้แน่น โดยข้างหน้าจะมีเพียงล้อเดียว และข้างหลังมี 2 ล้อ ในเรื่องของความเร็ว เด็กๆ จะใช้เปลือกไม้ชนิดหนึ่ง นำเปลือกไม้มาแล้วทุบ หรือตำให้ละเอียดแล้วทาบริเวณล้อ เพราะเปลือกไม้ชนิดนี้จะเหนียว และลื่น ซึ่งจะทำให้สามล้อวิ่งได้เร็ว อีกทั้งยังเอาเปลือกไม้เหล่านี้มาดองเก็บไว้ในขวดพลาสติก เพื่อเอาไว้ใช้ในคราวต่อๆ ไป อีกทั้งเด็กอาข่าชอบไปกัดเปลือกไม้แล้วเคี้ยวๆ ให้ละเอียด จากนั้นเอามาแปะที่ล้อ

การตั้งชุมชน

การตั้งชุมชนของอาข่ามักนิยมตั้งในพื้นที่ลาดเท หรือตามสันเขา ปากทางเข้าหมู่บ้านจะมีการสร้างประตูหมู่บ้านไว้ เรียกว่า “ล้อข่อง” เพื่อไว้ป้องกันสิ่งเลวร้ายต่างๆ ไม่ให้ เข้ามาในชุมชน นอกจากนี้ยังมีศาสนสถานที่สำคัญ เพื่อใช้ในการประกอบพิธีกรรม อาทิเช่น ศาลพระภูมิชุมชน บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ลานวัฒนธรรม เป็นต้น

ลักษณะบ้าน

ลักษณะบ้านของชนเผ่าอาข่า จะยกพื้นสูงจากพื้นดินประมาณ 1 เมตร มีบันได 3 – 5 ขั้น บ้านสร้างด้วยไม้ไผ่มีเสาเป็นไม้เนื้อแข็ง ฝาบ้านทำด้วยฟากไม้ไผ่ หลังคามุงด้วยหญ้าคาที่คลุมยาวลงมาจนเกือบถึงพื้นดิน ไม่มีหน้าต่าง มีเตาไฟ 2 เตา สำหรับปรุงอาหาร และสำหรับต้มน้ำชาไว้เลี้ยงแขก

ประเพณีและความเชื่อ เช่น

ประเพณีไข่แดง (ขึ่มสึ ขึ่มมี๊อ่าเผ่ว)

มีขึ้นภายหลังจากที่มีการอยู่กรรมจากการเผาไฟในไร่ช่วงกลางเดือนเมษายน ตรงกับเดือนอาข่า "ขึ่มสึ บาลา"อาข่าจะประกอบพิธี "ขึ่มสึ ขึ่มมี้ อาเผ่ว" เป็นประเพณีการส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ หรือเรียกอีกอย่างว่า ประเพณีปีใหม่ชนไข่ เนื่องจากประเพณีนี้มีการนำไข่มาใช้ประกอบพิธี เด็กๆ จะมีการเล่นชนไข่ โดยการย้อมเปลือกไข่ให้เป็นสีแดง และใส่ตะกร้าห้อยไปมา เป็นประเพณีที่มีมาช้านาน

ประเพณีโล้ชิงช้า (แย้ขู่อ่าเผ่ว)

จะมีการจัดขึ้นทุกๆ ปี ประมาณปลายเดือนสิงหาคมถึงต้นเดือนกันยายน ซึ่งจะตรงกับช่วงที่ผลผลิตกำลังงอกงาม และพร้อมที่จะเก็บเกี่ยวในอีกไม่กี่วัน ในระหว่างนี้อาข่าจะดายหญ้าในไร่ข้าวเป็นครั้งสุดท้าย หลังจากดายหญ้าแล้วก็รอการเก็บเกี่ยว ตรงกับเดือนของอาข่าคือ “ฉ่อลาบาลา” ชนเผ่าอาข่าถือว่าประเพณีนี้เป็นพิธีกรรมที่มีคุณค่ามากด้วยภูมิปัญญาที่ใช้ในการส่งเสริมความรู้แล้ว ยังเกี่ยวพันกับการดำรงชีวิตประจำวันของชนเผ่าอาข่าอีกมากมาย ทั้งยังเป็นประเพณีทีให้ความสำคัญกับผู้หญิง ผู้หญิงอาข่าจะพร้อมใจกันแต่งกายด้วยเครื่องทรงต่างๆ อย่างสวยงามเป็นกรณีพิเศษในเทศกาลนี้ เพื่อยกระดับชั้นวัยสาวตามขั้นตอน แสดงให้คนในชุมชนได้เห็น พร้อมทั้งขึ้นโล้ชิงช้า และร้องเพลงทั้งลักษณะเดี่ยวและคู่ ในการจัดประเพณีโล้ชิงช้าแต่ละปีของอาข่า จะต้องมีฝนตกลงมา ถ้าปีไหนเกิดฝนไม่ตก อาข่าถือว่าไม่ดี ผลผลิตที่ออกมาจะไม่งอกงาม

สำหรับบ้านปางขอนอยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงรายราว 20-30 กิโลเมตร ผู้คนในหมู่บ้านส่วนใหญ่เป็นชาวเขาที่ดำรงชีวิตโดยการปลูกบ้านเรือนตามไหล่เขา มีอาชีพหลักคือทำการเกษตร จุดเด่นที่เรียกว่าเป็นอัตลักษณ์ของบ้านปางขอนคือ เสน่ห์ของการผสมผสานของดอกพญาเสือโคร่ง หรือซากุระเมืองไทย และกาแฟ ซึ่ง กาแฟปางขอน มีชื่อเสียงมาก เมื่อไปถึงแล้วถ้าไม่ชิมกาแฟปางขอนถือว่าพลาด

Tag Cloud
อาข่า
Category
Ethnic
Location
บ้านปางขอน
Moo บ้านปางขอน
Tambon ห้วยชมภู Amphoe Mueang Chiang Rai Province Chiang Rai
Details of access
Reference สิริรัตน์ โอภาพ Email sirirat_kn@hotmail.com
Comment
Please Login Before comment.

Username
Password
No comment.
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่