ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 15° 20' 40.9459"
15.3447072
ลองจิจูด (แวง) : E 104° 9' 57.0038"
104.1658344
เลขที่ : 193537
สะไน
เสนอโดย ศรีสะเกษ วันที่ 8 เมษายน 2564
อนุมัติโดย ศรีสะเกษ วันที่ 30 มิถุนายน 2564
จังหวัด : ศรีสะเกษ
0 2220
รายละเอียด

สะไน

สะไน หรือ สเนงเป็นภาษาเขมรท้องถิ่น แปลว่า “เขาสัตว์” ถ้าเป็นเขาควายเรียกว่า “สะไนกะไบ” สะไนที่เป็นเครื่องเป่าของชาวเยอที่นิยมนำมาเป่าให้เกิดท่วงทำนองผสมผสานจังหวะกลองจนเกิดความไพเราะสนุกสนาน นิยมทำจากเขาสัตว์โดยเฉพาะเขาควาย ภาษาเยอ เรียกสะไน ว่า“ซั้ง”หรือ“ซั้งไน”การที่ชาวเยอนิยมนำเขาควายมาทำสะไนเนื่องจากเขาควายมีรูลึกตั้งแต่โคนเขาจนถึงปลายเขาทำให้เจาะรูจากปลายเขาได้ง่าย ส่วนเขาวัวนั้นรูจากโคนเขาถึงปลายเขาไม่ลึกพอจึงไม่นิยม

สะไน ยังเป็นเครื่องเป่าที่ใช้ประกอบพิธีกรรมหรือกิจกรรมที่สำคัญด้วย เช่น พิธีกรรมบวงสรวงศาลพญากะตะศิลา การแข่งขันเรือและเป็นการเป่าเพื่อบูชาสังข์ (หอยสังข์) ปัจจุบันนิยมนำมาเป่าเล่นเพื่อผ่อนคลายหรือความบันเทิง ตามที่ครูเฒ่าเผ่าเยอได้เล่าติดต่อกันมาว่า สะไนเป็นของศักดิ์สิทธิ์และมีความสำคัญมาก สะไนเป็นเครื่องเป่าที่สืบชื้อสายมาจากสังข์ (ในภาษาเยอเรียก ซั้ง “ปรงซั้ง” แปลว่า “เป่าสังข์”) ลิ้นของสะไนทำจากไม้ไผ่ใช้ยางไม้ติดเข้ากับตัวเขา ระหว่างปากลำโพงกับปลายเขา การเคารพบูชาสะไนจะเหมือนกับการเคารพบูชาสังข์ เพราะในอดีตชาวเยอเชื่อกันว่า การเป่าสะไนเป็นการเป่าบูชาสังข์ เมื่อเป่าสะไนแล้ว เงือก นาค ภูตผีปีศาจ จะไม่มาทำร้ายคน พร้อมกันนี้จะทำให้ผีเจ้าป่าเจ้าเขาช่วยดูแลคุ้มครองรักษาชาวบ้านให้อยู่ดีกินดีมีความปลอดภัย ในสมัยก่อนเมื่อชาวเยอมีการเดินทางไกลต้องผ่านป่าเขา ถ้าหากเดินทางไปไม่ถึงที่หมายจำเป็นต้องนอนค้างแรมกลางป่าเขาจะต้องเอาสะไนไปด้วย ถ้ายามค่ำคืนก็จะเอาสะไนออกมาเป่าเพื่อเป็นการบอกกล่าวเจ้าที่เจ้าทางผีป่าผีเขาให้ช่วยดูแลรักษา ถ้าเป่าสะไนแล้วสัตว์ป่าก็จะไม่กล้ามาทำร้าย ในสังคมวัฒนธรรมที่มีความใกล้เคียงกัน เช่น ส่วยและเขมร จะใช้สะไนเป็นเครื่องเป่าให้สัญญาณเวลาออกไปคล้องช้าง โดยเสียงสะไนที่เป่าแต่ละครั้งหรือแต่ละเสียงจะมีความหมายเป็นที่รู้จักกันในหมู่คณะ

ประวัติความเป็นมา

สะไนเป็นเครื่องเป่าที่ทำจากเขาสัตว์ โดยเฉพาะเขาควาย เป็นเครื่องดนตรีที่ชาวเยอเชื่อว่าจะใช้เป่าเพื่อเป็นการบูชาสังข์หรือบูชาหอย สะไนจะแตกต่างจากแตรเขาสัตว์คือ แตรเขาสัตว์จะเป่าจากปลายเขาเพราะลิ้นอยู่ที่ปลายเขา แต่สะไนเจาะลิ้นระหว่างปากลำโพง (ส่วนเขาที่มีความกว้างของรู) และปลายเขา โดยเจาะรูให้อยู่ชิดมาด้านปากลำโพง ใช้เป่าในกิจกรรมที่สำคัญๆและมีความศักดิ์สิทธิ์เช่น เป่าบูชาสังข์ เป่าในพิธีแข่งเรือ เป่าเพื่อปราบผี เป็นต้น

ลักษณะเฉพาะที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมโดยมีรายละเอียดครอบคลุมสาระ ดังต่อไปนี้

สะไนเป็นเครื่องเป่าที่ทำจากเขาสัตว์ โดยเฉพาะเขาควาย เป็นเครื่องดนตรีที่ชาวเยอเชื่อว่าจะใช้เป่าเพื่อเป็นการบูชาสังข์ หรือบูชาหอย สะไนจะแตกต่างจากแตรเขาสัตว์คือ แตรเขาสัตว์จะเป่าจากปลายเขาเพราะลิ้นอยู่ที่ปลายเขาแต่สะไนเจาะลิ้นระหว่างปากลำโพง (ส่วนเขาที่มีความกว้างของรู) และปลายเขา โดยเจาะรูให้อยู่ชิดมาด้านปากลำโพง ใช้เป่าในกิจกรรมที่สำคัญ ๆ และมีความศักดิ์สิทธิ์เช่น เป่าบูชาสังข์ เป่าในพิธีแข่งเรือ เป่าเพื่อปราบผี เป็นต้น

ความเชื่อเกี่ยวกับสะไน

สะไน เป็นเครื่องดนตรีที่ศักดิ์สิทธิ์ตามหลักความเชื่อของชาวเยอที่อาศัยอยู่เขตพื้นที่อำเภอราษีไศล เนื่องจากมีความเชื่อว่า สะไนมีความเกี่ยวข้องและเกี่ยวโยงกับ สังข์ ที่เป็นเครื่องเป่าอันศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาฮินดู แม้กระทั่งในสังคมไทยก็นับถือว่า สังข์ เป็นของศักดิ์สิทธิ์ เช่น ในพระราชพิธีที่สำคัญจะมีการเป่าสังข์ก่อน เพื่อเป็นการบอกกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์และเหล่าทวยเทวดาทั้งหลาย ถ้าเป็นงานมงคลระดับชาวบ้าน ประชาชนทั่วไปก็มีการนำสังข์มาประกอบพิธีเช่น การตั้งศาลพระภูมิ การรดน้ำสังข์คู่แต่งงาน เป็นต้น เมื่อชาวเยอมีความเชื่อว่าสะไนกับสังข์มีความเกี่ยวข้องกัน จึงมีการเป่าสะไนเพื่อเป็นการบูชาสังข์ นอกจากนี้แล้วยังมีการนำสะไนมาเป่าเพื่อบูชาพระแม่ธรณีและพระแม่คงคาในประเพณีการแข่งเรือ (ส่วงเรือ) หรือเมื่อมีการเดินทางไกล ก็จะมีการเป่าสะไนก่อนออกเดินทางเพื่อให้เกิดโชคเดินทางปลอดภัย และได้รับความสำเร็จในการประกอบการต่าง ๆ โดยเฉพาะถ้าเดินทางกลางป่า ก็จะนำสะไนติดตัวไปด้วย เพราะชาวเยอเชื่อว่าสัตว์ป่าทั้งหลายถ้าได้ยินเสียงสะไนแล้วจะไม่เข้ามาทำร้าย และถ้าเป่าสะไนจะเป็นการบอกกล่าวให้ทวยเทวดาอารักข์ทั้งหลายมาปกป้องดูแลไม่ให้เกิดอันตรายใด ในสมัยโบราณมีเรื่องจากผู้เฒ่าเผ่าเยอว่า บรรพบุรุษของคนเยอถ้าจำเป็นต้องออกรบทำศึกสงครามกับเมืองไหนจะต้องมีการเป่าสะไนก่อน เพื่อเป็นการเอาฤกษ์เอาชัย โดยเชื่อว่าเสียงของสะไนจะทำให้ได้รับชัยชนะกลับมาหรือถ้าหากแพ้ก็จะสามารถหนีเอาตัวรอดกลับมาได้

ชาวเยอโบราณมีคำสอนเกี่ยวกับการเป่าสะไน และมีฤดูกาลสำหรับการเป่าสะไนที่สำคัญคือ ถ้าจะเป่าสะไนต้องเป่าตั้งแต่เดือน ๘ ค้อย (เดือนกรกฎาคมจะเข้าสิงหาคม) จนถึงเดือนอ้ายค้อย (เดือนธันวาคมจะเข้าเดือนมกราคม) ถ้านอกจากระยะเวลาดังกล่าวห้ามเป่าสะไน เพราะมันจะทำให้ฟ้าผ่ากลางวันหรือเกิดสิ่งไม่ดีต่าง ๆ ขึ้นในหมู่บ้าน แต่ถ้าเป่าในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝนจะเป็นการเป่าเพื่อบูชาสังข์ และยังเป็นการป้องกันไม่ให้ฟ้าผ่าด้วย ความเชื่อดังกล่าวมักจะพบเห็นในสังคมวัฒนธรรมอีสานทั่วๆไป เพราะสิ่งศักดิ์สิทธิ์หากนำมาทำเล่นเพื่อความสนุกสนาน โดยไม่รู้จักกาลเทศะ ย่อมเป็นสิ่งไม่ดี จึงมีกฎข้อห้ามต่าง ๆ ไว้ ฉะนั้น การเป่าสะไนจึงต้องเป่าเฉพาะโอกาสที่สำคัญ หรือในยามที่จำเป็นเท่านั้น แสดงให้เห็นว่า สะไนคือเครื่องเป่าที่ศักดิ์สิทธิ์ไม่ใช่ของเล่นที่จะนำมาเป่าเพื่อความความสนุกสนาน การเป่าในช่วงระยะเวลาตั้งแต่เดือนแปดถึงเดือนอ้ายนั้น มีการให้เหตุผลตามความเชื่อว่า เป็นการเป่าเพื่อบูชาสังข์เนื่องจากเป็นช่วงระยะเวลาที่หอยสังข์กำลังผสมพันธุ์ ถ้าเป่าในช่วงนี้ จะทำให้หอยสังข์มีการเจริญพันธุ์และขยายพันธุ์ดี และอีกอย่างการเป่าสะไนจะทำให้ฝนตก หากเป่าในช่วงนี้ก็จะเป็นผลดีต่อพืชพันธุ์ น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ แต่ถ้าเป่านอกฤดูกาลจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะข้าวที่จะเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนอ้ายถึงเดือนสาม และช่วงนี้เป็นช่วงที่หอยสังข์จำศีลด้วยจึงห้ามเป่าสะไน เสียงของสะไนยังเป็นเสียงที่ศักดิ์สิทธิ์ เชื่อว่าสามารถปราบผีได้หากที่ใดมีคำล่ำลือเกี่ยวกับความดุร้ายหรือความเฮี้ยนของผีสางนางไม้ ถ้าได้เป่าสะไนบริเวณนั้น จะทำให้ผียอมสยบ ไม่กล้าอาละวาทหลอกใครอีก

การเป่าสะไน ถือได้ว่าเป็นการสร้างเสียงเพื่อสนองต่อความต้องการของมนุษย์ โดยเสียงที่สร้างขึ้นไม่ได้มีความหมายตามหลักการของทฤษฎีทางดนตรีแต่อย่างใด (ไม่มีระบบโน้ตและระดับเสียงที่แน่นอน) แต่เป็นเสียงที่สร้างขึ้น ตามลักษณะการพูดเป็นทำนองเพลงสนุก ๆ จากคำพูดของพญามารในมิทานเรื่องพระเจ้าสร้างโลกคือ “เอาคักคักเอาคนคักคัก” เสียงการเป่าสะไนเป็นเสียงที่มีความดังเกินตัว (เสียงดังขนาดเล็ก) มนุษย์เมื่อได้พบเจอสิ่งใดที่ดูแล้วหน้าเกรงขาม ย่อมยกย่องให้สิ่งนั้นเป็นสัญลักษณ์แทนความรู้สึกว่าดี ปลอดภัย อุดมสมบูรณ์ แต่สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีปรากฏการณ์ที่สำคัญยืนยันว่ามันจะนำมาซึ่งความสงบ ความยินดีของตนจริง เรียกว่า ภูมิปัญญา เสียงสะไน จึงเป็นเสียงที่ศักดิ์สิทธิ์ ฟังแล้วดูหน้าเกรงขาม เป็นเครื่องดนตรีชิ้นเล็ก ๆ แต่เสียงนั้นใหญ่เกินตัวมาก

ต่อมาเพื่อให้คนรุ่งหลังเรียนรู้ได้ง่าย จึงได้กำหนดโน้ตและลายสะไนขึ้นประกอบการเป่า มี ๓ ระดับเสียง คือ โด เร มี

การถ่ายทอดความรู้วิชา“สะไน”

กระบวนการเรียนรู้ และกระบวนการถ่ายทอดวิธีการเป่าสะไน ใช้วิธีแบบมุขปาฐะ และวิธีครูพักลักจำ เนื่องจากการเป่าสะไน เป็นวิชาที่ยังไม่นิยมนำมาถ่ายทอด หรือมีการเรียนรู้อย่างกว้างขวาง นอกจากผู้ที่มีความสนใจเป็นพิเศษเท่านั้น และสะไนยังเป็นเครื่องเป่าที่ไม่มาสารถใช้เป่าเพื่อผ่อนคลายหรือเพื่อความบันเทิงมากนัก ปัจจุบัน มีการนำสะไนเข้าสู่กระบวนการเรียนการสอนในโรงเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนบ้านอีหนาและโรงเรียนเมืองคง มีการจัดตั้งกลุ่มนักเรียนเพื่อรับการถ่ายทอดฝึกการเป่าและจัดทำเป็นการฟ้อนรำประกอบการเป่าสะไน มีการนำเครื่องดนตรีอย่างอื่นเข้ามาร่วมบรรเลง เช่น กลองยาว ฆ้อง พิณ แคน เบสไฟฟ้า เป็นต้น ทำให้สะไนเปลี่ยนรูปแบบการบรรเลงไปในทิศทางที่แปลกขึ้น คือจากเดิมบรรเลงด้วยความเชื่อตามคติแบบชาวบ้าน แต่ปัจจุบันมีการบรรเลงเพื่อการประกวดแข่งขัน

คุณค่าและบทบาทของวิถีชุมชนที่มีต่อมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

๑. คุณค่าของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่สำคัญ

สะไน เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่มีคุณค่าอย่างยิ่งของชาวเยอในพื้นที่อำเภอราษีไศล การรวบรวมสืบค้นข้อมูลด้านดนตรีและศิลปะการแสดงของท้องถิ่น เป็นการแสดงให้เห็นว่าความเป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่น ที่กำลังได้รับความสนใจจากหน่วยงานระดับชาติ ที่เห็นความสำคัญของความมั่นคงของชาติ ผ่านอัตลักษ์และมรดกภูมิปัญญาด้านวัฒนธรรมของท้องถิ่น เพราะวัฒนธรรมเสียงสะไนของชาวเยอในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ มีความเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่น ทั้งท่วงทำนองและการประยุกต์สู่กิจกรรมด้านศิลปะการแสดง สามารถสร้างสุนทรียภาพด้านดนตรี ชาวจังหวัดศรีสะเกษ ยังมีความภาคภูมิใจต่อวัฒนธรรมเสียงสะไนที่มีความเป็นเอกลักษณ์ และสามารถนำมาเป็นสื่อแสดงตัวตนทางวัฒนธรรมผ่านเสียงสะไน ในฐานะที่มรดกภูมิปัญญาด้านศิลปะการแสดง และเสียงสะไนของชาวเยอ อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ ยังสร้างชื่อเสียงโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ได้มีการนำวัฒนธรรมเสียงสะไนไปปรับประยุกต์ เป็นการแสดงที่มีความโดดเด่นและงดงามจนได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับหนึ่ง ในการประกวดดนตรีพื้นบ้านชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๕ และได้เข้าร่วมเผยแพร่วัฒนธรรมเสียงสะไนรายการคนไทยขั้นเทพ จึงทำให้ สะไน ของชาวเยอ จังหวัดศรีสะเกษได้รับความสนใจอย่างแพร่หลาย

๒. บทบาทของชุมชนที่มีต่อมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

ชุมชนให้ความสำคัญกับมรดกทางภูมิปัญญาด้านวัฒนธรรมสะไน โดยมีการส่งเสริมให้มีการอนุรักษ์ ฟื้นฟูและพัฒนาศิลปวัฒนธรรมเกี่ยวกับสะไนอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่เป็นประเพณีของท้องถิ่น เช่น งานประเพณีบุญแข่งเรือ งานบวงสรวงพญากตะศิลา งานบรวงสรวงปู่ดงภูดิน งานบวงสรวงศาลปู่ตาเมืองราษีไศล เป็นต้น สนับสนุนให้มีการจัดทำเป็นหลักสูตรท้องถิ่น โดยโรงเรียนเมืองคงได้นำสะไนไปเป็นอัตลักษณ์ของโรงเรียน (สะไนใจเยอ) สนับสนุนให้มีการพัฒนาในรูปแบบศิลปะการแสดง และส่งเสริมให้มีการนำสะไนมาร่วมแสดงพิเศษในงานต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น งานเทศกาลดอกลำดวนบาน งานเทศกาลเงาะทุเรียนจังหวัดศรีสะเกษ การประกวดในกิจกรรมสำคัญต่างๆ ตลอดการจัดแสดงในงานเทศกาลสำคัญ ๆ ที่ทางอำเภอราษีไศล ทางจังหวัด ทางหอการค้าและทางสถานศึกษาจัดขึ้นเป็นประจำ

การส่งเสริม สนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ หรือภาคเอกชน หรือภาคประชาสังคม

จังหวัดศรีสะเกษ ทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เช่น สภาวัฒนธรรมจังหวัด สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด หอการค้าจังหวัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษา และมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ได้มีการส่งเสริมให้มีการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาศิลปวัฒนธรรมเกี่ยวกับสะไนอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่เป็นประเพณีของท้องถิ่น เช่น งานประเพณีบุญแข่งเรือ งานบวงสรวงพญากตะศิลา งานบรวงสรวงปู่ดงภูดิน งานบวงสรวงศาลปู่ตาเมืองราษีไศล เป็นต้น สนับสนุนให้มีการจัดทำเป็นหลักสูตรท้องถิ่น โดยโรงเรียนเมืองคงได้นำสะไนไปเป็นอัตลักษณ์ของโรงเรียน (สะไนใจเยอ) สนับสนุนให้มีการพัฒนาในรูปแบบศิลปะการแสดง และส่งเสริมให้มีการนำสะไนมาร่วมแสดงพิเศษในงานต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น งานเทศกาลดอกลำดวนบาน งานเทศกาลเงาะทุเรียนจังหวัดศรีสะเกษ การประกวดในกิจกรรมสำคัญต่างๆ ตลอดการจัดแสดงในงานเทศกาลสำคัญๆที่ทางอำเภอราษีไศล ทางจังหวัด ทางหอการค้าและทางสถานศึกษาจัดขึ้นเป็นประจำ

การถ่ายทอดความรู้

๑. โรงเรียนเมืองคง ซึ่งเป็นสถานศึกษาระดับประถมศึกษาในท้องถิ่น มีการส่งเสริมให้บรรจุการเป่าสะไนเป็นหลักสูตรท้องถิ่นเพื่อส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนรู้วัฒนธรรมสะไนอย่างต่อเนื่อง

๒. หน่วยงานด้านวัฒนธรรมได้ส่งเสริมให้มีการเผยแพร่วัฒนธรรมเป่าสะไน ในพื้นที่หมู่บ้านชาวเยอ

๓. มีการส่งเสริมให้ประกวดเป่าสะไน ในงานศิลปะหัตกรรมนักเรียนระดับอำเภอ และระดับจังหวัดของพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษเป็นประจำทุกปี

๔. มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ โดยกลุ่มงานศิลปะและวัฒนธรรม ได้นำเอาวัฒนธรรมการเป่าสะไนไปประยุกต์เป็นศิลปะการแสดงที่สามารถแสดงโชว์และเผยแพร่สู่สาธารณะได้อย่างโดดเด่น

๕. มีการจัดเก็บข้อมูลเชิงลึกเพื่อจัดพิมพ์เป็นเอกสารวิชาการ

สถานที่ตั้ง
เลขที่ 183 หมู่ที่/หมู่บ้าน 14
ตำบล เมืองคง อำเภอ ราษีไศล จังหวัด ศรีสะเกษ
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
บุคคลอ้างอิง นายวิทิต กตะศิลา
ชื่อที่ทำงาน อำเภอราษีไศล
เลขที่ 183 หมู่ที่/หมู่บ้าน 14
อำเภอ ราษีไศล จังหวัด ศรีสะเกษ รหัสไปรษณีย์ 33160
โทรศัพท์ 08 5767 7345
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่