หงส์ฟาง เพลงพื้นบ้านกับภารกิจการสืบสานวัฒนธรรมของลูกหลานบ้านตะปอน
เพลงพื้นบ้านในถิ่นภาคกลางส่วนใหญ่มักเป็นเพลงร้องโต้ตอบหรือเรียกว่าเพลงปฏิพากย์*
หนุ่มสาวจะนำมาร้องเกี้ยวพาราสีกัน มักร้องกันเป็นกลุ่มหรือเป็นวง
ประกอบด้วย ผู้ร้องเพลงนำฝ่ายชายและฝ่ายหญิงที่เรียกว่า 'พ่อเพลง แม่เพลง'
ส่วนคนอื่นๆ เป็นลูกคู่ร้องรับ ให้จังหวะด้วยการปรบมือ
หรือใช้เครื่องดนตรีประกอบจังหวะ จำพวก กลอง ฉิ่ง กรับ
เพลงร้องโต้ตอบนี้ ชาวบ้านภาคกลางนำมาร้องเล่นในโอกาสต่างๆ ตามเทศกาล
หรือในเวลาที่มารวมกลุ่มกัน เพื่อทำกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือบางเพลงก็ใช้ร้องเล่นไม่จำกัดเทศกาล
ส่วนมากมีรูปแบบที่คล้ายคลึงกัน แสดงถึงการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างถิ่น
ซึ่งไม่ทราบผู้แต่งและที่มาชัดเจน จึงถือเป็นมรดกตกทอดของชาวบ้านที่สืบต่อกันมานานจากการฟังและจดจำ
---------------------------------------
*เพลงปฏิพากย์ หมายถึง เพลงที่ร้องโต้ตอบกันระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง โดยใช้ปฏิภานไหวพริบหรือที่เรียกว่า 'ร้องแก้'
---------------------------------------
'หงส์ฟาง'** เพลงพื้นบ้านพื้นถิ่นตะวันออกที่สูญหายไปเกือบ ๕๐ ปีแล้ว
ชาวระยอง จันทบุรี และจังหวัดตราดเคยนำมาร้องในลานนวดข้าว
กลางลานนวดมีเสาเกียดปักอยู่ตรงกลางเพื่อใช้เป็นหลักมัดพรวนควายเป็นคู่เรียงกันเป็นแถว
เมื่อชาวนาใช้วัว - ควายย่ำข้าวหลุดออกจากรวงหมดแล้วจะเหลือเศษฟาง
ชาวบ้าน หนุ่มสาวก็จะช่วยกันแยกฟางออกไปกองไว้บริเวณขอบลานนวด
การแยกฟางออกนี้เรียกกันว่า 'การพานฟาง'
เศษฟางจะนำมาวางซ้อนๆ กันขึ้นไปจนเป็นกองสูง เรียกว่า 'ลอมฟาง'
โอกาสนี้ก็จะมีการร้องเพลง 'หงส์ฟาง' [มีบางสำเนียงเรียก 'โหงฟาง']
เพื่อให้เกิดความสนุกสนาน คลายความเหน็ดเหนื่อย
อีกทั้งยังแสดงถึงความสามัคคี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของหมู่คนชนบทที่ 'ใช้แรง' หรือ 'ลงแขก'
เป็นการแลกเปลี่ยนแรงงานหมุนเวียนกันไปทั่วทั้งหมู่บ้าน
---------------------------------------
** แถบสุพรรณบุรี กาญจนบุรี อ่างทอง สิงห์บุรี เรียก เพลงสงฟาง ชาวราชบุรี เรียก เพลงพานฟาง
---------------------------------------
เพลงหงส์ฟาง จะมีเนื้อร้องง่ายๆ คล้ายกลอนมีสัมผัสนอก - ใน
แบ่งถ้อยคำเนื้อร้องเป็นวรรคตอนให้ลงกับจังหวะ
โดยใช้ปฏิภาณ ไหวพริบของผู้ร้องทั้งสองฝ่ายในการเลือกใช้คำมาร้องโต้ตอบกัน
อาจมีคำสองแง่สองง่ามเป็นเชิงสัญลักษณ์เพิ่มความสนุกสนานก็ได้
แต่บังคับว่าจะต้องขึ้นต้นและลงท้ายด้วยคำว่า 'หงส์' ดังเช่นเนื้อร้องว่า
'หงส์อ่อน ร่อนลง เข้าดงมะไฟ ช่วยกันขย้ำ ช่วยกันขยี้ พอแต่แล้วตกนี้ พี่จะลาครรไล'
..........
[ขย้ำ, ขยี้ คือ การที่เอาเท้านวดข้าว ส่วนคำว่า 'ตกนี้' คือข้าวเปลือกกองนี้]
เวลาร้องจริงๆ จะมีการเอื้อนและเติมสร้อย ดังนี้
'หงส์อ่อน เจ้าเอย ร่อนลง/ ร่อนเข้าในดง เอ่อ เอ๊ย มะไฟ'
ลูกคู่รับซ้ำ
'หงส์อ่อน เจ้าเอย ร่อนลง/ ร่อนเข้าในดง เพื่อนเอ๋ย มะไฟ
ชะเออ เอิ๊ง เอ๊ย... ช่วยกันขย้ำ/ ช่วยกันขยี้ พอแต่แล้วตกนี้/ พี่จะลาครรไล
ชะว่าหงส์เจ้าเอย
ช้า/ฉ่าชา/เอ๊ชา/เจ้าหงส์เอย'
ที่มา : ผาสุก หั้นเจริญ [๒๕๔๐]
---------------------------------------
ที่บ้านตะปอน อำเภอขลุง เพลงหงส์ฟาง ได้ถูกปลุกให้มีชีวิตชีวาอีกครั้ง
แม้ปัจจุบันจะไม่มีกิจกรรม 'ใช้แรง' 'ลอมฟาง' และ 'ลานนวดข้าว' ให้เห็นแล้วก็ตาม
กาญจน์ กรณีย์ หรือลุงสาคร วัย ๖๘ ปี ถือเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการฝึกเด็กๆ ลูกหลานชาวตะปอน
ให้เป็นผู้สืบทอดวัฒนธรรมพื้นบ้านที่หายไปมากกว่าอายุของพวกเด็กเหล่านี้หลายรอบปี
เพลงพื้นบ้านเฟื่องฟูในยุคสมัยที่ยังไม่มีสื่อโทรทัศน์ประจำบ้าน
การฟื้นฟูนำกลับมาในยุคสมัยนี้เป็นเรื่องที่ท้าทายและจะทำได้สำเร็จหรือ?
"เพลงหงส์ฟางมันหายไปจากถิ่นตะปอนมากกว่า ๕๐ ปี ผมเพิ่งเริ่มฟื้นฟูได้ประมาณ ๑๐ ปีแล้ว เมื่อได้มาเป็นประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขลุง"
ลุงกาญจน์ อดีตไวยาจักรวัดตะปอนใหญ่ มีอาชีพเป็นเกษตรกรเลือดชาวเมืองขลุงมาแต่กำเนิดบอกเล่าถึงที่มาที่ไปของเพลงหงส์ฟาง
"แม้ทุกวันนี้จะไม่มีกิจกรรมเกี่ยวข้าว นวดข้าวแล้ว ผมก็ได้ฝึกเด็กๆ หลายโรงเรียนให้รู้จักว่าเพลงในสมัยก่อนรุ่นปู่ย่าตายายเป็นอย่างไร แล้วนำไปแสดงในงานต่างๆ"
การนำของเก่ากลับมาเผยแพร่ในยุค 'ดิจิตอล' ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเด็กๆ ส่วนใหญ่เรียนรู้เสพติดกับดักของ 'สื่ออิเล็กทรอนิกส์'
ลุงกาญจน์ กลับคิดสวนกระแส เดินสายไปขอฝึกสอนให้เด็กนักเรียนของโรงเรียนหนองเสม็ด โรงเรียนตะปอนน้อย โรงเรียนตะปอนใหญ่ โรงเรียนเทศบาลขลุง [บุรวิทยาคาร] รู้จักเพลงหงส์ฟาง
"ไม่ใช่เฉพาะเด็กนะที่ไม่ค่อยรับ แม้กระทั่งผู้ใหญ่ที่เคยร้องเพลงหงส์ฟางมาก่อนยังส่ายหน้าว่าในสมัยนี้ไม่มีใครเขาสนใจกันแล้ว"
แต่ลุงกาญจน์ก็ไม่ได้ย่อท้อ ใช้ความมุงมั่นนำทางแหวกพงหนามอุปสรรคด้วยความเพียรพยายามจนได้รับรางวัลแห่งความปลาบปลื้มใจ
"โรงเรียนเทศบาลขลุง [บุรวิทยาคาร] นำทำนองเพลงหงส์ฟางใส่เนื้อร้องเกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไปประกวดโครงการแฟนต้ายุวทูตแห่งประเทศไทย ครั้งที่ ๑๓ ปี ๒๕๕๑ จากจำนวนผู้เข้าประกวด ๑๔๐ ชุดการแสดง ได้รับรางวัลชนะเลิศถ้วยรางวัลพระราชทาน สมเด็จพระเทพฯ และเป็นตัวแทนไปเผยแพร่ศิลปะวัฒนธรรมไทยที่ประเทศญี่ปุ่น ถือเป็นความภาคภูมิใจที่สามารถปลุกเพลงพื้นบ้านของเราให้เป็นที่รู้จักของคนในยุคนี้ได้”
และวันนี้ภารกิจของลุงกาญจน์ คือร่วมกับคุณครูธิดา ปรางรัตน์ ฝึกสอนเด็กๆ โรงเรียนวัดตะปอนใหญ่ [เศวตวิทยาคาร] เป็นผู้สืบสานเพลงพื้นบ้าน วัฒนธรรมท้องถิ่นภาคตะวันออก
"เด็กๆ เหล่านี้ เพิ่งจะเริ่มฝึกกันได้ไม่ถึงอาทิตย์ดี ใช้ช่วงเวลาเลิกเรียนค่ะ พวกเขามีความตั้งใจดีมาก เวลาและความมุ่งมั่นของเด็กๆ คงจะทำให้พวกเขามีพัฒนาการทางด้านการแสดง การร้องได้ดีขึ้น"
ธิดา คุณครูประจำชั้นประถมปีที่ ๖ กล่าวอย่างมีความหวัง
ท่ามกลางกระแสไหลบ่าของวัฒนธรรมดิจิตอลและสื่ออิเล็กทรอนิกส์หลายรูปแบบ
เด็กไทยมากมายต่างพลัดหลงไปตามกระแส 'ของเล่นใหม่' เหล่านั้นแทบกู่ไม่กลับ
แต่น่ายินดีและชื่นชมที่เด็กๆ กลุ่มหนึ่งของโรงเรียนวัดตะปอนใหญ่ [เศวตวิทยาคาร]
ใช้เวลาที่ควรจะวิ่งเล่นหรืออยู่กับสื่ออิเล็กทรอนิกส์มามุ่งมั่นฝึกซ้อมเพลงหงส์ฟาง
สืบสานเพลงสมัยรุ่นปู่ย่าตายายเคยใช้ร้องเพิ่มความสนุกสนานบนลานนวดข้าว
แม้จะเป็นภารกิจที่หนักหนาเกินเรี่ยวแรงกำลังของเด็กๆ แต่โชคดีที่ยังมีผู้ใหญ่ให้การหนุนช่วย
ถือเป็นการ 'ลงแขก' ร่วมแรงใจของคนต่างวัยในยุคดิจิตอลที่น่าชื่นชมอย่างยิ่ง
"ผมไม่ท้อ แม้จะมีเสียงตอบรับน้อย ทำไปจนกว่าจะหมดแรงครับ"
ลุงกาญจน์ กรณีย์ กล่าวยืนยันอย่างหนักแน่น
แม้ดวงตาจะฝ้าฟางแต่ฉายแววแห่งความมุ่งมั่นของชายสูงวัยแห่งบ้านตะปอน อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี
---------------------------------------
• นักร้องและนักแสดง โรงเรียนวัดตะปอนใหญ่ [เศวตวิทยาคาร]
๑. ด.ญ.ทิพย์ลดา พาทีทิน ชั้นประถมปีที่ ๖ อายุ ๑๑ ขวบ [นักร้องนำหญิง]
๒. ด.ญ.ภูวดี ศรีสะอาด ชั้นประถมปีที่ ๖ อายุ ๑๑ ขวบ [ลูกคู่]
๓. ด.ช.วัชพล ศิริการ ชั้นประถมปีที่ ๖ อายุ ๑๑ ขวบ [นักแสดงชายและนักร้องนำชาย]
๔. ด.ช.ศุภวิชญ์ ดอกไม้ ชั้นประถมปีที่ ๖ อายุ ๑๑ ขวบ [นักแสดงชายและลูกคู่]
๕. ด.ญ.ทวิยา แก้วยอดยาง ชั้นประถมปีที่ ๔ อายุ ๙ ขวบ [นักแสดงหญิงและลูกคู่]
๖. ด.ญ.บุญญาพร รื่นรวย ชั้นประถมปีที่ ๖ อายุ ๑๑ ขวบ [นักแสดงหญิงและลูกคู่]
---------------------------------------
>>ข้อมูลบุคคล<<
กาญจน์ กรณีย์ ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอขลุง
ธิดา ปรางรัตน์ คุณครูประจำชั้นประถมปีที่ ๖ โรงเรียนวัดตะปอนใหญ่ [เศวตวิทยาคาร]
ด.ญ.ทิพย์ลดา พาทีทิน
ด.ญ.ภูวดี ศรีสะอาด
ด.ช.วัชพล ศิริการ
ด.ช.ศุภวิชญ์ ดอกไม้
ด.ญ.ทวิยา แก้วยอดยาง
ด.ญ.บุญญาพร รื่นรวย
>>ข้อมูลอ้างอิง<<
สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เล่มที่ ๓๔
ผาสุก หั้นเจริญ. เพลงพื้นบ้านจังหวัดจันทบุรี. จันทบุรี : โรงเรียนศรียานุสรณ์, ๒๕๔๐.
รับชมภาพการแสดงได้ที่ https://www.facebook.com/100006965987363/videos/pcb.1967094306866083/1967087063533474