วัดช่างทอง ตั้งอยู่เลขที่ ๑ หมู่ที่ ๕ ตำบลนาปะขอ อำเภอบางแก้ว จังหวัดพัทลุง อยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอ ไปทางทิศตะวันออกประมาณ ๖ กิโลเมตร สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ ๑๓ ไร่ ๓ งาน ๕๐ ตารางวา อาณาเขตทิศเหนือ ยาว ๔ เส้น ทิศใต้ยาว ๔ เส้น ทิศตะวันออกยาว ๔ เส้น ๑๐ วา ทิศตะวันตกยาว ๔ เส้น ติดต่อกับถนนสาธารณะ
วัดช่างทอง สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๕ เดิมเรียกวัดนี้ว่า “วัดช้างทอง” เป็นวัดโบราณ สร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ตามหลักฐานในทำเนียบวัดในจังหวัดพัทลุง ของพระครูอริยสังวร (เอียด) อดีตเจ้าคณะจังหวัดพัทลุง ตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จฯ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว วัดนี้ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น วันช่างทอง เนื่องจากนายช่างทองนี้เป็นผู้ที่ทำมาหากินอยู่ในหมู่บ้านและเป็นผู้นำในการสร้างวัดนี้ขึ้นมา จึงได้เรียกบ้านชื่อว่า บ้านช่างทอง
วัดช่างทอง ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๗
ศาสนสถาน
๑. อุโบสถ
เป็นอาคารฐานก่อด้วยอิฐถือปูน เสาและเครื่องบนสร้างด้วยไม้หลังคามุงด้วยกระเบื้อง ดินเผา ภายในมีพระประธานปูนปั้นปางมารวิชัย ๑ องค์ ศิลปะฝีมือช่างพื้นบ้านสมัยรัตนโกสินทร์ ด้านหน้าพระประธานมีพระพุทธรูปจำหลักหินอ่อนปางมารวิชัย ศิลปะแบบพม่า ๑ องค์
๒. ศาลาการเปรียญ
เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนฐานต่ำเครื่องบนสร้างด้วยไม้ ภายในมีพระประธาน ปูนปั้น ๓ องค์ ปางมารวิชัย ฝีมือช่างพื้นเมือง ด้านหลังของพระประธานมีพระพุทธรูปปูนปั้นชำรุด ๒ องค์ ฝีมือช่างพื้นเมือง ลักษณะสวยงาม ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น แต่สิ่งที่น่าสนใจที่สุดภายในศาลาการเปรียญหลังนี้ ได้แก่ พระพุทธรูป ๒ องค์ ซึ่งนำมาจากวัดสนฑาโท (ร้าง) ตำบล นาปะขอ เมื่อประมาณ ๗๐ ปีมาแล้ว พระพุทธรูปองค์ที่ ๑ ชาวบ้านเรียกว่า “พ่อท่านเฒ่า” เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย ลงรักปิดทอง ห่มจีวรเฉียง ไม่มีสังฆาฏิ พระศกและพระเกตุมาลาชำรุด พระพักตร์เป็นสี่เหลี่ยมเล็กน้อย มีไรพระศกเป็นเส้นเล็กๆ แบบศิลปะอยุธยาชาวบ้านนับถือว่าเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์มาก มีขนาดสูงจากฐานถึงพระเศียร ๘๘ เซนติเมตร หน้าตักกว้าง ๔๐ เซนติเมตร พระพุทธรูปองค์ที่ ๒ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทองปางมารวิชัย ประทับนั่งบนดอกบัว พระพักตร์เป็นรูปสี่เหลี่ยมมีไรพระศกเป็นเส้นเล็ก พระเกตุมาลาและพระศกหักหายไปสังฆาฏิยาวจรดพระนาภี พระอุทรพลุ้ยแบบพระสังกัจจายนะ จึงเข้าใจว่าพระพุทธรูปองค์นี้น่าจะเป็นพระสังกัจจายนะมากกว่ารูปพระพุทธเจ้า มีขนาดสูงรวมทั้งฐานบัว ๔๙ เซนติเมตร หน้าตักกว้าง ๓๐ เซนติเมตร ศิลปะสมัยอยุธยา
๓. พระพุทธรูปหล่อสำริด
พระพุทธรูป จำนวน ๒ องค์ เก็บไว้ที่กุฏิเจ้าอาวาส เดิมมีจำนวน ๓ องค์ ให้ทาง วัดตะโหมด ตำบลตะโหมด อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุงไป ๑ องค์ ทั้ง ๓ องค์ มีลักษณะเหมือนกัน คือ เป็นพระพุทธรูปศิลปะพม่าปางมารวิชัย ประดับนั่งชัดสมาธิเพชร องค์แรกมีขนาดหน้าตัก กว้าง ๒๖ เซนติเมตร สูง ๔๓ เชนติเมตร ที่ฐานมีจารึกไรว่า “คุณจรสร้างพระปฏิมากร พ.ศ.๒๔๔๒” องค์ที่ ๒ มีขนาดหน้าตักกว้าง ๒๕ เซนติเมตร สูง ๔๓ เซนติเมตร นอกจากนี้แล้วทางวัดยังเก็บรักษาสมุดข่อย คัมภีร์พระมาลัย พระอภิธรรมไว้หลายฉบับและพระพุทธรูปจำหลักไม้แบบทรงเครื่องใหญ่ ๑ องค์ ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์แต่อยู่ในสภาพชำรุดมาก
เจ้าอาวาสปัจจุบัน ชื่อ พระครูนิวิฐสุวรรณการ