ตามตำนานที่ผู้เฒ่าผู้แก่ได้เล่าสืบต่อกันมาว่า ชาวบ้านม่วงงามในปัจจุบัน มีบรรพบุรุษที่อพยพมาจากนครเวียงจันทร์ นำโดยพระเจ้าธรรมจินดาและขุนหลวงศรีขรภูมิ การอพยพครั้งนั้นได้แบ่งเป็น ๒ พวก พวกแรกพักอยู่ที่บ้านม่วงลาว ตำบลม่วงงาม อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี และอีกพวกพักอยู่ที่บ้านเวียง หรือวัดเวียง (ไม่ปรากฏนามผู้นำ) ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในปัจจุบัน
การอพยพครั้งนั้นก็จะมีการนำข้าวห่อพกติดตัวมากินตามทาง การห่อข้าวจะทำการห่อด้วยใบตองหรือใบทองกวาว ซึ่งเป็นใบไม้ขนาดใหญ่ ในข้าวห่อนั้นก็จะมีทั้งข้าวและกับบ้าง ก็ห่อข้าวเหนียวกับเนื้อเค็ม ปลาเค็ม ปูเค็ม บ้างก็ห่อข้าวจ้าวกับเนื้อเค็ม ปูเค็มหรือปลาเค็ม ซึ่งแล้วแต่ใครพอจะมีอะไรกินกัน เมื่อถึงเวลากินข้าวห่อทุกคนจะนำข้าวห่อของตนเองมาแลกเปลี่ยนกันกิน ซึ่งขุนหลวงศรีขรภูมิและพ่อเฒ่าโหมดลูกชาย ได้นำข้าวห่อนั้นมาถวายพระในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ และได้ทำเป็นประเพณีสืบต่อกันมา เมื่อถึงวันเพ็ญเดือนสิบ ชาวบ้านม่วงงาม (ม่วงลาว) จะนำข้าวห่อมาทำบุญที่วัด โดยข้าวห่อที่นำมาถวายพระนั้นจะทำเท่ากับจำนวนคนในครัวเรือนของตนและทำเพิ่มอีก ๑ ห่อ เพื่อทำบุญไปให้ ปู่ ย่า ตา ยาย ที่เสียชีวิตไปแล้ว โดยทางวัดจะจัดที่สำหรับวางข้าวห่อ ปู่ ย่า ตา ยาย ไว้ต่างหากข้าวห่อที่พระไม่ได้ฉันหรือฉันไม่หมด แม้กระทั่งใบตองที่ห่อนั้น ชาวบ้านจะนำไปทิ้งที่ไร่นาทั้งหมด จะไม่ปล่อยทิ้งไว้ที่วัด ซึ่งทำเช่นนี้กันมาประมาณ ๒๐๐ กว่าปีแล้ว