"พระพุทธบาทสูงค่า เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ฐานผลิตอุตสาหกรรม เกษตรนำล้ำแหล่งเที่ยว หนึ่งเดียวกะหรี่ปั๊บนมดี ประเพณีตักบาตรดอกไม้งาม เหลืองอร่ามทุ่งทานตะวัน ลือลั่นเมืองชุมทาง"
เมืองสระบุรี เดิมว่า ขุนสรบุรีปลัดตั้งใหม่เป็น พระสยามลาวบดีปลัด ตำแหน่งเจ้าเมืองในสมัยรัชกาลที่ 5 (พ.ศ.2435) มีการจัดรูปการปกครองใหม่เป็นเทศาภิบาล โดยจัดตั้งเป็นมณฑลเทศาภิบาล จังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ลดหลั่นกันลงไป เมืองสระบุรีขึ้นอยู่กับมณฑล กรุงเก่า มีการส่งข้าราชการมาปกครองแทนการตั้งเจ้าเมืองสำหรับที่ตั้งเมืองสระบุรีครั้งแรกไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่นอนคงทราบแต่เพียงว่าตั้งอยู่ที่หัวจวนบริเวณบึงหนองโง้ง ตำบลศาลารีลาว ปัจจุบันคือ ตำบลเมืองเก่า อำเภอเสาไห้ มีพระยาสระบุรี (เลี้ยง) เป็นเจ้าเมือง ปีพ.ศ. 2433 พระยาสระบุรี (เลี้ยง) ถึงแก่กรรม จ่าเริง เป็นเจ้าเมืองแทน ได้ย้ายศาลากลางเมืองสระบุรีไปอยู่ที่บ้านไผ่ล้อมน้อย อ.เสาไห้ ( บ้านเรือนที่เจ้าเมืองสร้างอยู่อาศัย คือ ศาลากลางเมือง ) จนถึงสมัยที่พระยาพิชัยรณรงค์สงครามเป็นเจ้าเมืองเห็นว่า ตัวเมืองเดิมที่เสาไห้อยู่ห่างไกลจากทางรถไฟมาก (รัชกาลที่ 5 ได้โปรดให้สร้างทางรถไฟ สายตะวันออกเฉียงเหนือ ขึ้นมาถึงเมืองสระบุรี เมื่อพ.ศ.2439) ประกอบกับภูมิประเทศไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ในสมัยนั้น ยากแก่การขยายเมืองในอนาคต จึงได้สร้างศาลาขึ้นใหม่ ณ บริเวณตำบลปากเพรียว การก่อสร้างเสร็จในสมัยเจ้าเมืองคนที่ 3 คือ พระยาบุรีสราธิการ ดอกไม้ประจำจังหวัด คือ ดอกสุพรรณิการ์
จังหวัดสระบุรี เป็นจังหวัดในภาคกลางของประเทศไทย นับเป็นเสมือนด่านผ่านระหว่างภาคกลางกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีประวัติศาสตร์เก่าแก่ มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ และพรั่งพร้อมด้วยแหล่งท่องเที่ยวมากมาย จังหวัดสระบุรีมีพื้นที่ติดต่อกับจังหวัดทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง ได้แก่ ตอนเหนือติดกับจังหวัดลพบุรี ทางตะวันออกติดกับนครราชสีมา ทางใต้ติดกับนครนายก ปทุมธานี และพระนครศรีอยุธยา ส่วนทางตะวันตกติดกับพระนครศรีอยุธยาและลพบุรี