๑. ความเป็นมา
ชุมชนคุณธรรมวัดมงคลชัยพัฒนาประกอบด้วยชุมชนโดยรอบวัดมงคลชัยพัฒนา ซึ่งเดิมชื่อวัดมงคล สร้างขึ้นช่วงปลายรัชกาลที่ ๔ (ประมาณพุทธศักราช ๒๔๗๐) ในพื้นที่ที่อยู่เลขที่ ๔๕ ตำบลห้วยบง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งแรกในรัชกาลที่ ๗ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๗๔ และครั้งที่สองเมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๒๘
มีอาณาเขตติดต่อกับเขตที่ดินข้างเคียง ดังนี้
ทิศเหนือ : ติดต่อกับที่ดินของนางจันทร์ โล่เงิน และทางสาธารณะ
ทิศใต้ : ติดต่อกับเขตที่ดินของนางศรีวภา แม้นบุตร
ทิศตะวันออก : ติดต่อที่ดินของนายเนย สาบุตร และทางสาธารณะ
ทิศตะวันตก : ติดต่อกับเขตที่ดินของนายสมจิตร ท้าวครุฑ และเขตที่ดินแปลงทฤษฎีใหม่พระราชทาน
๒. ผลการวิเคราะห์ศักยภาพชุมชน (จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และ ภัยคุกคามSWOT)
จุดแข็ง: เป็นชุมชนที่ทำนุบำรุงศาสนสถานในชุมชนด้วยดีมาโดยตลอด
จุดอ่อน: เป็นชุมชนที่มีครอบครัวใหม่ หรือกลุ่มคนวัยกลางคนส่วนใหญ่ทำงานเอกชน และทำงานโรงงาน มีการทำเกษตรน้อยลง ทำให้ไม่มีเวลาว่างในการร่วมกิจกรรมศาสนพิธี หรือกิจกรรมส่วนรวมอื่นๆ
โอกาส: ชุมชนอยู่ในพื้นที่ที่ดินแปลงทฤษฎีใหม่ ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทำให้เป็นแหล่งการเรียนรู้ด้านการเกษตร สามารถนำหลักธรรมในพระพุทธศาสนามาบูรณาการร่วมกับแนวทางพระราชดำริ “ทฤษฎีใหม่” ดังพระราชทานแนวพระราชดำริ “บ้าน วัด โรงเรียน” หรือ “บวร” เมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๒๔ ให้แก่ส่วนราชการและภาครัฐจากหน่วยงานต่างๆ นำไปแก้ไขปัญหาสังคมในปัจจุบันและในอนาคตให้เกิดความสุขสงบได้อย่างยั่งยืน
ภัยคุกคาม: เนื่องจากถือได้ว่าชุมชนวัดมงคลชัยพัฒนา เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่งในจังหวัดสระบุรี ทำให้มีนักท่องเที่ยวทั้งคนไทย และคนต่างประเทศหมุนเวียนเข้ามาศึกษาและเยี่ยมชมแนวทางพระราชดำริ “ทฤษฎีใหม่” อย่างต่อเนื่อง มีทั้งที่มาเป็นหมู่คณะ และเดินทางมาเอง บางครั้งที่นักท่องเที่ยวมาเป็นจำนวนมากอาจเป็นปัญหาทำให้เกิดความสกปรกไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย
๓. สภาพปัญหาและวิเคราะห์ปัญหา / วิเคราะห์การส่งเสริมชุมชน
สภาพปัญหา: การสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนและเยาวชน ในการดำเนินชีวิตด้วยการนำจริยธรรมและคุณธรรมนำชีวิตให้มีความสุขตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สร้างความสงบสุขแก่ประเทศชาติ
วิเคราะห์ปัญหา: การเผยแพร่โดยการปฏิบัติ เพื่อสร้างความตระหนักในการนำจริยธรรมและคุณธรรมนำชีวิตให้มีความสุขตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และสร้างความสงบสุขแก่ประเทศชาติ ไม่เข้าถึงทุกครอบครัวและครัวเรือน จึงทำให้ขาดพลังมวลชนในการผลักดันการปฏิบัติตามหลักการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้เป็นผลสัมฤทธิ์ได้อย่างยั่งยืน
วิเคราะห์การส่งเสริมชุมชน: ชุมชนควรมีกิจกรรมที่หลากหลาย สามารถดึงประชาชนและเยาวชนให้เข้าร่วมกิจกรรม/การปฏิบัติเพื่อสร้างความตระหนักในการนำจริยธรรมและคุณธรรมนำชีวิตให้มีความสุขตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้โดยความสนใจ และสมัครใจของประชาชนเอง