ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 7° 37' 5.9999"
7.6183333
ลองจิจูด (แวง) : E 100° 4' 23.9999"
100.0733333
เลขที่ : 196262
ถ้ำคูหาสวรรค์
เสนอโดย พัทลุง วันที่ 18 มีนาคม 2565
อนุมัติโดย พัทลุง วันที่ 5 มกราคม 2566
จังหวัด : พัทลุง
0 483
รายละเอียด
1. ชื่อ ถ้ำคูหาสวรรค์

2. ประวัติ

ถ้ำคูหาสวรรค์ตั้งอยู่เชิงเขา ภายในวัดคูหาสวรรค์ ชาวบ้านนิยมเรียกว่า วัดคูหาสูง หรือวัดสูง เนื่องจากบริเวณตั้งวัดอยู่บนเชิงเขาเป็นที่สูง ปากถ้ำหันทางทิศเหนือ เดิมชาวบ้านเรียกว่า
ถ้ำน้ำเงิน หรือ ถ้ำพระ ส่วนชื่อคูหาสวรรค์ เชื่อว่าน่าจะมีการเรียกมาอย่างน้อยตั้งแต่สมัยพระเอกาทศรถ ถ้ำมีขนาดกว้าง 18 เมตร ยาว 28 เมตร สูงเป็นเวิ้งรูปกรวย ตอนบนมีหินงอกคล้ายรูปช้าง ชาวบ้านเรียกว่า ช้างผุดหรือหินสับแล พื้นถ้ำปูด้วยอิฐถือปูนมีเจดีย์เล็ก ๆ หนึ่งองค์ มีพระพุทธรูปปูนปั้นและปั้นด้วยดินเหนียวเรียงแถวเป็นระเบียบทางด้านทิศเหนือ ทิศใต้และทิศตะวันตก รวม ๓๗ องค์ มีขนาดต่างๆ กัน หน้าตักกว้างตั้งแต่ 0.50 - 1.50 เมตรพระพุทธรูปขนาดใหญ่ปางมารวิชัย 1 องค์ ขนาดหน้าตักกว้าง 3.36 เมตร สูงตลอดรัศมี 6 เมตร ด้านซ้ายของผนังถ้ำมีพระพุทธรูปปูนปั้นปางไสยาสน์ 1 องค์ ขนาดยาว 12 เมตร สูง 2 เมตร พระพุทธรูปเหล่านี้ตามประวัติว่า พระมุนี (สมเด็จพะโคะหรือหลวงพ่อทวด วัดช้างให้)ได้ร่วมกันสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา จำนวน 20 องค์

ต่อมาสมัยรัตนโกสินทร์ ได้รับการบูรณะและต่อเติมพระพุทธรูปขึ้นอีก 17 องค์ ด้านทิศตะวันออกของเศียรพระไสยาสน์ มีกรุพระพิมพ์ที่ชาวบ้านได้ขุดพบพระแบบต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก มีทั้งพระจำหลักไม้ พระพุทธรูปปูนปั้นพระสำริดและพระพิมพ์ดินดิบสมัยศรีวิชัย ชาวบ้านเรียกว่า พระผีทำ ปากถ้ำ มีหินเป็นชั้นกั้นติดกับหินปากถ้ำ สูงประมาณ ๒ เมตร ชาวบ้านเรียกว่า หัวทรพี ตรงกันข้ามกับหัวทรพี มีรูปฤาษีตาไฟปูนปั้น 1 องค์ มีตำนานว่า นางเลือดขาวกับเจ้ากุมารสร้างขึ้นแทนอนุสาวรีย์ตาสามโมกับยายเพชรและได้บรรจุอัฐิของ ตายายทั้ง 2 ไว้ภายใน ชาวบ้านถือว่าศักดิ์สิทธิ์มาก มีการบนปิดทองกันเต็มทั้งสององค์จนไม่สามารถเห็นลักษณะแท้จริงได้ เคยได้รับการบูรณะมาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อ พ.ศ.2468 เหนือรูปฤาษีตาไฟขึ้นไปตามเพิงผาหน้าถ้ำมีจารึกพระนามย่อพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์และเจ้านายเชื้อพระวงศ์ที่เคยเสด็จประพาส ส่วนวัดคูหาสวรรค์ซึ่งเป็นที่ตั้งของถ้ำนั้น ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างเมื่อใด แต่ตามตำนานนางเลือดขาวระบุว่า เมื่อตาสามโมกับยายเพชรถึงแก่กรรมแล้ว กุมารกับนางเลือดขาวให้นำอัฐิของท่านทั้ง 2 ไปเก็บไว้ในถ้ำคูหาสวรรค์

3. สิ่งสำคัญ

1. พระพุทธรูปปูนปั้นและปั้นด้วยดินเหนียวเรียงแถวเป็นระเบียบทางด้านทิศเหนือ ทิศใต้และทิศตะวันตก รวม 37 องค์ มีขนาดต่าง ๆ กัน หน้าตักกว้างตั้งแต่ 0.50-1.50 เมตร

2. พระพุทธรูปขนาดใหญ่ปางมารวิชัย 1 องค์ ขนาดหน้าตักกว้าง 3.36 เมตร สูงตลอดรัศมี 6 เมตร

3. พระพุทธรูปปูนปั้นปางไสยาสน์ 1 องค์ ขนาดยาว 12 เมตร สูง 2 เมตร หันพระเศียรไปทางทิศตะวันออก ผินพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ

4. พระพิมพ์ดินดิบ

5. จารึกพระนามย่อพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์และเจ้านายเชื้อพระวงศ์ที่เคยเสด็จ ประพาสเรียงตามลำดับดังนี้

จปร.ด08 (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)

ปปร.25/10/2471 (พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว)

บส.30/10/73 (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์

กรมพระนครสวรรค์วรพินิจ)

ภปร.ด๗/๓/๒๕๐๒ (พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช)

6. รอยพระพุทธบาทจำลองสำริด ตั้งอยู่บนไหล่เขาค้านบนของถ้ำพระ สูงขึ้นไปประมาณ 30 เมตร สร้างโดยนายฮวดและนายขิ้ม แซ่สอ เมื่อปี พ.ศ. 2571

7. ถ้ำนางคลอด ตั้งอยู่ใกล้ประตูวัด ปากถ้ำสร้างเป็นอาคารไม้ หลังคาฉาบปูนแบ่งเป็นห้องต่างระดับกันหลายห้อง ภายในห้องต่างๆ มีประเดิม มีประติมากรรมปูนปั้นภายในห้อง อาทิ กลุ่มประติมากรรมรูปภิกษุ 4 องค์ซักผ้าบังสุกุลจากโลงศพ กลุ่มประติมากรรมพุทธประวัติดอนเสด็จประทับ ณ ป่าเลไลยก์ กลุ่มประติมากรรมรูปพระยายมราชพิจารณาความดีความชั่ว ประติมากรรมรูปพระสังกัจจายน์ ประติมากรรมรูปเหมือนพ่อท่านคล้าย คูหาสุโย เป็นต้น

4. การกำหนดอายุสมัย

แรมเริ่มประวัติศาสตร์,อยุธยา,รัตนโกสินทร์

5. การประกาศขึ้นทะเบียน

กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 หน้า 3694
วันที่ 8 มีนาคม 2478

6. ประวัติการอนุรักษ์

พ.ศ. 2478 กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน

หมวดหมู่
โบราณสถาน
สถานที่ตั้ง
ถ้ำคูหาสวรรค์
ตำบล คูหาสวรรค์ อำเภอ เมืองพัทลุง จังหวัด พัทลุง
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
โบราณสถานและเเหล่งโบราณคดี จังหวัดพัทลุง.(หน้า 7). สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพัทลุง
บุคคลอ้างอิง นางสาววนัธศนันท์ ดุษฎีศุภการย์ อีเมล์ easting17@hotmail.com
ชื่อที่ทำงาน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพัทลุง
อำเภอ เมืองพัทลุง จังหวัด พัทลุง รหัสไปรษณีย์ 93000
โทรศัพท์ 074617958 โทรสาร 0741617959
เว็บไซต์ https://www.m-culture.go.th/phatthalung/main.php?filename=index
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่