ผ้าซิ่นเก็บลายก้ามปู ของ “ครูเจี๊ยบ” หรือ นางสุพัตรา ชูชม ครูช่างศิลปหัตถกรรม ที่ได้รับการเชิดชูเกียรติ จากศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ ในนาม ครูช่างศิลป์ประเภทเครื่องทอ (ผ้าซิ่นตีนจกไทยวน- เสาไห้สระบุรี) เป็นผ้าซิ่นที่แกะลวดลายการทอจากลายเก็บ (จก) ของผ้าเก่าอายุกว่า 250 ปี ที่ อาจารย์ทรงชัย วรรณกุล ปราชญ์ชาวไทยวนสระบุรี รุ่นที่ 5 ได้ทำการเสาะหาและเก็บรวบรวมไว้ตั้งแต่ครั้งยังมีชีวิตอยู่ โดยเก็บไว้ใน “หอวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยวนสระบุรี”
ผ้าทอลายก้ามปู ของชาวไทยวนมีอายุมากกว่า 250 ปี ด้วยความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ช่างทอในสมัยนั้นได้ถอดแบบมาจากลายปูนปั้นประดับเจดีย์ เป็นพุทธบูชาที่เชื่อว่าเป็นสิริมงคลแก่ผู้นุ่งห่ม และเชื่อกันว่าผ้าทอลายก้ามปูเป็นหนึ่งในลวดลายที่ใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มของชาวไทยวนที่เป็นชนชั้นสูง ในสมัยนั้น
อัตลักษณ์ลวดลายตีนซิ่น ไทยวนสระบุรี จะใช้สีแดงเป็นหลักเสมอ ด้วยมีความเชื่อว่า “สีแดง” นั้นหมายความถึง สวรรคภูมิ ที่ชาวไทยวนเชื่อว่าสุดท้ายเมื่อสิ้นลมหายใจทุกคนก็อยากจะไปสู่สรวงสวรรค์ แต่ผู้หญิงไม่สามารถที่จะบวชเรียนเพื่อศึกษาธรรมะ อันเป็นหนทางไปสู่สวรรค์ได้ ดังนั้น ความมานะพยายามในการทอผ้าจึงเป็นบทพิสูจน์ว่าเป็น แม่หญิง ที่สมบูรณ์พร้อมจะออกเรือน ได้เสมือนเป็นหลักสูตรการเรียน เทียบเท่ากับการบวชเรียน นั่นเอง
“สีแดง” หมายความถึง สวรรคภูมิ
“สี่เหลี่ยม” ตรงกลาง หมายถึง เขาพระสุเมรุ ที่ซึ่งเราทุกคนต่างต้องการไปให้ถึงเพื่อเข้าเฝ้า “พระเกตุแก้ว จุฬามณี” สิ่งเคารพสูงสุดของชาวไทยวน เช่นเดียวกับการเกล้ามวยผมและมีดอกไม้เสียบบูชาบนกระหม่อมก็เพราะชาวไทยวนมีความเชื่อว่า “พระเกตุแก้ว” ตั้งอยู่บนกระหม่อมเช่นกัน ลายประกอบ ที่รายล้อมอยู่เปรียบเสมือนเป็น “มหานทีสีทันดร” แม่น้ำที่ขวางกั้นเปรียบได้ดั่งอุปสรรคต่าง ในชีวิตที่ต้องฝ่าฟันก้าวข้ามผ่านไปให้ได้ ส่วนล่างสุดคือ “สะเปา” หรือ เรือสำเภา ที่ซึ่งจะบรรทุกผู้กระทำความดีด้วย ความตั้งมั่นเท่านั้นให้แล่นผ่านทุกอุปสรรคไปยังเขาพระสุเมรุได้
ปลายสุดของตีนซิ่นจะเป็นสีเหลืองเรียกว่า “เล็บเหลือง” ที่เป็นสิ่งสะท้อนถึง "ความประณีต" ในการทอผ้าของแม่หญิงแต่ละคนว่าจะมีความสามารถทอผ้าได้เรียบร้อยขนาดไหน (หอวัฒนธรรมพื้นบ้านไทยวน สระบุรี. 2564)