นายพิเนตร น้อยพุทธา : ปราชญ์ชาวบ้าน ด้านภาษาและวรรณกรรม
เกิดเมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๔๘๐ ณ บ้านเลขที่ ๔ หมู่ ๔ ตำบลห้วยป่าหวาย อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี
เป็นปราชญ์ชาวบ้านไท-ยวน และเป็นผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรม ประเพณีไท-ยวน เป็นอย่างมาก ซึ่งนายพิเนตรก็ได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับภาษาไท-ยวน ไว้เพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้แก่ผู้สนใจศึกษาวิถีชีวิตไท-ยวน ด้วย
ประวัติการทำงาน
ขณะบวชอยู่สอบได้นักธรรมชั้นเอก เปรียญ ๕ ประโยค สอบ (เทียบ) ได้เตรียมอุดมศึกษา แผนกอักษรศาสตร์ วิชาครูประโยคครูพิเศษประถม(พ.ป.) เมื่อลาสิกขาแล้วไปเป็นครูจัตวา อันดับ ๒ ที่โรงเรียนวัดเทพลีลา(สิงห์ประสิทธิวิทยา) อำเภอบางกะปิ จังหวัดพระนคร
พ.ศ.๒๕๐๘ ย้ายมาเป็นครูที่โรงเรียนเสาไห้
พ.ศ.๒๕๒๑ โอนไปดำรงตำแหน่งอาจารย์ ๑ ระดับ ๔ โรงเรียนเสาไห้“วิมลวิทยานุกูล” อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี เกษียณอายุราชการที่โรงเรียนนี้ในตำแหน่งอาจารย์ ๒ ระดับ ๗ เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม
พ.ศ.๒๕๔๐ ในระหว่างรับราชการครูอยู่นี้ได้ศึกษาเพิ่มเติม
พ.ศ.๒๕๐๑ สอบได้ประกาศนียบัตรประโยคครูมัธยม
พ.ศ.๒๕๑๖– ๒๕๑๘ ศึกษาต่อระดับปริญญาตรีที่คณะครุศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้วุฒิครุศาสตรบัณฑิต
นายพิเนตร น้อยพุทธา สมรสกับนางกาญจนา น้อยพุทธา(ศิริคุปต์) เมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๑๖ มีบุตรสองคน คือ นายศิริพุทธ น้อยพุทธา และนายสุทธิพันธุ์ น้อยพุทธา
ด้านการพูด
ได้รับมอบหมายให้เป็นโฆษก และพิธีการในงานต่าง ๆ ตลอดมา และได้รับเชิญให้บรรยายเรื่องวัฒนธรรม ศีลธรรมหลายครั้ง เช่น
พ.ศ.๒๕๓๐ เป็นวิทยากรบรรยายเรื่องวัฒนธรรมในโอกาสจัดตั้งหมู่บ้านแผ่นดินธรรม-แผ่นดินทอง ในท้องถิ่นอำเภอเสาไห้จังหวัดสระบุรีเก้าครั้ง
พ.ศ.๒๕๓๑ บรรยายเรื่องวัฒนธรรมท้องถิ่น อำเภอหนองแซงจังหวัดสระบุรีสามครั้ง
พ.ศ.๒๕๓๑ บรรยายเรื่องศีลธรรมที่วัดสูง อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรีหนึ่งครั้ง
พ.ศ.๒๕๓๒ บรรยายเรื่องมารยาทไทยและศาสนาพิธีให้แก่ครูประถมศึกษา อำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรีหนึ่งครั้ง
พ.ศ.๒๕๓๒ บรรยายเรื่อง วัฒนธรรมไทยยวนสระบุรี ให้นิสิตปริญญาโทจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่หมู่บ้านต้นตาลหนึ่งครั้ง
พ.ศ.๒๕๓๕ บรรยายเรื่องวัฒนธรรมและภูมิปัญญาชาวบ้านให้คณะครู-อาจารย์โรงเรียนเสาไห้“วิมลวิทยานุกูล” และคณะครู-อาจารย์โรงเรียนสุธีวิทยา จังหวัดสระบุรี สองครั้ง
พ.ศ.๒๕๓๗ บรรยายเรื่องวัฒนธรรมให้คณะครู-อาจารย์โรงเรียนสระบุรีวิทยาคมหนึ่งครั้ง
พ.ศ.๒๕๓๙ บรรยายเรื่องการพูด-การเทศน์ แก่คณะสงฆ์สระบุรีสี่รุ่นรวม ๑๕๙ รูป และ อภิปรายธรรมที่วัดหัวลำ อำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรีหนึ่งครั้ง วันที่ ๓๐ พฤษภาคม
พ.ศ.๒๕๔๐ ร่วมสนทนาเรื่อง เสาร้องไห้ รายการ“ชมรมขนหัวลุก” สถานีโทรทัศน์ช่อง ๕
ด้านการเขียน
นายพิเนตร น้อยพุทธา ได้เขียนเรื่องวัฒนธรรม จริยธรรม สารคดีท้องถิ่น เป็นหนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพและงานฌาปนกิจศพ จำนวน ๑๐ เล่ม และได้เขียนหนังสื่ออื่น ๆ อีก จำนวน ๑๗ เล่ม อาทิเช่น ไทยยวนสระบุรี ภาษายวนหนังสือยวน การพูดเพื่อจรรโลใจ พื้นบ้าน- เสาไห้คะนึงธรรม และพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน
นอกจากนี้ นายพิเนตร น้อยพุทธา ยังเคยเขียนบทความเรื่องวัฒนธรรมลงในวารสาร จุลสารต่าง ๆ เช่น สารสานวัฒนธรรมไทย วารสารคุรุปปริทัศน์ วารสารนักพูด วารสารวิทยาจารย์ จุลสารอิทัปปัจจยตา วรรณกรรมสำหรับเยาวชนชุดดำรงไทย จุลสารชมรมไทยยวนสระบุรี
ด้านงานพิพิธภัณฑ์
นายพิเนตร น้อยพุทธา ได้ริเริ่มจัดตั้งพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านที่โรงเรียนเสาไห้ “วิมลวิทยานุกูล” อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี ได้รวบรวมสิ่งของ เครื่องใช้ และวัตถุโบราณมากมาย เช่น อุปกรณ์ทำนา เครื่องจักสาน อุปกรณ์การดักจับสัตว์นํ้า ดนตรีพื้นบ้าน สมุดข่อย ตำราสมุนไพร ตำราหมอดู คาถาอาคมต่าง ๆ คัมภีร์ใบลานทั้งคำสอนและชาดกจารด้วยอักษรไทยยวน และอักษรขอม เครื่องรางของขลังชนิดต่าง ๆ ผ้าเก่า และตะเกียงชนิดต่าง ๆ เพื่อให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ได้ศึกษาหาความรู้ ปลูกฝังให้รัก หวงแหน ช่วยกันบำรุงรักษาสืบทอดไว้ตลอดไป
นายพิเนตร น้อยพุทธา เป็นตัวอย่างที่ดีในการครองชีวิต ต่อสู้ ดิ้นรนเพื่อความก้าวหน้า เป็นนักพูด นักเขียน นักสะสม ที่อนุชนรุ่นหลัง ควรเอาเยี่ยงอย่างจึงสมควรได้รับการยกย่องเป็นเกียรติสืบไป