ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 17° 13' 48.3255"
17.23009042849819
ลองจิจูด (แวง) : E 104° 14' 1.6612"
104.23379477656249
เลขที่ : 162793
อัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง
เสนอโดย สกลนคร วันที่ 4 ตุลาคม 2555
อนุมัติโดย สกลนคร วันที่ 20 ตุลาคม 2555
จังหวัด : สกลนคร
2 1936
รายละเอียด

อัครสังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง ได้รับแต่งตั้งเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม ค.ศ.1950 (พ.ศ.2493) เรียกว่า “มิสซังท่าแร่”ซึ่งครอบคลุมภาคอีสานทั้งหมดของประเทศไทย (รวมถึงนครราชสีมาที่มอบให้อยู่ในความดูแลของมิสซังกรุงเทพฯ เป็นการชั่วคราว)ก่อนหน้าที่จะแยกออกเป็น 3 มิสซังในเวลาต่อมา คือ เทียบเท่ามิสซังอุดรธานี (Prefecture)มิสซังอุบลธานี และมิสซังท่าแร่ ได้รับแต่งตั้งเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ค.ศ.1953 (พ.ศ.2496)ต่อมามิสซังท่าแร่ได้รับยกฐานะเป็น “สังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง” เมื่อวันที่ 25มีนาคม ค.ศ.1960 (พ.ศ.2503)โดยเพิ่มชื่อ “หนองแสง”เข้ามาในฐานะที่หนองแสงเคยเป็นศูนย์กลางมิสซังในระยะเริ่มแรก และได้รับการสถาปนาพระฐานานุกรมเป็น “สังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง”เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม ค.ศ.1965 (พ.ศ.2508)

อย่างไรก็ดี สังฆมณฑลท่าแร่-หนองแสง มีประวัติความเป็นมายาวนานพร้อมกับการเข้ามาของคริสตศาสนาในภาคอีสานของประเทศไทย อันเป็นที่มาของบทความนี้ โดยมุ่งศึกษาถึงความเป็นมาในอดีตในระยะเริ่มแรกจนถึงปี ค.ศ.1950 (พ.ศ.2493)เพื่อจะได้ทราบถึงประวัติความเป็นมา และการถือกำเนิดขึ้นของพระศาสนจักรท้องถิ่นแห่งนี้ อีกทั้งจะเป็นอนุสติเตือนใจให้บรรดาพระสงฆ์ นักบวช และผู้แพร่ธรรมทั้งหลายในปัจจุบันให้มีความหวัง เมื่อได้เห็นว่า หยาดเหงื่อแรงกายของมิชชันนารีในอดีตที่ได้ทุ่มเทอุทิศให้แก่พระศาสนจักรอีสานนั้น ได้เกิดดอกออกผลมากมายและเป็นแรงบันดาลใจสำหรับอนุชนรุ่นหลังให้ก้าวเดินต่อไป แม้จะมีความยากลำบากเพียงใดก็ตาม

1. การเข้ามาของคริสต์ศาสนาในภาคอีสาน

ในอดีตดินแดนที่เรียกว่า “ภาคอีสาน”ปัจจุบัน เคยตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของขอม ซึ่งยังปรากฎร่องรอยทางวัฒนธรรมให้เห็นในรูปของปราสาท ปรางค์ กู่ และโบราณสถานต่างๆ โดยเฉพาะในเขตอีสานใต้ ในช่วงปี ค.ศ.1353-1707 (พ.ศ.1896-2250)ภาคอีสานถือเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านช้าง โดยมีหลวงพระบางเป็นราชธานี ซึ่งต่อมาภายหลังเปลี่ยนเป็นเวียงจันทน์และจำปาศักดิ์ตามลำดับ การปกครองของคนอีสานได้สืบทอดเป็นจารีตประเพณีเรื่อยมา ซึ่งคณะผู้ปกครองสูงสุดเรียกว่า “อาญาสี่” มี 4 ตำแหน่ง คือ เจ้าเมือง อุปฮาด ราชวงศ์ และราชบุตร จนขึ้นอยู่กับกรุงธนบุรีภายใต้การปกครองของพระเจ้าตากสินและสืบเนื่องถึงรัตนโกสินทร์ จนกระทั่งถึงปี ค.ศ.1890 (พ.ศ.2433)ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้จัดระบบการปกครองใหม่โดยแบ่งภาคอีสานออกเป็น 4 เขต ได้แก่ นครจำปาศักดิ์ เมืองอุบลราชธานี เมืองหนองคายและนครราชสีมาภายใต้การปกครองของข้าหลวง อันเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ฝรั่งเศสได้แผ่อิทธิพลเข้ามาในเขมรและเวียดนามในปีต่อมา คือปี ค.ศ.1891 (พ.ศ.2434)จึงได้โปรดเกล้าให้พระเจ้าน้องยาเธอ 3 พระองค์ไปเป็นข้าหลวงใหญ่ต่างพระองค์สำเร็จราชการหัวเมืองอีสาน เพื่อป้องกันการแทรกแซงจากฝรั่งเศสและปรับปรุงระบบการบริหารงานให้รัดกุมยิ่งขึ้น คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงพิชิตปรีชากร ดูแลหัวเมืองลาวกาว ประจำที่นครจำปาศักดิ์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ดูแลหัวเมืองลาวพวน ประจำที่เมืองหนองคาย และ พระเจ้าบรมวงศ์กรมหลวงสรรพสิทธิ์ประสงค์ ดูแลหัวเมืองลาวกลาง ประจำที่นครราชสีมา

ภาคอีสานก่อนหน้าที่คริสต์ศาสนาจะแผ่ขยายเข้ามานั้นมีศาสนาอยู่แล้ว คือศาสนาผีหรือวิญญาณ อันเป็นความเชื่อดั้งเดิมของคนอีสาน เช่น ผีปู่ตา ผีฟ้า ผีเชื้อ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลรักษาคนในครอบครัวหรือหมู่บ้าน และมีบทบาทในการลงโทษคนที่กระทำความผิดโดยอาศัยคนกลางที่เรียกว่า “จ้ำ” คนอีสานจึงตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของผี นอกจากนั้นยังมีผีร้ายอีกประเภทหนึ่งที่เรียกว่า “ผีปอป”พวกที่ถูกกล่าวหาว่าเป็น “ผีปอป”จะอยู่ร่วมกับคนอื่นไม่ได้ ทั้งนี้ก็เพราะเชื่อกันว่า ผีปอปเป็นผีที่กินตับไตไส้พุงของผู้คน ทำให้ถึงแก่ความตายจนเป็นที่เกรงกลัวและรังเกียจของสังคมด้วยเหตุนี้ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหนจึงมักถูกขับไล่อยู่ตลอดเวลา บางแห่งรุนแรงถึงขั้นขว้างปาหรือเผาบ้านเรือน

ส่วนพุทธศาสนาเพิ่งจะเข้ามามีอิทธิพลในภายหลัง แต่ก็สามารถผสมผสานให้เข้ากับความเชื่อดั้งเดิมของคนอีสานได้อย่างกลมกลืน เป็นพระพุทธศาสนาที่ปะปนอยู่กับความเชื่อเรื่องผีและเป็นที่ยอมรับของคนทุกระดับตั้งแต่ชนชั้นปกครองลงไปถึงราษฎร โดยได้รับการถ่ายทอดสืบต่อกันมาในรูปของ

ธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ความเชื่อเรื่องผีที่ปะปนอยู่กับความเชื่อในพระพุทธศาสนาของผู้คนในดินแดนอีสานในลักษณะดังกล่าว นับว่ามีส่วนอย่างสำคัญต่อการกลับใจเป็นคริสตชนของคนอีสานในเวลาต่อมา

1.1 ความพยายามในระยะเริ่มแรก

ความพยายามที่จะส่งมิชชันนารีออกไปประกาศศาสนาในภาคอีสานเริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ.1640 (พ.ศ.2183)โดย คุณพ่อเลเรีย (LERIE)คณะเยซูอิตจากประเทศฟิลิปปินส์ได้เดินทางมาอยุธยาเพื่อเดินทางไปลาวแต่ไม่ได้รับอนุญาตจึงเดินทางไปเขมร และเดินทางจากเขมรขึ้นไปเวียงจันทน์ในปี ค.ศ.1642 (พ.ศ.2185)โดยพำนักอยู่ในลาวเป็นเวลาถึง 5 ปี แต่เราไม่มีหลักฐานงานแพร่ธรรมของคุณพ่อเท่าไรนัก ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา พระสังฆราชลาโน (Louis LANEAU: 1674-1696)ได้ส่ง คุณพ่อโกรส (GROSSE)และ คุณพ่ออังเยโล (ANGELO) ให้เป็นผู้เผยแผ่ศาสนาในประเทศลาวโดยเดินทางไปสุโขทัยและนครไทย แต่ทั้งสองท่านได้ถึงแก่มรณภาพก่อนที่จะไปถึงประเทศลาว ในปีค.ศ.1773 (พ.ศ.2316)พระสังฆราชเรเดอเรต์ (REYDERET) ประมุขมิสซังตังเกี๋ยตะวันตกได้ให้ครูคำสอน 2 คนไปสำรวจดูประเทศลาว และเลือกหาหมู่บ้านที่เหมาะสมสำหรับการแพร่ธรรมโดยเดินทางไปถึงเชียงขวาง ในปี ค.ศ.1842 (พ.ศ.2385) คุณพ่อแวร์เนท์ (VERNHET)มีความตั้งใจที่จะเดินทางไปแพร่ธรรมในภาคอีสานโดยเดินทางไปถึงพิษณุโลกแต่ที่สุดได้ล้มเลิกความตั้งใจ ต่อมาเมื่อแบ่งเขตมิสซังและตั้งมิสซังเขมรในปี ค.ศ.1850 (พ.ศ.2393)พระสังฆราชมิช (MICHE)ประมุของค์แรกของมิสซังเขมรได้รับมอบหมายให้ดูแลงานแพร่ธรรมในล้านช้าง ได้พยายามส่งมิชชันนารีไปประเทศลาวในปี ค.ศ.1852 (พ.ศ.2395) แต่เข้าไปไม่ได้ ในปี ค.ศ.1855 (พ.ศ.2398)ได้พยายามส่งคุณพ่อโอโซเลย (AUSSOLEIL)และคุณพ่อทรีแอร์ (TRIAERE)ไปหลวงพระบางโดยผ่านทางประเทศสยามไปถึงน่านและเป็นไข้มาลาเรียถึงแก่มรณภาพไปไม่ถึงหลวง พระบาง

ในปี ค.ศ.1866 (พ.ศ.2409)คุณพ่อดาเนียล (DANIEL) และคุณพ่อมาติน (MATIN)จากกรุงเทพฯ ได้พยายามสำรวจเส้นทางที่จะขึ้นมานครราชสีมาและได้ออกเดินทางจากทับสะแกมาถึงนครราชสีมาพร้อมกับครูคำสอนชาวจีน 2 คนและสมัครพรรคพวกอีกหลายคน เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ชาวบ้านกำลังอดอยากและมีขโมยมากจึงไม่มีใครสนใจเรียนคำสอน ประกอบกับคุณพ่อทั้งสองไม่สบายจึงเดินทางกลับกรุงเทพฯ แต่ที่น่าสนใจคือมีคนจากนครราชสีมา 8 คนตามไปเรียนคำสอนที่ทับสะแก ในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1868 (พ.ศ.2411)กระทรวงเผยแพร่ความเชื่อได้แบ่งเขตมิสซังใหม่ และมอบหมายการแพร่ธรรมในล้านช้างให้มิสซังสยาม โดยมีคำสั่งให้ส่งมิชชันนารีไปล้านช้างให้เร็วที่สุดเท่าที่จำได้ พระสังฆราชยอเชฟ ดือปอง (Joseph DUPOND: 1864-1872) ซึ่งไปประชุมสังคายนาวาติกันครั้งที่ 1 ได้ตกลงที่จะส่งมิชชันนารีไป แต่เป็นที่น่าเสียดายที่พระสังฆราชดือปอง ได้ถึงมรณภาพก่อนที่จะได้ปฏิบัติตามคำขอร้องจากกรุงโรม

นี่คือความพยายามในสมัยต่างๆ ที่จะไปแพร่ธรรมในภาคอีสานและประเทศลาว ทั้งนี้เพราะในอดีตที่ผ่านมางานของพระศาสนจักรคาทอลิกของมิสซังสยามจำกัดอยู่แต่เฉพาะภาคกลางของประเทศเท่านั้น ความพยายามนี้มาสำเร็จในสมัยพระสังฆราชยัง หลุยส์ เวย์ (Jean Louis VEY: 1875-1909)

1.2 มิชชันนารีสององค์แรก

ในปี ค.ศ.1876 (พ.ศ.2419) พระสังฆราชเวย์ ได้ส่งคุณพ่อกองสตัง ฌอง โปรดม (Constant Jean PRODHOMME)ให้ขึ้นไปช่วย คุณพ่อแปร์โร (PERRAUX)ซึ่งปกครองคริสตชนที่อยุธยาและมอบหมายให้สำรวจดูว่า มีทางที่จะขึ้นไปภาคอีสานอย่างไร โดยหวังที่จะเอาอยุธยาเป็นศูนย์กลางการแพร่ธรรมในภาคอีสาน คุณพ่อโปรดม ได้ไปดูแลกลุ่มคริสตชนที่หัวแก่งหรือแก่งคอยในปัจจุบัน ซึ่งขณะนั้นมีผู้เตรียมตัวเป็นคริสตชนประมาณ 250-300 คน และได้ไปสร้างวัดที่คลองท่าเกรียนใกล้มวกเหล็ก

ในปี ค.ศ.1880 (พ.ศ.2423)คุณพ่อโปรดม ได้พยายามเดินทางไปแพร่ธรรมที่นครราชสีมาแต่อยู่ได้ไม่นานนักเพราะเป็นไข้มาลาเรียต้องไปรักษาตัวที่กรุงเทพฯ และพักฟื้นที่จันทบุรี ในขณะเดียวกันคุณพ่อซาเวียร์ เกโก (Xavia GEGO)กำลังเรียนภาษาไทยที่วัดอัสสัมชัญเกิดเป็นแผลที่หัวเข่าได้ไปรักษาตัวที่จันทบุรีด้วย พระสังฆราชเวย์ จึงมอบหมายให้คุณพ่อโปรดม กับคุณพ่อเกโก ไปสำรวจภาคอีสาน เพราะเล็งเห็นว่าการแพร่ธรรมในภาคอีสานจะเกิดผลอย่างแท้จริงก็ต่อเมื่อผู้แพร่ธรรมไปอยู่ในภาคอีสาน จึงดำริให้ตั้งศูนย์แพร่ธรรมขึ้นที่เมืองอุบลราชธานี อุบลฯ จึงกลายเป็นศูนย์กลางการแพร่ธรรมในภาคอีสานในเวลาต่อมา และนับเป็นกลุ่มที่ 7 ที่เดินทางมาแพร่ธรรมในภาคอีสาน

การแพร่ธรรมในภาคอีสานได้เริ่มต้นขึ้นอย่างแท้จริง เมื่อพระสังฆราชเวย์ แต่งตั้งคุณพ่อโปรดม และคุณพ่อเกโก ให้เดินทางไปแพร่ธรรมในภาคอีสานเมื่อวันที่ 2 มกราคม ค.ศ.1881 (พ.ศ.2424)โดยมีภารกิจหลักคือการตั้ง “มิสซังลาว”คุณพ่อทั้งสองได้ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 12 มกราคม ค.ศ.1881(พ.ศ.2424)พร้อมกับครูเณรคนหนึ่งและคนรับใช้อีก 2-3 คนมุ่งสู่อุบลฯ ผ่านแก่งคอยมาถึงนครราชสีมาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ และพักอยู่ที่บ้านพ่อค้าชาวจีนคนหนึ่งเป็นเวลา 12 วันก่อนออกจากนครราชสีมามุ่งหน้าสู่ขอนแก่นผ่านอำเภอชนบทถึงที่นั่นวันที่ 16 มีนาคม และไปถึงกาฬสินธุ์เมื่อวันที่ 25 เดือนเดียวกัน ออกจากกาฬสินธุ์วันที่ 1 เมษายน มุ่งหน้าไปทางกมลาไสยถึงร้อยเอ็ด วันที่ 4 และวันที่ 11 ได้มาถึงยโสธร เนื่องจากอยู่ในช่วงสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์จึงหยุดพักทำสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์ และฉลองปัสกาในเต็นท์ที่นั่น นับเป็นการฉลองปัสกาครั้งแรกในภาคอีสาน ที่สุดได้มาถึงอุบลฯ ในวันอาทิตย์ที่24 เมษายน รวมระยะเวลาในการเดินทางครั้งนั้น 102 วัน

วันต่อมาคุณพ่อได้เข้าเยี่ยมคารวะท่านข้าหลวงใหญ่ พร้อมกับแสดงเอกสารสำคัญจากกรุงเทพฯ ที่อนุญาตให้เดินทางไปมาในภาคอีสานได้โดยเสรีและจะจัดตั้งที่พักที่ไหนก็ได้ ข้าหลวงใหญ่ได้เชิญให้คุณพ่อพักอยู่ที่มุมหนึ่งของศาลาว่าการเมือง โดยใช้ไม้ไผ่สานขัดแตะกั้นมุมหนึ่งไว้สำหรับเป็นที่ทำการ การพักอยู่ที่นั้นแม้ออกจะแออัดอยู่บ้าง แต่ก็เป็นโอกาสให้คุณพ่อได้เรียนรู้ขนบธรรมเนียม ประเพณีบ้านเมือง และเป็นดังวิทยาลัยให้เกิดความรู้ทางกฎหมายและการปกครองบ้านเมืองด้วย ซึ่งนับว่ามีประโยชน์อย่างมากสำหรับงานแพร่ธรรมในเวลาต่อมา

2. การแพร่ธรรมในระยะเริ่มแรก ค.ศ.1881-1899 (พ.ศ.2424-2442)

เมื่อแรกเดินทางมาถึงอุบลฯ คุณพ่อทั้งสองไม่แน่ใจว่าจะอยู่ภาคอีสานได้นานแค่ไหน ตั้งใจว่าเมื่อสิ้นฤดูฝนจะเดินทางกลับกรุงเทพฯ จึงไม่คิดที่จะตั้งวัด การมาครั้งแรกนั้นเพียงเพื่อดูว่าชาวบ้านมีความเป็นอยู่อย่างไร และมีคนสนใจศาสนาหรือไม่

2.1 การไถ่ทาส

งานแพร่ธรรมแรกในภาคอีสานคือ การไถ่ทาส กล่าวคือปลายเดือนมิถุนายน ค.ศ.1881 (พ.ศ.2424)คุณพ่อโปรดม ได้ปลดปล่อยทาส 18 คนที่ถูกพวกกุลาจับมาจากประเทศลาวเพื่อขายเป็นทาส โดยได้ยื่นฟ้องพวกกุลา 2 ข้อหา คือ พวกกุลาเป็นโจรเพราะขโมยคนมาขาย และได้แอบอ้างชื่อคุณพ่อเป็นผู้สั่งให้ค้าขายทาส ศาลได้ตัดสินปล่อยทาสทั้ง 18 คนเป็นอิสระ พวกเขาจึงมารขออาศัยอยู่กับคุณพ่อและเป็นกลุ่มแรกที่ได้เริ่มเรียนศาสนา ข่าวการชนะคดีและปลดปล่อยทาสให้เป็นอิสระครั้งนั้นได้แพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็วและได้สร้างชื่อเสียงให้กับคุณพ่อ พวกทาสได้มาขอความช่วยเหลือจากคุณพ่อเป็นจำนวนมาก การไถ่ทาสจึงกลายเป็นภารกิจที่สำคัญอย่างหนึ่งในการแพร่ธรรม ซึ่งได้กลายเป็นเอกลักษณ์เด่นของบรรดามิชชันนารีในเวลาต่อมา “เมื่อคุณพ่อเดินทางไปที่ไหน พวกทาสในถิ่นนั้นมักขอให้คุณพ่อเป็นทนาย ขอให้ศาลปล่อยเป็นอิสระเสมอ”พวกทาสเหล่านั้นเมื่อได้รับอิสรภาพก็ไปอยู่กับมิชชันนารีเพราะกลัวจะถูกจับไปเป็นทาสอีก การอยู่กับมิชชันนารีและการเข้าศาสนาของพวกเขาจึงเป็นการหนีร้อนมาพึ่งเย็น

2.2 บุ่งกะแทว ศูนย์กลางแห่งแรกของมิสซัง

เมื่อมีคนมาอยู่กับคุณพ่อมากขึ้น การพักอาศัยในอาคารหลวงจึงเป็นการไม่สะดวกและไม่เหมาะสมอย่างยิ่งคุณพ่อจึงเร่งเจ้าเมืองอุบลฯ ให้หาที่อยู่ให้ใหม่ เจ้าเมืองอุบลฯ ได้เสนอให้คุณพ่อไปอยู่ในที่ดินที่เป็นบ้านร้างทางตะวันตกของตัวเมืองอุบลฯ ซึ่งถือเป็นที่เคล็ดมีผีร้ายชาวบ้านอยู่ไม่ได้จึงทิ้งไป ความจริงบริเวณดังกล่าวเป็นเพียงป่าทึบชื้นแฉะผิดหลักสุขลักษณะทำให้เกิดไข้มาลาเรีย ตั้งอยู่ริมบุ่งหรือบึงที่ชื่อว่า “บุ่งกะแทว”

อย่างไรก็ตาม คุณพ่อโปรดม ได้ไปดูสถานที่ด้วยตนเองและพอใจที่ดินผืนนั้นจึงได้ซื้อบ้านเก่ามาปลูกและเข้าอาศัยอยู่เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม ค.ศ.1881 (พ.ศ.2424)รวมคุณพ่อ คนงาน และผู้สมัครมาอยู่ด้วยทั้งหมดประมาณ 30 คน หลังจากช่วยกันหักล้างถางพงเป็นที่เรียบร้อยคุณพ่อได้เริ่มสอนคำสอนทันทีเมื่อตั้งหลักได้แล้วคุณพ่อโปรดม ได้เดินทางไปกรุงเทพฯเพื่อรายงานกิจการต่อ พระสังฆราชเวย์ กลางเดือนมีนาคม ค.ศ.1882 (พ.ศ.2425)คุณพ่อโปรดม กลับจากกรุงเทพฯโดยนำคุณพ่อเกลมังต์ พริ้ง (Clemente PHRING)พระสงฆ์ไทยขึ้นมาด้วยพร้อมกับครูสอนคำสอน 2 คน การเรียนคำสอนได้ทำอย่างจริงจัง ที่สุดในโอกาสสมโภชพระนางมารีย์รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ วันที่ 15 สิงหาคมปีนั้นเอง พวกที่ถูกปลดปล่อยได้รับศีลธรรมล้างบาปเป็นคริสตชน และด้วยความวางใจในคำเสนอวิงวอนของพระนางมารีย์ คุณพ่อโปรดม จึงเลือกเอาพระนางเป็นองค์อุปถัมภ์วัดแรกของภาคอีสานโดยตั้งชื่อว่า “วัดแม่พระ นฤมลทิน”บุ่งกะแทวจึงกลายเป็นศูนย์แรกของกลุ่มคริสตชนในภาคอีสาน เป็นที่พักของมิชชันนารีและเป็นที่ตั้งของ “มิสซังใหม่”ตลอดเวลาหลายปี

เดือนธันวาคม ค.ศ.1882 (พ.ศ.2425)คุณพ่อโปรดม ได้เดินทางไปกรุงเทพฯอีก ขณะที่คุณพ่อเกโก ไปแพร่ธรรมที่อำนาจเจริญแต่ไม่เป็นผลจึงบุ่งกะแทว ที่กรุงเทพฯพระสังฆราชเวย์ ได้ปรารภกับคุณพ่อโปรดม ด้วยความห่วงใยว่า “ไม่รู้ว่าจะสนับสนุนมิสซังใหม่อย่างไรดี พ่อกลุ้มใจมากเพราะการส่งพระสงฆ์ไปตามป่าดงหลายวันก็เท่ากับส่งเขาให้ไปเป็นไข้ป่าตาย อีกอย่างหนึ่งก็เกินความสามารถของมิสซังที่จะส่งพระสงฆ์ ครูคำสอนหรือทรัพย์สมบัติขึ้นไปช่วยเสมอๆ เอาอย่างนี้เป็นไงคือให้คุณพ่อพาคนทั้งหมดของมิสซังใหม่ย้ายมาอยู่ทางนี้เสียก็แล้วกัน พร้อมกับเสนอให้หาที่ทำกินสำหรับทุกคนเช่นใกล้กับวัดหัวไผ่ จากนั้นได้ถามคุณพ่อโปรดม ว่าคิดอย่างไรกับแผนการนั้น นับเป็นความโชคดีของพระศาสนจักรในภาคอีสานที่คุณพ่อโปรดม ไม่เห็นด้วยกับความคิดของพระสังฆราชเวย์ ไม่เช่นนั้นนั้นการแพร่ธรรมในภาคอีสานคงจะหยุดเพียงแค่นั้น ตรงข้ามคุณพ่อโปรดม ได้ตอบพระสังฆราชเวย์ ด้วยความสุภาพว่า การกระทำเช่นนี้เท่ากับเป็นการทำลายการแพร่ธรรมในภาคอีสานอย่างสิ้นเชิง การแพร่ธรรมในภาคอีสานจึงดำเนินต่อมา และเจริญเติบโตเป็นปึกแผ่นมั่นคงเรื่อยมาถึงวันนี้

2.3 การตั้งกลุ่มคริสตชนที่สกลนคร

เมื่อตั้งกลุ่มคริสตชนที่นครพนมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ต่อมาในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1884 (พ.ศ.2427)คุณพ่อโปรดม เดินทางไปสกลนครพร้อมกับครูทัน ตั้งใจจะไปเยี่ยมคริสตชนที่มาจากประเทศเวียดนามที่ได้ยินมา และเปิดศูนย์คาทอลิกที่นั่นหากเป็นไปได้ คุณพ่อได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากคริสตชนชาวเวียดนามและมีชาวเวียดนามจำนวนหนึ่งแจ้งความจำนงจะเป็นคริสตชน คุณพ่อจึงได้สร้างที่พักและที่อยู่กับพวกเขา 1 เดือนแล้วจึงมอบให้ครูทัน ดูแลส่วนคุณพ่อเดินทางกลับนครพนม

กลางเดือนสิงหาคม ค.ศ.1884 (พ.ศ.2427)คุณพ่อโปรดม เดินทางไปสกลนครอีกครั้งหนึ่งพร้อมกับคุณพ่อเกโกจากนครพนม คุณพ่อได้ใช้โอกาสนั้นสอนศาสนาแก่ชาวเวียดนามที่สนใจ ในใบบอกเมืองสกลนครทำให้เราทราบว่ามีชาวเวียดนามเป็นจำนวนมากสมัครเป็นคริสตชนในครั้งแรกนั้น “…ครั้น ณ. เดือน 7 ปีวอก ฉศก บาทหลวงอเล็กซิสโปรดม บาทหลวงซาเวียร์ เกโก ชาวฝรั่งเศสได้ขึ้นมาเมืองสกล เพี้ยศรีสองเมือง นายกองญวน เพี้ยจ่าย ปลัดกองญวนได้พาพรรคพวกญวน 75 คน สมัครเข้าศาสนาบาทหลวง เหลือญวนเมืองสกลนคร ที่ยังไม่เข้าศาสนากับบาทหลวงเพียง 35 คน เมื่อเห็นว่าจำนวนผู้สมัครเป็น คริสตชนเพิ่มจำนวนมากขึ้น คุณพ่อโปรดม จึงได้ตั้งศูนย์คาทอลิกสกลนครขึ้นในปี ค.ศ.1884 (พ.ศ.2427)ซึ่งพระสังฆราชเกลาดิอุส บาเย ได้อ้างบันทึกของคุณพ่อโปรดม ในรายงานประจำปีค.ศ. 1910 (พ.ศ.2453)เอาไว้ในหนังสือ “ประวัติการเผยแพร่พระศาสนาในภาคอีสานและประเทศลาว”ที่แปลโดยพระอัครสังฆราชมีคาแอลเกี้ยน เสมอพิทักษ์ ว่า “กลุ่มคริสตังสกลนครซึ่งเริ่มก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1884 (พ.ศ.2427) และในวันที่ 8 กันยายนปีเดียวกันก็ได้มีการโปรดศีลล้างบาปให้คริสตังใหม่กลุ่มแรก ภายในวัดน้อยที่ตั้งไว้ชั่วคราวระหว่างหนองหารและตัวเมือง”ในบริเวณซึ่งเคยเป็นที่ตั้งโรงภาพยนตร์ประสานราษฎร์เดิม แต่จากหลักฐาน “สมุดบันทึก ศีลล้างบาป คริสตัง สกลนคร ปี 1884,1885,1886”ที่บันทึกโดยคุณพ่อโปรดม พบว่า ผู้ที่ได้รับศีลล้างบาป ในลำดับที่ 1 ชื่อ “มารีอา เตียง”ได้รับศีลล้างบาปในวันสมโภชพระนางมารีย์ได้รับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ วันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ.1884 (พ.ศ.2427)ทำให้เราแน่ใจว่า คุณพ่อโปรดม ได้ล้างบาปให้คริสตชนที่สกลนครก่อนหน้านั้นแล้ว หลังจากนั้นจึงได้มอบกลุ่มคริสตชนใหม่นั้นให้คุณพ่อเกโกกับครูทัน ดูแลและเดินทางกลับไปอุบลฯ เพื่อเตรียมตัวเดินทางไปกรุงเทพฯ

นานวันเข้าได้มีหลายคนมาสมัครเป็นคริสตชน ส่วนใหญ่เป็นชาวเวียดนามที่ได้รับการปลดปล่อยจากการเกณฑ์แรงงานและคนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผีปอบ 40 คน ทำให้จำนวนคริสตชนเพิ่มมากขึ้น เป็นความลำบากมากทีเดียวที่จะจัดหาที่ดินเพื่อพักอาศัยและทำกินสำหรับคริสตชนเหล่านั้นในตัวเมืองสกลนคร ประกอบกับถูกกลั่นแกล้งไม่หยุดหย่อนจากเจ้าหน้าที่บางคน คุณพ่อเกโก จึงได้คิดหาทำเลสำหรับตั้งหมู่บ้านคริสตชนใหม่ ในคืนวันหนึ่งหลังการสมโภชนักบุญทั้งหลายปี ค.ศ.1884 (พ.ศ.2427)คุณพ่อเกโก และครูทัน ได้ตัดสินใจย้ายกลุ่มคริสตชน โดยจัดทำแพใหญ่ทำด้วยเรือเล็กและไม้ไผ่ผูกติดกับบรรทุกทั้งคนและสัมภาระลงแพ ใช้ผ้าห่มและผืนผ้าขึงแทนใบให้ลมพัดไปในทิศทางที่พระเป็นเจ้าทรงประสงค์ ที่สุดพวกเขาสามารถข้ามไปยังอีกฟากหนึ่งของหนองหารอย่างปลอดภัย และตั้งหลักแหล่งที่นั่น

2.4 กลุ่มคริสตชนวัดมหาพรหมมีคาแอล หนองหาร

คริสตชนกลุ่มแรกที่ย้ายมามี 20 ครอบครัวประมาณ 150 คน นับทั้งที่ได้รับศีลล้างบาปแล้วกับผู้ที่กำลังเตรียม ซึ่งมีทั้งชาวเวียดนามและชนพื้นเมือง ส่วนมากเป็นทาสที่ได้รับการไถ่ให้เป็นอิสระหรือพวกที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผีปอบและคริสตชนใหม่จำนวน 35 คนได้รับศีลมหาสนิทครั้งแรกในโรงเรียนที่ทำเป็นวัดชั่วคราวในดินแดนแห่งใหม่นั้นเองในวันสมโภชพระคริสตสมภพปี ค.ศ.1884 (พ.ศ.2427)พร้อมกับการล้างบาปคริสตชนกลุ่มแรกที่ท่าแร่จำนวน 8 คน เนื่องจากคริสตชนเหล่านั้นได้ร้องขอความช่วยเหลือจากอัครเทวดามีคาแอลเป็นประจำ เพื่อให้ช่วยคุ้มครองป้องกันและสู้ทนกับความยากลำบาก วัดหลังแรกที่สร้างเป็นโรงเรือนชั่วคราวจึงตั้งชื่อว่า “วัดมหาพรหมมีคาแอล หนองหาร”ดังปรากฏในหลักฐาน “สมุดบันทึกศีลล้างบาป วัดนักบุญมารีอามักดาเลนา บ้านนาโพธิ์ 1888”ที่บันทึกโดย คุณพ่อยอแวฟ กอมบูริเออ (Joseph COMBOURIEU)บอกให้เราทราบว่า คริสตชนกลุ่มแรกของวัดนาโพธิ์ล้างบาปที่ “วัดมหาพรหมมีคาแอล หนองหาร”(Ecclesia Sti Michaelis Nong-Han)เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ.1888 (พ.ศ.2431)

เป็นที่น่าสังเกตว่าในการล้างบาปคริสตชนที่ท่าแร่ในเวลาต่อมาในปี ค.ศ.1885 (พ.ศ.2428)ที่บันทึกโดย คุณพ่อยอร์ท ดาแบง ยังคงใช้คำว่า “วัดสกล”(Ecclesiae Sakhon)บางครั้งก็ใช้คำว่า “วัดเล็กเมืองสกลนคร”(sacello civitatis Sakhon Nakhon)ในการล้างบาปอีกครั้งในวันฉลองแม่พระลูกประคำ วันที่ 7 ตุลาคม จึงใช้คำว่า “วัดมหาพรหมมีคาแอล เมืองสกล”(Ecclesia Sti Michaelis Urbis Sakhon)ต่อมาในสมัยคุณพ่อกอมบูริเออ ใช้เพียงว่า “วัดมหาพรหมมีคาแอล”(Ecclesia Michaelis) ตามที่ปรากฎใน “สมุดบันทึกศีลล้างบาปคริสตัง สกลนคร ปี 1884, 1885, 1886”ยังไม่มีการใช้ชื่อ “ท่าแร่”แต่อย่างใด

เป็นไปได้ว่าชื่อ “หนองหาร”อาจเป็นชื่อดั้งเดิมของกลุ่มคริสตชนที่ท่าแร่ ส่วนการจะเปลี่ยนชื่อเป็น “ท่าแร่”เมื่อไรนั้นไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่จากเอกสารที่เขียนด้วยอักษรโรมัน (ภาษาวัด)2 เล่ม ซึ่งผู้เขียนให้ชื่อว่า “บันทึกเหตุการณ์และหนังสือเข้า” และ “สำเนาหนังสือออกและคดีความ”ที่บันทึกเหตุการณ์และหนังสือเข้า และ “สำเนาหนังสือออกและคดีความ” ที่บันทึกโดยคุณพ่อกอมบูริเออ ในช่วงแรกไม่ปรากฏการใช้ชื่อ “ท่าแร่”แต่อย่างใด นอกจากชื่อ “วัดมหาพรหมมีคาแอลแขวงเมืองสกลนคร” เพิ่งจะมาปรากฏในบันทึก “สำเนาหนังสือออกและคดีธรรม”เลขที่ 10 ลงวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ.1901 (พ.ศ.2444)ที่คุณพ่อกอมบูริเออ เขียนถึงพระวิชิตพลทหาร ผู้ช่วยเมืองสกลนคร จึงได้ใช้ชื่อ “บ้านท่าแร่” โดยเขียนขึ้นต้นหนังสือฉบับนั้นว่า “ที่สำนักท่านบาทหลวง บ้านท่าแร่”อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันว่าชื่อ “ท่าแร่”เรียกตามชื่อถิ่นที่ตั้งหมู่บ้านอันเป็นบริเวณที่เต็มไปด้วยป่าไม้มีหินลูกรังอยู่ทั่วไป ซึ่งคนภาคพื้นนั้นเรียกว่า “หินแฮ่” และเป็นชื่อที่เรียกขานกันตั้งแต่แรกเช่นเดียวกันในหมู่ชาวบ้านจนเป็นที่นิยมเรียกกันทั่วไปจนติดปาก ต่อมาชื่อ “ท่าแร่”จึงได้กลายมาเป็นชื่อหมู่บ้านอย่างในปัจจุบัน

ในระยะเริ่มแรกกลุ่มคริสตชนที่นครพนม และท่าแร่อยู่ในความดูแลของคุณพ่อเกโก ส่วนคุณ พ่อโปรดมเดินทางไปกรุงเทพฯ และกลับมาในเดือนมีนาคม ค.ศ.1885 (พ.ศ.2428)พร้อมกับคุณพ่อ กอมบูริเออ มาถึงท่าแร่วันที่ 4 พฤษภาคมปีนั้นเอง และคุณพ่อโปรดม ได้แต่งตั้งให้คุณพ่อกอมบูริเออ เป็นเจ้าอาวาสองค์แรก จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ.1937 (พ.ศ.2480)จึงได้ลาออกจากตำแหน่งและถึงแก่มรณภาพที่ท่าแร่เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ค.ศ.1939 (พ.ศ.2482)นับเป็นเจ้าอาวาสวัดท่าแร่ที่ยาวนานที่สุดกว่า 52 ปี และได้สร้างประโยชน์สำหรับชาวท่าแร่เป็นอย่างมาก จนท่าแร่เจริญก้าวหน้าและกลายเป็นอาณาจักรของพระเยซูคริสตเจ้าที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยในปัจจุบัน

2.5 คำเกิ้ม ศูนย์กลางมิสซังแห่งที่สอง

หลังจากฉลองคริสตสมภพปีค.ศ.1884 (พ.ศ.2427)ที่ท่าแร่ คุณพ่อเกโก ได้เดินทางไปนครพนมในต้นเดือนมกราคมค.ศ.1885 (พ.ศ.2428)เวลานั้นคริสตชนใหม่และผู้เตรียมเป็นคริสตชนมีไม่มาก และรวมกลุ่มอาศัยอยู่ทางทิศเหนือของตัวเมืองนครพนม ใกล้กับที่เรียกว่า “วัดป่า” คุณพ่อโปรดม เห็นชอบที่จะย้ายกลุ่มคริสตชนดังกล่าวไปอยู่ในที่ที่เหมาะสมกว่า ได้ปรึกษาหารือกับทุกคนถึงเรื่องสถานที่ใหม่ เวลานั้นคุณพ่อดาแบงเดินทางมาจากท่าแร่ได้รับเชิญให้ร่วมปรึกษาหารือด้วย เมื่อปรึกษาปรึกษากันดีแล้วได้ตกลงเอาบ้านคำเกิ้ม ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของตัวเมืองนครพนมประมาณ 3-4 กิโลเมตร บ้านคำเกิ้มเวลานั้นมีคนต่างศาสนาอยู่ก่อนแล้ว 3-4 ครอบครัว ซึ่งยินดีที่จะกลับใจเป็นคริสตชน เช้าวันรุ่งขึ้นทุกคนทั้งคริสตชนใหม่และผู้เตรียมตัวเป็นคริสตชนได้ไปรวมกันที่บ้านคำเกิ้ม และลงมือหักล้างถางพงเพื่อตั้งบ้านเรือนและที่ทำกิน

ต่อมาภายหลัง เมื่อมีพระสงฆ์องค์หนึ่งประจำที่คำเกิ้มและอีกองค์หนึ่งที่ท่าแร่ บ้านคำเกิ้มได้กลายเป็นที่ตั้งของศูนย์มิสซังใหม่แทนที่บุ่งกะแทว อุบลราชธานี และเป็นที่ที่บรรดาพระสงฆ์ได้มาประชุมเข้าเงียบประจำปีในเดือนพฤศจิกายนของทุกปี รวมทั้งได้เริ่มบันทึกรายชื่อผู้รับศีลล้างบาปในสมุดหนาหนึ่งเล่มที่คุณพ่อดาแบงนำติดตัวมา โดยเริ่มต้นดังนี้ “บันทึกศีลล้างบาป ของคริสตังที่นครพนม วัดนักบุญยอแซฟ ค.ศ.1885”และผู้ที่ได้รับศีลล้างบาปลำดับที่ 1 ลงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1885 (พ.ศ.2428)จากเดิมที่เคยจดบันทึกศีลล้างบาปของวัดบุ่งกะแทวและในระหว่างนั้น คุณพ่อเกโก ได้เดินทางไปมาระหว่างคำเกิ้มและท่าแร่ จนถึงเวลาที่ คุณพ่อโปรดม แต่งตั้ง คุณพ่อกอมบูริเออ เป็นเจ้าอาวาสวัดท่าแร่ ในช่วงเวลานั้น มิสซังมีศูนย์กลางอยู่ 3 แห่ง คือ บุ่งกะแทว สำหรับภาคใต้ ท่าแร่ สำหรับภาคตะวันตก และ คำเกิ้ม สำหรับภาคเหนือและตามลำน้ำโขง ซึ่งศูนย์ทั้งสามแห่งได้กลายเป็นศูนย์กลางสำคัญสำหรับการขยายการแพร่ธรรมในหมู่บ้านต่างๆ ทั้งใกล้และไกล จนมีหมู่บ้านคริสตชนเพิ่มขึ้นอีกหลายแห่งในเวลาต่อมา กล่าวคือจนถึงปีค.ศ. 1899 (พ.ศ.2442)มิชชันนารีสามารถจัดตั้งชุมชนคาทอลิกในภาคอีสานและประเทศลาวได้ทั้งหมด 55 หมู่บ้าน โดยเกิดจากศูนย์บุงกะแทวในเขตอุบลฯ 15 หมู่บ้าน จากศูนย์ท่าแร่ในเขตสกลนคร 9 หมู่บ้าน และที่ศูนย์คำเกิ้มในเขตนครพนม 31 หมู่บ้าน

จากปี ค.ศ.1881 (พ.ศ.2424)ถึงค.ศ.1898 (พ.ศ.2441)คุณพ่อโปรดม ผู้บุกเบิกต้องเดินทางไปกรุงเทพฯ 18 ครั้ง เพื่อรายงานกิจการ ตลอดจนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้พระสังฆราชเวย์ ทราบ และเพื่อรับคำแนะนำและสิ่งของต่างๆ ที่ต้องการสำหรับ 1 ปี เช่น เงิน น้ำองุ่น แป้งทำฮอสเตีย ยารักษาโรค ฯลฯ และนำพระสงฆ์ใหม่สำหรับไปช่วยงานแพร่ธรรม การเดินทางสมัยนั้นนับว่าลำบากมากต้องฝ่าอันตรายผ่านป่าดง ข้ามภูเขาหลายลูก จากอุบลฯถึงกรุงเทพฯ ใช้เวลาเดินทางอย่างน้อย 25 วัน และจากกรุงเทพฯถึงอุบลฯ 30 วัน การเดินทางส่วนใหญ่จะใช้ม้า เรือแจว และเหวียนไม่สะดวกเหมือนเช่นทุกวันนี้

2.6 การตั้งโรงเรียนครูคำสอนที่ดอนโดน

คุณพ่อโปรดม มองเห็นความจำเป็นเรื่องการเตรียมครูสอนคำสอนเป็นการเฉพาะ เนื่องจากบรรดาเณรที่มาช่วยงานและสอนคำสอนในช่วงพักทดลองไม่พร้อมสำหรับการทำงานในภูมิภาคนี้เท่าไรนัก ดังนั้นในเดือนพฤษภาคม ปีค.ศ.1891(พ.ศ.2434)จึงได้ตั้งโรงเรียนครูคำสอนขึ้นที่เกาะดอนโดน ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ กลางลำแม่น้ำโขงในเขตประเทศลาวเหนือนครพนมขึ้นไปประมาณ 4-5 กิโลเมตร พร้อมกันนั้นได้เตรียมผู้ที่จะเป็นพระสงฆ์โดยคัดเลือกเอาคนที่มีลักษณะดีเหมาะสมจากวัดต่างๆ เข้ารับการฝึกอบรมเตรียมเป็นพระสงฆ์ ดังปรากฎในบันทึกการก่อตั้งมิสซังลาวของคุณพ่อปิแอร์ แอกกอฟฟอง ความว่า “เดือนพฤษภาคม ค.ศ.1891(พ.ศ.2434) คุณพ่อโปรดม คุณพ่อใหญ่ได้ตัดสินใจที่จะสร้างโรงเรียนครูคำสอนขึ้นที่ดอนโดน เพื่อ 1)อบรมครูสอนคำสอน 2)เตรียมเณรหากเป็นไปได้” โรงเรียนที่ตั้งขึ้นที่ดอนโดนจึงเป็นทั้งบ้านเณรและโรงเรียนครูคำสอนในเวลาเดียวกัน ภายใต้การดูแลของคุณพ่อเดอลาแล็กซ์ ในปีแรกมีนักเรียน 12 คน เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี ค.ศ.1892 (พ.ศ.2435)มีนักเรียนเพิ่มขึ้นเป็น 24 คน ต่อมาในปีค.ศ.1894 (พ.ศ.2437) คุณพ่อโปรดม ได้แต่งตั้งคุณพ่อแอกกอฟฟอง เป็นอธิการและคุณพ่ออัมโบรซิโอ ชื่น เป็นอาจารย์ประจำ.

น่าเสียดายที่ “บ้านเณรดอนโดน” หรือ “โรงเรียนดอนโดน” ดำเนินการฝึกอบรมเยาวชนเพื่อเตรียมตัวเป็นพระสงฆ์และครูคำสอนได้ไม่นานก็พังทลายลงเพราะพายุใต้ฝุ่น ประมาณเดือนเมษายน ปี ค.ศ.1901 (พ.ศ.2444)ดังปรากฏในบันทึกของพระสังฆราชกืออ๊าส ความว่า “บ้านเณรดอนโดนของเราถูกพายุใต้ฝุ่นระหว่างอาทิตย์ปัสกาพัดพังทลายเหลือความสามารถที่จะซ่อมแซมได้ เราจำเป็นจะต้องสร้างตึกใหม่ ซึ่งจะไม่อยู่บนเกาะนี้อีกแล้ว แต่จะไปสร้างในสถานที่มั่นคงกว่านั้นอยู่ทางเหนือของหนองแสง ระยะห่างเดินประมาณ 20 นาที”อย่างไรก็ดี บ้านเณรแห่งนี้ได้ผลิตพระสงฆ์พื้นเมืององค์แรกและองค์เดียวแก่ศาสนจักรท้องถิ่นคือ คุณพ่ออันตนหมุน ธารา จากอุบลฯ ซึ่งได้บวชเป็นพระสงฆ์ที่วัดนักบุญฟรังซิสเซเวียร์ สามเสน เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม ค.ศ.1912 (พ.ศ.2455)และได้ผลิตครูคำสอนที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยงานแพร่ธรรมของมิสซังตามหมูบ้านต่างๆ อีกหลายคน

2.7 หนองแสง ศูนย์กลางของมิสซังแห่งใหม่

ในเวลานั้นมีพระสงฆ์ประจำอยู่ที่ศูนย์บุงกะแทว คำเกิ้ม และท่าแร่ คำเกิ้มซึ่งเป็นสถานที่อยู่กึ่งกลางกว่าบุ่งกะแทว ได้กลายเป็นศูนย์กลางแห่งที่ 2 ของมิสซัง ซึ่งบรรดาพระสงฆ์ที่อยู่ทางแขวงนั้นพากันมาประชุมและเข้าเงียบเป็นประจำในเดือนพฤศจิกายนทุกปี แต่เนื่องจากผู้ปกครองมิสซังในสมัยนั้นไม่ได้พำนักอยู่กับคำเกิ้ม ตามตำแหน่ง แต่มักพักอยู่กับพระสงฆ์มิชชันนารีองค์อื่น เพื่อช่วยงาน หรือไปเยี่ยมเยียนสัตบุรุษตามวัดต่างๆ ซึ่งได้ก่อให้เกิดปัญหาและความไม่สะดวกหลายอย่างตามมา พระสงฆ์ที่ประสบปัญหาไม่สามารถปรึกษาหารือได้ อีกทั้งเจ้าหน้าที่บ้านเมืองหรือบุคคลภายนอกไม่สามารถติดต่อได้

ดังนั้น หลังการเข้าเงียบประจำปีในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1896 (พ.ศ.2439)บรรดาพระสงฆ์ได้เสนอความเห็นให้มีสถานที่หนึ่งสำหรับใช้เป็นสำ

หมวดหมู่
ศาสนสถาน
สถานที่ตั้ง
ตำบล ท่าแร่ อำเภอ เมืองสกลนคร จังหวัด สกลนคร
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
บุคคลอ้างอิง จีราพิศ สะท้านอิทธิฤทธิ์ อีเมล์ mook_jeerapit@hotmail.com
ชื่อที่ทำงาน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสกลนคร
ถนน ศูนย์ราชการ
ตำบล ท่าแร่ อำเภอ เมืองสกลนคร จังหวัด สกลนคร รหัสไปรษณีย์ 47000
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่