การใช้หญ้าคาประพรมน้ำมนต์
หญ้าคา หรือหญ้ากุสะ(ตามพุทธประวัติ)ที่พุทธศาสนิกชน นิยมนำเอาหญ้าคามาทำเป็นอุปกรณ์สำหรับให้พระสงฆ์รดน้ำมนต์ ในพิธีกรรมต่าง ๆ เพราะเชื่อว่าหญ้าคา หรือหญ้ากุสะ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ในวันนั้นเจ้าชายสิทธัตถะได้รับหญ้าคาแปดกำจากโสตถิยพราหมณ์และได้นำหญ้าคามาทำเป็นอาสนะเพื่อใช้รองนั่งใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ในคืนวันวิสาขบูชาหรือวันเพ็ญกลางเดือนหกเมื่อสองพันหกร้อยปีที่ผ่านมา นับจนถึงวันนี้เรียกว่า”สัมพุทธชยันตีครบรอบ 2600 ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า หญ้าคานอกจากจะมีประวัติความเกี่ยวข้องกับการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าแล้ว ยังทนทานเก็บรักษาไว้ได้นาน
ในการปะพรมน้ำมนต์นั้น พระสงฆ์มักใช้หญ้าคาที่แห้งและมัดเป็นกำเรียบร้อย ยาวประมาณ 1 ฟุต จุ่มลงในขันน้ำมนต์แล้วปะพรมให้กับประชาชนที่ร่วมพิธีในงานมงคลต่างๆ ตามความเชื่อเรื่องหญ้าคา สองลักษณะคือ ความเชื่อทางศาสนาพุทธ เชื่อว่าเป็นพืชที่ศักดิ์สิทธิ์ เพราะเป็นเครื่องปูลาดต่างอาสนะของพระพุทธเจ้า
ความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์ เชื่อว่าหญ้าคาเป็นหญ้าที่ได้รับน้ำอมฤตที่ได้จากการกวนเกษียรสมุทรระหว่างเทวดากับอสูร พรหมณ์จะใช้หญ้าคาบูชาเทพเจ้าเพื่อสะเดาะเคราะห์ ถ้าบริเวณใดประพรมน้ำมนต์ด้วยหญ้าคา 3 กำ ซึ่งเรียกว่าไตรบัตรแล้วจะทำให้พื้นที่บริเวณนั้นบริสุทธิ์ หรือถ้าเป็นคนก็ปราศทุกข์ภัยมลทินต่างๆ ดังนั้นจึงมีประเพณีของพวกพรามหณ์ว่าเมื่อสาธยายมนต์ หรือร่ายพระเวทก็จะนั่งบนหญ้าคาและถูมือไปมาก็จะทำให้บริสุทธิ์
ในปัจจุบัน พระสงฆ์ยังนิยมใช้หญ้าคาสำหรับประพรมน้ำมนต์ในงานมงคล งานพิธีต่างๆ เช่นงานทำบุญบ้าน งานแต่ง งานทำบุญวันปีใหม่ เป็นต้น ซึ่งถือว่าเมื่อรดน้ำมนต์ด้วยหญ้าคาแล้วจะเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว
บทความนี้สัมภาษณ์พระครูวชิรธรรมรักษ์ เจ้าอาวาสวัดหนองนกชุม