ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 14° 31' 37.9999"
14.5272222
ลองจิจูด (แวง) : E 100° 54' 34.9999"
100.9097222
เลขที่ : 185195
พระโพธิสัตว์สหัสภุชสหัสเนตร อวโลกิเตศวร
เสนอโดย chaweewann วันที่ 22 มีนาคม 2556
อนุมัติโดย สระบุรี วันที่ 2 พฤษภาคม 2556
จังหวัด : สระบุรี
0 835
รายละเอียด

พระอวโลกิเตศวรเป็นพระโพธิสัตว์องค์สำคัญของพระพุทธศาสนามหายาน ที่มีผู้เคารพศรัทธามากที่สุด และเป็นบุคลาธิษฐานแห่งมหากรุณาคุณของพระพุทธเจ้าทั้งปวง เรื่องราวของพระอวโลกิเตศวรปรากฏอยู่ทั่วไปในคัมภีร์สันสกฤตของมหายาน อาทิ ปรัชญาปารมิตาสูตร สัทธรรมปุณฑรีกสูตร และการัณฑวยูหสูตฺร

พุทธศาสนิกชนชาวจีนจะรู้จักพระโพธิสัตว์พระองค์นี้ในพระนามว่ากวนซีอิมหรือกวนอิมซึ่งก็มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่าอวโลกิเตศวรในภาษาสันสกฤต คือผู้เพ่งสดับเสียงแห่งโลก แต่โดยทั่วไปแล้วมักให้อรรถาธิบายเป็นใจความว่าหมายถึง พระผู้สดับฟังเสียงคร่ำครวญของสัตว์โลก (ที่กำลังตกอยู่ในห้วงทุกข์) คำว่ากวนซีอิมนี้พระกุมารชีวะชาวเอเชียกลางผู้ไปเผยแผ่พระศาสนาในจีนเป็นผู้แปลขึ้น

รูปเคารพของพระอวโลกิเตศวรมีอยู่หลายปาง ทั้งภาคบุรุษ ภาคสตรี ไปจนถึงปางอันแสดงลักษณาการที่ดุร้าย ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการปราบมารคือสรรพกิเลส แต่ปางที่สำคัญปางหนึ่งคือปางที่ทรงสำแดงพระวรกายเป็นพันหัสถ์พันเนตร ซึ่งมีเรื่องราวปรากฏในพระสูตรสันสกฤตคือ สหัสภุชสหัสเนตรอวโลกิเตศวรโพธิสัตวไวปุลยสัมปุรณอกิญจนมหากรุณาจิตรธารณีสูตรมหากรุณามนตร์ หรือเรียกสั้น ๆ ว่า มหากรุณาธารณีสูตร (大悲咒) พระสูตรดังกล่าวนำเข้าและแปลในประเทศจีนโดยพระภควธรรมชาวอินเดีย ในสมัยราชวงศ์ถัง พระสูตรกล่าวถึงบทสวดธารณีแห่งพระโพธิสัตว์พระองค์นี้ คือ “มหากรุณาหฤทัยธารณี”เนื้อหากล่าวถึงเมื่อครั้งที่พระศากยมุนีสัมมาสัมพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ โปตาลกะบรรพต ในกาลนั้นพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ได้ขอพุทธานุญาตแสดงธารณีมนตร์อันศักดิ์สิทธิ์ไว้เพื่อเป็นที่พึ่งแก่สรรพสัตว์ ซึ่งธารณีนี้ย้อนไปในครั้งกาลสมัยของพระพุทธเจ้านามว่าพระสหัสประภาศานติสถิตยตถาคตพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นได้ตรัสธารณีนี้แก่พระอวโลกิเตศวร และตรัสว่า “สาธุ บุรุษ เมื่อเธอได้หฤทัยธารณีนี้ จงสร้างประโยชน์สุขสำราญแก่สัตว์ทั้งหลายในกษายกัลป์แห่งอนาคตกาลโดยทั่วถึง”ตามเนื้อความของพระสูตรได้กล่าวว่า ในขณะนั้น เมื่อพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ได้สดับมนตร์นี้แล้ว ก็ได้บรรลุถึงภูมิที่ ๘ แห่งพระโพธิสัตว์เจ้า จึงได้ตั้งปณิธานว่า“ในอนาคตกาล หากข้าพเจ้าสามารถยังประโยชน์สุขแก่สรรพสัตว์ได้ ขอให้ข้าพเจ้ามีพันเนตรพันหัตถ์ในบัดดล”เมื่อท่านตั้งปณิธานดังนี้แล้ว พลันบังเกิดมีพันหัตถ์พันเนตรขึ้นทันที และเพลานั้นพื้นมหาพสุธาดลทั่วทศทิศก็ไหวสะเทือนเลื่อนลั่น พระพุทธเจ้าทั้งปวงในทศทิศก็เปล่งแสงโอภาสเรืองรองมาต้องวรกายแห่งพระโพธิสัตว์ และฉายรัศมีไปยังโลกธาตุต่าง ๆ อย่างปราศจากขอบเขต พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสแก่พระอานนท์ว่า เนื่องจากปณิธานอันยิ่งใหญ่ของพระโพธิสัตว์ หากเหล่ามนุษย์และทวยเทพ ตั้งจิตสวดมหากรุณาธารณี มนตร์นี้คืนละ ๗ จบ ก็จะดับมหันตโทษจำนวนร้อยพันหมื่นล้านกัลป์ได้ หากเหล่ามนุษย์ทวยเทพสวดคาถามหากรุณาธารณีนี้ เมื่อใกล้ชีวิตดับ พระพุทธเจ้าทั้ง ๑๐ ทิศจะยื่นพระกรมารับให้ไปอุบัติในพุทธเกษตรทุกแห่ง

จากเรื่องราวในพระสูตรนี้ทำให้เกิดการสร้างรูปพระโพธิสัตว์พันหัสถ์พันเนตร อันแสดงถึงการทอดทัศนาเล็งเห็นทั่วโลกธาตุและพันหัสต์แสดงถึงอำนาจในการช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์ บทสวดในพระสูตรนี้เป็นภาษาสันสกฤตผสมภาษาท้องถิ่นโบราณในอินเดีย ที่หลงเหลือมาในปัจจุบันมีหลายฉบับที่ไม่ตรงกัน ทั้งในฉบับทิเบต ฉบับจีนซึ่งมีทั้งของพระภควธรรม พระอโมฆวัชระ ฯลฯ ต่อมาได้มีการค้นคว้าและปรับปรุงให้ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์โดย Dr.Lokesh Chandraและตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อ ค.ศ. ๑๙๘๘ เป็นบทสวดสำคัญประจำองค์พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ที่พุทธศาสนิกชนมหายานสวดกันอยู่โดยทั่วไป

ลักษณะประติมากรรม

ประติมากรรมรูป พระโพธิสัตว์สหัสภุชสหัสเนตร อวโลกิเตศวร ปรากฏในลักษณะบุรุษเพศ ปรากฏเศียรพระอมิตภะพุทธเจ้ามีพระรัศมีล้อมรอบอยู่เหนือพระเศียรพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ถัดลงมาเป็นเครื่องประดับศีรษะประดับลายบัวหงาย พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรมีพระพักตร์อิ่ม เหลือบพระเนตรลงเบื้องล่าง มีอุณาโลมอยู่กลางพระนลาฏ พระนาสิกโด่ง มีร่องพระพระโอษฐ์ ฝีพระโอษฐ์เป็นกระจับ พระศอเป็นปล้อง พระหัตถ์คู่หน้าประนมระดับพระอุระ พระหัตถ์คู่ที่สอง ในพระหัตถ์ซ้ายถิ่นแจกัน พระหัตถ์ขวาถือกิ่งหลิว ถัดลงไปเป็นพระหัตถ์อีก ๙ คู่ ถือ ของวิเศษแตกต่างกันไป เช่น พระอาทิตย์ พระจันทร์ ศร สวัสดิกะ ดอกบัว และทำวิตรรกมุทรา เป็นต้น ด้านหลังปรากฏพระกรขนาดเล็กจำนวนนับไม่ถ้วนเรียงตัวกันเป็นรูปพัด มีกรอบลายประจีนล้อมรอบ ประทับนั่งขัดสมาธิบนฐานปัทมะ ขนาบข้างด้วยซั่งไฉถงจือ หรือ หงส์หายเอ๋อ และ หลงหนี่ว (龙女)

หมวดหมู่
ศิลปวัตถุ
สถานที่ตั้ง
พระโพธิสัตว์สหัสภุชสหัสเนตร อวโลกิเตศวร
เลขที่ซอย ๘ พิชัยรณร
ตำบล ปากเพรียว อำเภอ เมืองสระบุรี จังหวัด สระบุรี
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
นางสาววิยะดา นิจถาวร
บุคคลอ้างอิง นายเชาว์วิศิษฐ์ ปัญญาธิวุฒิ
ชื่อที่ทำงาน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสระบุรี
เลขที่ ๖๐/๑ ถนน เทศบาล๓
ตำบล ปากเพรียว อำเภอ เมืองสระบุรี จังหวัด สระบุรี รหัสไปรษณีย์ 18000
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่