เครือข่ายชมรมอนุรักษ์และสืบสานการแสดงนาฏศิลป์ อำเภอแม่ลาว ได้รับการรับรองจดแจ้งเป็นเครือข่าย และออกหนังสือรับรองเป็นเครือข่ายทางวัฒนธรรม ใบรับรองเลขที่ ๔๕๓/๒๕๖๓ ลงวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๖๓ โดยมี นางมาลัย ทะริยะ ข้าราชการบำนาญ เป็นประธานเครือข่าย ทางเครือข่ายได้เข้าร่วมแสดงนาฏศิลป์ร่วมงานต่างๆทั้งในอำเภอและนอกอำเภอ โดยผู้เข้าร่วมในเครือข่ายและผู้แสดงส่วนใหญ่คือผู้สูงอายุในชุมชน ได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน อีกทั้งเป็นการสืบสานศิลปวัฒนธรรมไทย
การแสดงส่วนใหญ่ของทางเครือข่ายจะใช้เป็นการฟ้อนเล็บ เนื่องจากเป็นการแสดงที่ไม่ได้จำกัดผู้แสดงและสามารถแสดงได้ในทุกสถานที่หากทางงานเทศกาล ประเพณีใด ต้องการคนแสดงจำนวนมาก ทางชมรมเครือข่ายพร้อมที่จะเตรียมการแสดงให้ได้
ฟ้อนเล็บ เป็นศิลปะการแสดงที่เป็นเอกลักษณ์ทางภาคเหนือโดยเฉพาะ รูปแบบการฟ้อนมีอยู่ ๒ แบบ คือแบบพื้นเมืองหรือฟ้อนเมือง และแบบคุ้มเจ้าหลวง กระบวนท่ารำเป็นลีลาท่าฟ้อนที่มีความงดงามเช่นเดียวกับฟ้อนเทียน เพลงแต่ไม่ถือเทียน นิยมฟ้อนในเวลากลางวัน สำหรับชื่อชุดการแสดงจะมีความหมายตามลักษณะของผู้แสดงที่จะสวมเล็บยาวสีทองทุกนิ้ว ยกเว้นนิ้วหัวแม่มือ ผู้แสดงจะร่ายรำตามทำนองเพลงที่เชื่องช้า ส่วนการใช้ท่าฟ้อนเล็บนั้น ช่างฟ้อนมักจะจำต่อๆ กันมา เป็นท่าฟ้อนดั้งเดิมของชาวเหนือ คือ ท่าพายเรือ ท่าบัวบานบิด และท่าหย่อน ต่อมาเมื่อนาฏศิลป์ทางภาคกลางแพร่มาสู่ภาคเหนือ การฟ้อนเล็บก็มีการปรับวิธีการฟ้อนให้เข้ากับท่ารำแม่บท เพิ่มท่ารำให้มากขึ้นและแตกต่างกันไป
เครื่องดนตรีที่ใช้ในการฟ้อนเป็นวงกลองตึ่งนง วงต๊กเส้ง หรือวงปี่พาทย์ล้านนา (นิยมใช้กับฟ้อนเล็บแม่ครูบัวเรียว) ซึ่งเป็นดนตรีของชาวภาคเหนือ ได้แก่ กลองแอว กลองตะโล้ดโป๊ด ฉาบ ฆ้องโหม่งใหญ่ ฆ้องโหม่งเล็ก ฉิ่ง ปี่แนหน้อย ปี่แนหลวง แต่ถ้าเป็นวงต๊กเส้ง จะเพิ่ม สิ้ง มาด้วย เวลาดนตรีบรรเลงเสียงปี่ดังไพเราะเยือกเย็นมาก ท่วงทำนองเชื่องช้า เสียงกลองจะตีดัง ต๊ก สว่า ตึ่ง นง อย่างนี้เรื่อยไป ส่วนช่างฟ้อนก็จะฟ้อนช้า ๆ ไปตามลีลาของเพลง เพลงที่ใช้บรรเลงฟ้อนเล็บจะแบ่งตามท้องถิ่นหลักของแต่ละที่จะใช้เพลงฟ้อนเล็บต่างกัน ดังนี้
๑. เพลงมอญเชียงแสน(เชียงแสนหลวง) เป็นเพลงทำนองฟ้อนเล็บของท้องถิ่นจังหวัดเชียงรายและพะเยา
๒. เพลงแม่ดำโปน เป็นเพลงทำนองฟ้อนเล็บของท้องถิ่นจังหวัดลำปาง
๓.เพลงแหย่ง เป็นเพลงทำนองฟ้อนเล็บของท้องถิ่นจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน
ฟ้อนแต่ละชุดจะใช้จำนวนคนแตกต่างกันไป นิยมกันมี ๔ คู่ ๖ คู่ ๘ คู่ หรือ ๑๐ คู่
การแต่งกาย
แต่งกายแบบไทยชาวภาคเหนือสมัยโบราณ คือ เกล้าผมทัดดอกไม้และอุบะ นุ่งผ้าตามแบบชาวเหนือ สวมเสื้อทรงกระบอกแขนยาว คอกลมห่มสไบเฉียง นุ่งผ้าซิ่นลายขวาง และ สวมเล็บมือยาว ๘ นิ้ว โดยเว้นนิ้วหัวแม่มือ
การสืบสาน สร้างสรรค์ และพัฒนาต่อยอดข้อมูล
มีการจัดตั้งชมรมอนุรักษ์และสืบสานการแสดงนาฏศิลป์ อำเภอแม่ลาว โดยมีนางมาลัย ทะริยะ เป็นประธานชมชม และได้ยื่นจดแจ้งเป็นเครือข่ายวัฒนธรรมระดับอำเภอ มีการรวมกลุ่มผู้แสดงในระดับอำเภอจำนวนตั้งแต่ ๑๐ – ๓๐๐ คน จัดการเรียนการสอนให้ทั้งผู้สูงอายุ เด็ก เยาวชน และผู้ที่สนใจ ให้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ พร้อมทั้งเป็นการอนุรักษ์ รักษาศิลปะการแสดงแบบดั้งเดิมไว้
การแสดงผลงานของข้อมูล
ในงานเทศกาล ประเพณี วันสำคัญต่างๆ ในอำเภอแม่ลาว และสถานที่อื่นๆ ตามผู้ว่าจ้าง จัดการเรียนการสอนให้ทั้งผู้สูงอายุ และเด็ก เยาวชน ในชุมชน