ปัจจุบันตั้งอยู่หมู่ที่ 9 ต.บ้านหมอ อ.บ้านหมอ จ.สระบุรีตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอำเภอบ้านหมอ และอยู่ทางทิศตะวันตกของอ่างเก็บน้ำบ้านหมอ
ลักษณะทั่วไป
ลักษณะของเมืองโบราณแห่งนี้เป็นเมืองรูปสี่เหลี่ยมมุมมน มน กว้างประมาณ ๓๖๐ เมตร ยาวประมาณ ๒ กิโลเมตร พื้นที่โดยประมาณ ๐.๒๗ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๗๐-๘๐ ไร่ มีคูน้ำคันดินล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน ประกอบไปด้วยคูน้ำ 2 ชั้นและคันดิน 1 ชั้น ซึ่งรูปแบบดังกล่าวเป็นลักษณะแผนผังของเมืองโบราณในสมัยทวารวดี เช่น เมือง นครปฐมโบราณ เมืองโบราณอู่ทอง เป็นต้น
หลักฐานที่พบ
พบแผ่นอิฐแบบทวารวดีเป็นอิฐขนาดใหญ่ มีแกลบข้าวผสม และพบโบราณวัตถุประเภทหินบดและแท่นบด เศษภาชนะดินเผา พวยกา และแวดินเผาแบบทวารวดี และพบเศษภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งแบบสีเทาและสีดำ นอกจากนี้ยังพบประติมากรรมหินสลักรูปทวารบาล ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่วัดพระพุทธบาท
หลักฐานเอกสาร
พงศาวดารเหนือ(ฉบับพระวิเชียรปรีชา (น้อย)) กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า "สมเด็จพระเจ้าไกรสรราช จึงสั่งให้เสนาในให้สร้างเมืองใกล้เมืองละโว้ ทาง ๑๐๐ เส้น จึงแต่งพระราชวังและคูหอรบ เสาใต้เชิงเรียงบริบูรณ์แล้ว จึงให้อำมาตย์รับเอาพระเจ้าดวงเกรียงกฤษณราชกับราชเทวี ไปราชาภิเษกร่วมกัน เมืองนั้นจึงชื่อว่าเสนาราชนคร แต่นั้นมา..."
ตำนานพระพุทธบาทและคำให้การขุนโขลน (ในชุมนุมพงศาวดาร ภาค ๗) กล่าวว่า "ภายหลังรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรมทรงค้นพบรอยพระพุทธบาทแล้ว พระองค์ได้ทรงอุทิศที่ดินหนึ่งโยชน์ถวายเป็นพุทธกัลปนาผล บริเวณโดยรอบหนึ่งโยชน์กินเนื้อที่ถึงอำเภอบ้านหมอ อำเภอหนองโดนสมัยนี้ด้วย แล้วทรงขนานนามเป็นเมืองว่า "ปรันตปะ" หรือ "เมืองขีดขิน" ดังปรากฏใน "คำให้การขุนโขลน" ตอนหนึ่งว่า "เมืองนครขีดขิน ในพระบาลีเรียกว่า ปรันตปนครราชธานี"
เมื่อปี พ.ศ. 2476 นายอีริค ไซเดนฟาเดน ทำการสำรวจบริเวณคูเมืองและบ้านหมอ โดยวิธีเดินสำรวจและสัมภาษณ์ พบว่า เมืองโบราณแห่งนี้มี 5 ประตู ได้แก่ ประตูวัดสัก (ทิศใต้) ประตูกลาง (ทิศตะวันตก) ประตูพระยาดักไซ (ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ) ประตูผี (ทิศเหนือ) ประตูล้อม (ทิศตะวันออก) ภายในเนินดินมีโคกสูง เรียกกันว่า โคกปราสาท การสำรวจบริเวณโคกปราสาทพบกองอิฐทางด้านทิศใต้ นอกจากนี้ยังพบเศษหินทรายที่มีลวดลายสลัก สันนิษฐานว่าเป็นชิ้นส่วนประติมากรรมนาค บริเวณทิศเหนือของโคกพบกองอิฐเป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้วัดตากร้องที่อยู่บริเวณใกล้กับเมืองโบราณเคยขุดพบกะโหลกศีรษะมนุษย์เป็นจำนวนมาก พบสายสร้อยข้อมือทองคำ แผ่นทองลายช้างและพระพุทธรูป
พ.ศ. 2524-2527 อาจารย์ผ่องศรี วนาสิน และอาจารย์ทิวา ศุภจรรยา ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องของชายฝั่งทะเลเดิม พบว่า ชายฝั่งทะเลในสมัยโฮโลซีนลึกเข้ามาถึงจังหวัดสระบุรี โดยเมืองโบราณขีดขิน อยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลประมาณ 10-15 กิโลเมตร
ต่อมาในพ.ศ. 2550 อาจารย์และนักศึกษาคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ทำการขุดค้นอย่างเป็นระบบ พบว่า เมืองโบราณขีดขินสามารถกำหนดอายุเป็นชั้นวัฒนธรรมได้ 3 ชั้น คือ
1.วัฒนธรรมสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย โดยพบเศษภาชนะดินเผาด้านล่างสุดก่อนมีการสร้างกำแพงเมือง กำหนดอายุด้วยวิธีคาร์บอน 14 ได้ประมาณ 2,300-3,000 ปีมาแล้ว และพบเศษกระดูกสัตว์ เช่น วัว ควาย กวาง เต่า เป็นต้น กำหนดอายุด้วยวิธีคาร์บอน 14 ได้ประมาณ 1,900 – 2,500 ปีมาแล้ว
2.วัฒนธรรมสมัยทวารวดี จากการขุดค้นพบหลักฐานในชั้นวัฒนธรรมนี้มากที่สุด โบราณวัตถุที่พบส่วนใหญ่เป็นเศษภาชนะดินเผาประเภทเนื้อดินธรรมดา (Earthen ware) มีลวดลายตกแต่ง มีทั้งใช้การขูดขีดและการเขียนสี นอกจากนี้ยังพบ ตะคันเทียนดินเผา แวดินเผา เบี้ยดินเผา และลูกปัดประเภทต่างๆ กำหนดอายุด้วยวิธีคาร์บอน 14 ได้ประมาณ 1,200-1,400 ปีมาแล้ว
3.วัฒนธรรมในสมัยอยุธยา หลักฐานทางโบราณคดีในชั้นวัฒนธรรมนี้ไม่ชัดเจนเนื่องจากไม่พบการกระจายตัวของโบราณวัตถุ แต่พบเศษภาชนะเขียนลายสีน้ำเงินใต้เคลือบ ซึ่งเป็นเครื่องเคลือบจีนสมัยราชวงศ์หมิงที่มีอายุสมัยร่วมกับสมัยอยุธยา นอกจากนี้ยังพบร่องรอยศาสนสถานบนคันดินด้านทิศตะวันตก (โคกโบสถ์) ซึ่งสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา
เส้นทางเข้าสู่บ้านคูเมือง
เริ่มจากตัวเมืองสระบุรีตามทางหลวงหมายเลข ๑ (ถนนพหลโยธิน) ไปทางเหนือประมาณ ๗ กิโลเมตรถึงทางแยกบ้านห้วยบง เลี้ยวซ้ายสู่ทางหลวง ๒๐๔๘ (ถนนสายบ้านห้วยบง-ท่าลาน) ระยะทาง ๑๕ กิโลเมตรถึงบริษัทปูนซีเมนต์ไทยท่าหลวง เลี้ยวขวาไปตามถนนเลียบคันคลองชลประทาน ๗ กิโลเมตร ถึงบริเวณที่จะเข้าที่ว่าการอำเภอบ้านหมอ เลี้ยวขวาข้ามสะพานชลประทานสู่ทางหลวง ๓๐๒๒ (ถนนพระพุทธบาท-ท่าเรือ)ประมาณ ๒ กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายประมาณ ๑๕๐๐ เมตร ถึงบริเวณบ้านคูเมือง