นายสมชาย มะสะอะ เป็นภูมิปัญญาการทำตะขอกรงนก ได้เล่าว่า ก่อนที่จะมาทำตะขอกรงนก ได้เริ่มต้นทำกรงนกเขาชวา ตั้งแต่ปี ๒๕๒๗ ซึ่งในขณะนั้นมีอายุ ๑๗ ปี จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ไม่ได้ศึกษาต่อ เนื่องจากมีความสนใจและชอบการทำกรงนกเขาชวา เพราะในชีวิตประจำวันคลุกคลีอยู่กับกรงนก ครอบครัวของ นายสมชาย มะสะอะ มีอาชีพหลักคือการทำกรงนกและตะขอกรงนก นายสมชายได้เรียนรู้และฝึกฝนการทำกรงนกจากบิดาจนชำนาญ นายสมชายจึงหันมาประกอบอาชีพทำกรงนกทำมาได้สักระยะหนึ่งก็เห็นว่าวัตถุดิบที่นำมาใช้ทำกรงนกนั้นเริ่มหายากในพื้นที่ต้องเดินทางไปหาซื้อวัตถุดิบต่างพื้นที่ ทำให้เสียเวลาและเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น จึงเปลี่ยนมาทำหัวกรงนกแทน ส่วนบิดาและพี่ๆ ก็ยังทำกรงนกและตะขออยู่เหมือนเดิม ตนเองทำหัวกรงนกส่งขายให้กลุ่มทำกรงนก กรงนกเขาชวา ประกอบด้วย ๓ ส่วน ส่วนที่หนึ่งตัวกรงนก ส่วนที่สองหัวกรงนก ส่วนที่สามตะขอกรงนก กลุ่มเล่นนกเขาชวาของอำเภอจะนะส่วนใหญ่จะชอบตะขอกรงนกจากอำเภอ นาประดู่ จังหวัดปัตตานี นายสมชาย มะสะอะ ซึ่งมีความรู้พื้นฐานการทำตะขอกรงนกจากบิดาบ้างแล้วจึงเดินทางไปอำเภอ นาประดู่ เพื่อซื้อตะขอมาดูเป็นตัวอย่าง ซึ่งตะขอที่ซื้อมาก็ไม่ได้มีลวดลายที่สวยงามมากนักแต่ราคาสูง นายสมชายจึงมีแนวคิด ที่จะทำตะขอขึ้นมา ซึ่งเดิมนายสมชายมีความชอบและสนใจในตะขอกรงนกที่บิดาทำอยู่ นายสมชายจึงหันมาทำตะขออย่างจริงจังในช่วง ๕-๖ ปีที่ผ่านมาโดยคิดแบบใหม่ๆ ขึ้นมา เช่น ลายนางเงือก ลายไก่จิกแบบหางพองและไม่พอง หงส์กระดูก กระทิง ไก่ฟ้า มังกร ฯลฯ
จนถึงปัจจุบันตะขอกรงนกของนายสมชาย มะสะอะ เป็นที่ยอมรับของนกเขาชวาในนามว่า “ตะขอมะนัง”