ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
Latitude : N 13° 25' 28.4146"
13.4245596
Longitude : E 99° 57' 25.4077"
99.9570577
No. : 197165
วัดอัมพวันเจติยาราม
Proposed by. สมุทรสงคราม Date 9 September 2022
Approved by. สมุทรสงคราม Date 24 December 2024
Province : Samut Songkhram
0 664
Description

วัดอัมพวันเจติยาราม เดิมชื่อว่า วัดอัมพวา เป็นศาสนสถานสำคัญในประวัติศาสตร์สมัยรัตนโกสินทร์และมีความเกี่ยวเนื่องกับพระบรมราชจักรีวงศ์ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นใน พ.ศ. ๒๓๒๕ เมื่อแรกสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ โดยต้นวงศ์ราชินิกุลทางฝ่ายสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี พระบรมราชินีในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชสร้างถวายแด่สมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์มหานาคนารี พระราชชนนี ณ บริเวณนิวาสสถานเดิมของพระองค์ ซึ่งเป็นทั้งที่ประทับและที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จพระบรมราชสมภพ นอกจากนี้ยังทรงรวบรวมที่ดินและพระตำหนักของพระญาติวงศ์หลายพระองค์สร้างขึ้นเป็นวัดแห่งนี้ ขณะที่มีนักประวัติศาสตร์บางท่านสันนิษฐานว่าสมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์มหานาคนารี ซึ่งทรงผนวชในรูปชี ได้พระราชทานนิวาสสถานเดิมสร้างเป็นวัดดังนั้นกล่าวโดยสรุปได้ว่าวัดอัมพวันเจติยารามมีความสำคัญเกี่ยวเนื่องกับพระบรมราชจักรีวงศ์ทางราชินิกุล ณ บางช้าง เฉกเช่นวัดสุวรรณดาราราม ราชวรวิหาร จังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่สถาปนาโดยสมเด็จพระบรมราชบุพการีในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ในส่วนที่เป็นพระตำหนักเดิมของสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินีนั้น มีผู้สันนิษฐานว่าตั้งอยู่เยื้องมาทางทิศใต้ของพระอุโบสถ คือ บริเวณที่เป็นวิหารคดและที่ตั้งขององค์พระปรางค์ในปัจจุบัน ด้วยตามธรรมเนียมประเพณีไทยแต่โบราณ บุตรจะไม่สามารถปลูกเรือนอยู่ด้านทิศเหนือของเรือนบิดามารดาได้ ยกเว้นเพียงบุตรคนโตเท่านั้น ส่วนพระตำหนักหรือนิวาสสถานเดิมของสมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์มหานาคนารี คือบริเวณพระวิหารหรือพระที่นั่งทรงธรรม ซึ่งเมื่อพระตำหนักไม้ผุพังตามกาลเวลาจึงสร้างวิหารขึ้นแทน

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะพระอารามแห่งนี้ขึ้น และโปรดให้สร้างพระวิหารและกุฏิเรือนไทย พระประจำวิหาร และองค์พระปรางค์ตรงกลางพระวิหาร ในบริเวณที่เชื่อว่าเป็นตำหนักที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จพระบรมราชสมภพพร้อมทั้งอัญเชิญพระบรมอัฐิพระบรมชนกนากมาประดิษฐานในพระปรางค์ดังกล่าวและโปรดแต่งตั้งให้พระธรรมปาลาจารย์เป็นเจ้าอาวาส จนกระทั่งพระธรรมปาลาจารย์ มรณภาพ จึงโปรดแต่งตั้งให้พระสังวรวินัย (บัว) เป็นเจ้าอาวาสแทน

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้บูรณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถทั้งหลัง พร้อมทั้งให้สร้างศาลาทรงธรรมด้านหน้าพระอุโบสถ และพระราชทานนามพระอารามใหม่ว่า วัดอัมพวันเจติยาราม ซึ่งมีความหมายว่า วัดที่มีเจดีย์ และสวนมะม่วงอันร่มรื่นเกษมสำราญ

เป็นสถานที่น่าเคารพบูชา ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จประพาส วัดอัมพวันเจติยาราม ใน พ.ศ. ๒๔๔๗ คราวเสด็จประพาสต้น และใน พ.ศ. ๒๔๕๒ คราวเสด็จพระราชดำเนินมณฑลราชบุรีได้พระราชทานเงินพระคลังข้างที่เพื่อบูรณะพระอาราม จำนวน ๔,000บาท และโปรดแต่งตั้งให้พระครูวัดบ้านแหลม เป็นพระราชาคณะที่พระมหาสิทธิการ เป็นเจ้าอาวาสวัดอัมพวันเจติยารามในงานนิพนธ์ของเจ้าพระยาวิชิตวงษ์วุฒิไกร (หม่อมราชวงศ์คลี่ สุทัศน์) เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ซึ่งได้รวบรวมประวัติพระอารามหลวงในสมัยนั้น ปรากฎข้อมูลเกี่ยวกับวัดอัมพวันเจติยารามความว่า "...วัดอัมพวันเจติยาราม อยู่เหนือปากคลองอัมพวา เมืองสมุทรสงคราม ในรัชกาลที่ ๑ สมเด็จพระศิริโสภาคย์มหานาคนารี ทรงสร้างใหม่ ถึงรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิสังขรณ์"

พระอุโบสถ

เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนขนาดใหญ่ หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องลดชั้น ๒ ชั้นซ้อนกันชั้นละ ๓ ตับ และด้านหน้าและหลังมีพาไลรองรับด้วยเสาปูนสี่เหลี่ยมจำนวน ๔ เสา ช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ปูนปั้น หน้าบันปูนปั้นประดับกระจกสีลายดอกลอยบนพื้นสีผนังสกัดด้านหน้าและหลังมีประตูทางเข้าด้านละ ๒ ประตู ผนังด้านข้างมีหน้าต่างด้านละ ๕บาน ซุ้มประตูและหน้าต่างเป็นซุ้มทรงบันแถลง มีการตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นอย่างสวยงาม กรอบหน้าต่างด้านในมีการแกะสลักไม้ประดับ ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น พระพุทธรูปองค์นี้สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช แต่ภายหลังพระเศียรชำรุด จึงได้มีการซ่อมแซมใหม่ทำให้ลักษณะของพระพักตร์ไม่งดงามเช่นเดิม นอกจากนี้ มีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โปรดให้เขียนขึ้นตามแบบศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และเรื่องราวเกี่ยวกับบทพระราชนิพนธ์ เรื่อง สังข์ทอง ไกรทอง อิเหนาและคาวี ส่วนภาพจิตรกรรมฝาผนังบริเวณระหว่างช่องประตูด้านหน้า ซึ่งเป็นภาพการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยกระบวนพยุหยาตราทางสถลมารค เป็นส่วนที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงลงฝีพระหัตถ์พระพักตร์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทหารกลอง และต้นไม้ข้างป้อมริมกำแพง

Location
Amphoe Amphawa Province Samut Songkhram
Details of access
วัดอัมพวันเจติยาราม
Tambon อัมพวา Amphoe Amphawa Province Samut Songkhram
Comment
Please Login Before comment.

Username
Password
No comment.
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่