ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
Latitude : N 15° 46' 53.4518"
15.7815144
Longitude : E 99° 31' 14.475"
99.5206875
No. : 197557
ประวัติอำเภอแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์
Proposed by. นครสวรรค์ Date 4 October 2022
Approved by. นครสวรรค์ Date 4 October 2022
Province : Nakhon Sawan
0 1184
Description

สภาพทั่วไป

สภาพภูมิศาสตร์

มีขนาดพื้นที่ประมาณ ๑,๐๘๗.๑๔ตารางกิโลเมตร หรือ ๖๘๐,๖๒๕ ไร่

  • ด้านทิศตะวันตกและทิศเหนือ คือ ตำบลแม่เล่ย์ ตำบลแม่วงก์ และตำบลเขาชนกัน เป็นที่ราบสูงและภูเขา
  • ด้านทิศตะวันออก คือ ตำบลวังซ่าน เป็นที่ราบลุ่ม มีภูเขาที่สำคัญ คือเขาแม่กระทู้

อาณาเขต

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ อำเภอปางศิลาทอง และอำเภอขาณุวรลักษณ์บุรี จังหวัดกำแพงเพชร
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ อำเภอชุมตาบงและอำเภอแม่เปิน จังหวัดนครสวรรค์
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก

ลักษณะภูมิประเทศ

ลักษณะทางภูมิศาสตร์โดยทั่วไปเป็นที่ราบสูงแบบลูกฟูก เหมาะแก่การเกษตรจำพวกพืชไร่ ลักษณะพื้นที่ จะลาดเอียงจากทิศตะวันตกมาทิศตะวันออก โดยมีทิวเขาชนกันกั้นกลางในเขตอำเภอ และมีทิวเขาถนนธงชัยตะวันออกเป็นเสมือนกำแพงขนาดใหญ่ทางทิศตะวันตก ทำให้เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของสาขาแม่น้ำสะแกกรังและเป็นเขตป่าอนุรักษ์ที่สำคัญของประเทศทิศตะวันตกติดกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง จังหวัดตาก ที่เชื่อมโยงไปถึงป่าทุ่งใหญ่นเรศวรของจังหวัดกาญจนบุรี เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี และอุทยานแห่งชาติคลองลาน ในจังหวัดกำแพงเพชร ภูเขาที่สำคัญ คือ เทือกเขาแม่กะสีเขาชนกัน เขาแม่กระทู้ (ชื่อเดิมไม้กระทู้)ลำน้ำที่สำคัญ ได้แก่ ลำน้ำแม่วงก์ ซึ่งไหลมาจากเขาสบกบ ในเขตตำบลแม่เล่ย์ อำเภอแม่วงก์ ไหลล่องคดเคี้ยวไปสู่ทิศตะวันออก ผ่านอำเภอลาดยาว สู่แม่น้ำสะแกกรัง ที่อำเภอทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี และลำน้ำสาขาของลำน้ำแม่วงก์ เช่น คลองไทร ห้วยตะกวด เป็นต้นซึ่งเป็นลำน้ำหล่อเลี้ยงในการเกษตรของประชาชนในพื้นที่

ลักษณะภูมิอากาศ

สภาพภูมิอากาศเป็นแบบมรสุม ๓ ฤดู คือ ฤดูร้อน ฤดูฝน ฤดูหนาวมีลักษณะอากาศร้อนชื้นกึ่งสะวันนา เนื่องจากอยู่ในเขตเงาฝนของทิวเขาถนนธงชัย จึงมีช่วงฤดูฝนและฤดูแล้งที่เห็นเด่นชัด ฤดูฝนได้รับอิทธิพลจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ส่วนฤดูหนาวได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคมจะมีอากาศค่อนข้างหนาวเย็นและในฤดูร้อนช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม จะมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดในฤดูฝน ฝนตกไม่สม่ำเสมอ ปีใดฝนตกน้อย จะมีน้ำไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตร น้ำใช้ในการอุปโภคบริโภคไม่เพียงพอ และปีใดฝนตกหนัก จะทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลาก เกิดภาวะน้ำท่วมพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย

ข้อมูลด้านศาสนาการศึกษาและวัฒนธรรม

ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ

  • วัดพุทธ จำนวน ๔๘ แห่ง
  • สำนักสงฆ์ จำนวน ๒๙ แห่ง

จำนวนสถานศึกษา

  • ระดับประถมศึกษา ๒๒ แห่ง
  • ระดับมัธยมศึกษาศึกษา ๑ แห่ง
  • ระดับอุดมศึกษา ๑ แห่ง
  • ระดับประถมศึกษาขยายโอกาส 10 แห่ง

ประชากรส่วนใหญ่เป็นผู้อพยพมาจากถิ่นอื่น เช่นแถบอำเภอตาคลี อำเภอท่าตะโก และจังหวัดทางภาคอีสาน

การคมนาคม

เส้นทางคมนาคมทางรถยนต์ เข้าสู่อำเภอแม่วงก์ดังนี้

๑. ทางหลวงหมายเลข ๑๐๗๒(บ้านหนองเบน - อำเภอคลองลาน)

โดยออกจากอำเภอลาดยาว ระยะทาง ๑๒ กม. ถึงตลาดศาลเจ้าไก่ต่อเลี้ยวซ้ายตามทางหลวงชนบทเข้าอำเภอแม่วงก์ ระยะทางประมาณ ๑๘ กม. หรือตามทางหลวงหมายเลข ๑๐๗๒ (บ้านหนองเบน - อำเภอคลองลาน) ระยะทาง ๔๔ กม. ถึงสี่แยกบ้านเขาชนกัน เลี้ยวซ้ายตามทางหลวงหมายเลข ๓๕๐๔ ระยะทาง ๑๕ กม. ถึงที่ว่าการอำเภอแม่วงก์

๒. ทางหลวงหมายเลข ๓๔๗๓(บ้านหนองจิกรี - อำเภอชุมตาบง - บ้านถนนสุด

โดยออกจากอำเภอลาดยาว ตามทางหลวงหมายเลข ๓๐๑๓(อำเภอลาดยาว - อำเภอบ้านไร่) ระยะทาง ๓ กม. ถึงบ้านหนองจิกรี เลี้ยวขวาตามทางหลวงหมายเลข ๓๔๗๓ ถึงสี่แยกหัวเขาแดง เลี้ยวขวาตามทางหลวงหมายเลข ๓๕๐๔ เข้าอำเภอแม่วงก์ ระยะทาง ๒๗ กม

๓. ทางหลวงหมายเลข ๑๐๗๒(อำเภอคลองลาน - บ้านหนองเบน)

โดยออกจากตลาดอำเภอคลองลาน ระยะทาง ๔๐ กม. ถึงตลาดบ้านเขาชนกันตรงเข้าอำเภอแม่วงก์ ตามทางหลวงหมายเลข ๓๕๐๔ ระยะทาง ๑๕ กม.

ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น

ประวัติอำเภอแม่วงก์

“แม่วงก์“

เป็นชื่อของลำน้ำสายหนึ่งในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ซึ่งเป็นลำน้ำ ที่มีความคดเคี้ยว ไหลเชี่ยวกราก วกวน ไปมา จึงเรียกกันว่า “แม่วงก์“ ซึ่งหมายถึงวงกต

ในสมัยก่อน ผืนป่าดงทึบอันกว้างใหญ่ไพศาลด้านทิศตะวันตกซึ่งเป็นพื้นที่ของตำบลศาลเจ้าไก่ต่อ ตำบลห้วยน้ำหอม อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ มีราษฎรอพยพจากที่ต่าง ๆ เข้าถากถางจับจองเป็นที่ทำมาหากินเนื่องจากมีความอุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การทำเกษตรกรรม

ปี พ.ศ. ๒๕๓๒สมัยการปกครองของนายศิริพงษ์ จันทร์ชุ่มตำแหน่งนายอำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ ได้พิจารณาเห็นว่าอำเภอลาดยาวมีพื้นที่กว้างใหญ่ จำนวนประชากรมากทำให้ไม่สะดวกในการติดต่อราชการ จึงรายงานกระทรวงมหาดไทยเพื่อขอแบ่งเขตการปกครองเพิ่มขึ้น โดยตำบลศาลเจ้าไ่ก่ต่อ แบ่งเป็นตำบลแม่วงก์ ตำบลวังซ่าน ตำบลแม่เล่ย์และตำบลแม่เล่ย์ได้แบ่งเป็นตำบลเขาชนกัน ส่วนตำบลห้วยน้ำหอม แบ่งเป็นตำบลปางสวรรค์และจากนั้น จึงรายงานกระทรวงมหาดไทย เพื่อขอตั้งเป็นกิ่งอำเภอขึ้น

วันที่ ๑ เม.ย. ๒๕๓๕สมัยการปกครองของนายกมล ศิริวัฒนา เป็นนายอำเภอลาดยาว กระทรวงมหาดไทยมีประกาศตั้งกิ่งอำเภอ ลงวันที่ ๑๓ มี.ค. ๒๕๓๕ โดยให้ชื่อว่า"กิ่งอำเภอแม่วงก์" ตามชื่อตำบลแม่วงก์มีศูนย์ราชการตั้งอยู่ที่บ้านเขาแม่กระทู้ หมู่ที่ ๙ ตำบลแม่วงก์

วันที่ ๑ ก.ค. ๒๕๔๐กิ่งอำเภอแม่วงก์ได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอแม่วงก์ตามพระราชกฤษฎีกา ประกาศตั้งอำเภอแม่วงก์ เล่ม ๑๑๔ ตอนที่ ๕๐ก วันที่ ๒๖ ก.ย. ๒๕๔๐ โดยมีนายศิริสิทธิ์ พันธ์นรา ปลัดอำเภอ (เจ้าพนักงานปกครอง ๗) รักษาราชการแทนนายอำเภอแม่วงก์

ประวัติการตั้งถิ่นฐาน

จากการสำรวจ ไม่ปรากฎหลักฐานว่าชุมชนโบราณเก่าแก่ดั้งเดิมอยู่บริเวณใด มีเพียงแต่คำบอกเล่าที่ใช้เป็นหลักฐานอ้างอิง ดังนี้

นายพฤกษ์ อินปนามข้าราชการครูบำนาญอดีตครูใหญ่คนแรกของโรงเรียนบ้านวังซ่าน (ปัจจุบันถึงแก่กรรม) ได้บันทึกไว้ว่า

...กลุ่มคนที่เข้ามาบุกเบิกตั้งถิ่นฐานรุ่นแรก ๆ น่าจะอยู่บริเวณหมู่บ้านวังซ่าน ตำบลวังซ่านในปัจจุบันเพราะบ้านวังซ่านเป็นหมู่บ้านเก่าแก่และเป็นประตูทางเข้าอำเภอแม่วงก์ บ้านวังซ่าน เดิมเป็นหมู่บ้านอยู่ในการปกครองของตำบลห้วยน้ำหอมอำเภอลาดยาว ต่อมาได้ย้ายไปอยู่ในการปกครองของตำบลศาลเจ้าไก่ต่อ อำเภอลาดยาว

สาเหตุที่เรียกว่า "วังซ่าน" เดิมเขียนว่า "วังสร้าน" สันนิษฐานว่า สมัยก่อนบริเวณนี้เป็นป่าดงดิบไม่มีผู้คนอาศัย มีไม้ประเภทเบญจพรรณขึ้นอยู่อย่างมากมาย เช่น ไม้ยาง สะเดาปรัก มะค่าที่ดินเหมาะแก่การเกษตรเป็นอย่างยิ่ง

ประมาณ ปี พ.ศ. ๒๔๘๓ นายอินทร์, นายปรั่งไม่ทราบนามสกุล นายเปิ้น ทองถิ่นภู และนายทอง ทองถิ่นภู ได้เข้ามาอยู่รวมกันด้วยการปลูกกระท่อมไว้เป็นที่สำหรับพักอาศัยและตั้งเป็นชุมตักน้ำมันยาง การคมนาคมสมัยนั้นไม่มีถนน การเดินทางต้องใช้เกวียนเป็นพาหนะ ในเส้นทางต้องเดินผ่านลำธารซึ่งมีร่องน้ำเป็นวังลึก (ปัจจุบันคือ ลำน้ำแม่วงก์)และบริเวณวังน้ำมีต้นซ่านขึ้นอยู่ ผู้ที่เดินทางผ่านจึงเรียกกันจนติดปากว่า "วังซ่าน"

ต่อมาประมาณ พ.ศ. ๒๔๙๒ นายทองและนายเปิ้นได้ชักชวนญาติพี่น้องเข้ามาอยู่รวมกันจำนวน ๕ หลัง

พ.ศ. ๒๔๙๘ มีบ้านเพิ่มขึ้นเป็น ๑๐ หลังจึงเรียกหมู่บ้านนี้ว่า "บ้านวังซ่าน"ต่อมาได้ยกฐานะเป็นตำบล จึงเรียกว่าตำบลวังซ่านตามชื่อของต้นไม้ และใช้รูปต้นซ่านเป็นตราประจำตำบล

(ต้นซ่านเป็นไม้ยืนต้น ใบมีลักษณะมน รี ใหญ่เหมือนใบหูกวาง ยาวประมาณ ๖ - ๙ นิ้ว โดยแตกใบรวมกันที่ปลายกิ่ง ประมาณ ๖ - ๑๐ ใบต่อกิ่ง ผลของต้นซ่านจะสุกประมาณเดือน เม.ย. ของทุกปี ผลมีสีเหลืองและมีกลิ่นเฉพาะตัว สามารถรับประทานได้และเป็นที่ชื่นชอบของสัตว์ป่าหลายชนิด ปัจจุบันต้นซ่านในตำบลวังซ่านเหลือน้อยมาก)

นายโอภาส เสือทุเรียนอดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๗(บ้านวัด) ตำบลวังซ่าน อำเภอแม่วงก์ เล่าว่า

...สมัยก่อนบริเวณนี้เป็นป่าดงดิบ ยังไม่มีผู้คนอาศัย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๓ หลวงปู่ท้าว กัลยาโณ ได้เดินธุดงค์เข้ามาในป่าแม่วงก์ เพื่อปฏิบัติกรรมฐานโดยอาศัยอยู่ในโพรงต้นกระปุงใหญ่เป็นแรมปี

ต่อมา มีประชาชนจากตำบลสร้อยละคร ตำบลมาบแก และตำบลวังเมือง อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ และจากภาคอีสาน อพยพครอบครัวตามหลวงปู่เข้ามาอยู่ในป่าแม่วงก์ด้วย และได้ช่วยกันสร้างศาลามุงด้วยแฝกถวายให้หลวงปู่ ๑ หลังและหลวงปู่ได้ใช้ศาลาดังกล่าวเป็นที่รักษาคนเจ็บป่วยจนกว่าจะหาย จึงจะให้กลับบ้านได้

นอกจากนี้หลวงปู่ยังชักชวนชาวบ้านสร้างเหมืองฝายจากบ้านตะกรุดถึงบ้านวังซ่าน และจากบ้านไผ่ลาวถึงบ้านวัด ซึ่งปัจจุบันยังใช้อยู่ รวมทั้งยังนำชาวบ้านสร้างถนนจากบ้านวัดถึงอำเภอลาดยาวโดยใช้ฆ้องตีเป็นสัญญาณให้ชาวบ้านตัดต้นไม้ทำถนน ปัจจุบันคือ ถนนสายลาดยาว - เขาชนกัน

ต่อมา ประชาชนได้ร่วมกันสร้างศาลาหลังใหม่ให้หลวงปู่ และหลวงปู่ตั้งชื่อวัดว่า"วัดศรีกัลยานุสรณ์" และเมื่อมีหมู่บ้านจึงตั้งชื่อว่า "บ้านวัด"จึงน่าจะสันนิษฐานได้อีกประการหนึ่งว่า

ชุมชนแรกที่เข้ามาบุกเบิกป่าแม่วงก์ คือชุมชนที่บ้านวัดซึ่งนำโดยหลวงปู่ท้าว กัลยาโณ

และนายโอภาส เสือทุเรียน ตั้งข้อสันนิษฐานว่า หมู่บ้านแห่งแรกน่าจะเป็นบ้านวัดแห่งนี้ ส่วนที่วังซ่าน น่าจะมีลักษณะเป็นที่พักชั่วคราว หรือที่เรียกว่า "ชุม"

คำขวัญอำเภอแม่วงก์

ขาแม่กระทู้เด่นสง่าน้ำตกแม่เรวาแสนสวย

มากด้วยผลิตภัณฑ์ดีเขียวขจีพรรณไม้

หลากหลายวัฒนธรรมงามล้ำอุทยานแห่งชาติแม่วงก์

อำเภอแม่วงก์ โดยสำนักงานศึกษาธิการอำเภอได้มีการจัดประกวดคำขวัญประจำอำเภอ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๕ผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศการแข่งขัน ได้แก่นายศุภชัย สุวรรณกนิษฐ อาจารย์ใหญ่โรงเรียนบ้านคลองน้ำโจนโดยมีความหมาย ดังนี้

เขาแม่กระทู้เด่นสง่าเป็นทิวเขาที่กั้นอาณาเขตของตำบลวังซ่าน และตำบลเขาชนกันกับตำบลแม่เล่ย์ผู้ที่จะเข้ามาอำเภอแม่วงก์จะเห็นแนวเขาสวยงาม โดยเฉพาะภูมิทัศน์ด้านหลังที่ทำให้ที่ว่าการอำเภอแม่วงก์ สวยเด่นเป็นสง่ายิ่งขึ้น

น้ำตกแม่เรวาแสนสวย"แม่เรวา" เป็นชื่อของน้ำตกที่เกิดจากยอดเขาโมโกจู อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์เป็นน้ำตกที่มีความสูงและมีความสวยงามมาก

มากด้วยผลิตภัณฑ์ดีในพื้นที่อำเภอแม่วงก์ มีผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่ออยู่มากมายหลายชนิดอาทิ ผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์ด้านอาหาร ผลไม้ต่าง ๆ

เขียวขจีพรรณไม้ในพื้นที่อำเภอแม่วงก์มีพืชพันธุ์ไม้นานาชนิด เพราะมีอาณาเขตติดต่อกับผืนป่าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ซึ่งพืชพรรณเหล่านี้ก่อให้เกิดลำน้ำสายต่าง ๆ ที่หล่อเลี้ยงสิ่งมีชีวิตของอำเภอตลอดมา

หลากหลายวัฒนธรรมประชาชนอำเภอแม่วงก์ได้อพยพย้ายถิ่นที่อยู่มาจากภาคต่าง ๆทำให้มีขนบธรรมเนียม ประเพณีและวัฒนธรรมจากภาคและพื้นที่ต่าง ๆ มากมาย

งามล้ำอุทยานแห่งชาติแม่วงก์อำเภอแม่วงก์มีพื้นที่ส่วนหนึ่งที่ได้รับการประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ซึ่งในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์นั้นมีธรรมชาติที่สวยงาม มีป่าไม้ ภูเขา สัตว์ป่า น้ำตกสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นความงดงามที่ธรรมชาติมอบให้เป็นของขวัญแก่ชาวอำเภอแม่วงก์

อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม

ภาษาประชาชนส่วนใหญ่พูดภาษาอีสานและภาษาลาว (ลาวครั่ง)มีภาษาไทยภาคกลางบ้างทั้งนี้ แล้วแต่ว่าหมู่บ้านนั้นจะอพยพย้ายถิ่นมาจากที่ใด

การแต่งกายมีการใช้ผ้าทอมือ ปรากฎอยู่บ้างในพื้นที่ตำบลแม่เล่ย์ และตำบลวังซ่านประเภทผ้าฝ้าย ผ้าไหม นำมาทอเป็นผ้าซิ่นและผ้าขาวม้า และตัดเป็นชุดสากลนิยมปัจจุบันได้รับความนิยมมากขึ้น จนทำเป็นอำชีพเสริม โดยตั้งเป็นกลุ่มทอผ้าและวางจำหน่ายเป็นสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ในบางพื้นที่ที่เคยทอผ้าใช้ ระยะหลังการทำมาหากินค่อนข้างลำบาก ทำให้ไม่มีเวลาทอผ้า แต่ปัจจุบัน กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง โดยเฉพาะผ้ามัดย้อมและผ้าทอ ซึ่งมักสวมใส่เวลาไปงานพิธีต่าง ๆ

อาหารการกินประชาชนที่อพยพมาจากภาคอีสานจะรับประทานข้าวเหนียวส่วนที่อพยพมาจากภาคกลางจะรับประทานข้าวเจ้า

ขนมพื้นบ้านมีมากมายหลายชนิด เช่น ข้าวต้มมัด ขนมเทียน (คนลาวเรียกขนมนมสาว) ขนมกวน ขนมลอดช่อง ขนมตาลขนมตะโก้ ขนมใส่ไส้ ขนมลูกโยน (ลักษณะเหมือนข้าวต้มมัดแต่วิธีการห่อไม่เหมือนกัน) ขนมข้าวเหนียวแดงขนมกระยาสารท ขนมหม้อแกงขนมบ้าบิ่น ขนมชั้น ขนมบัวลอยไข่หวาน ฯลฯขนมที่ขึ้นชื่ของอำเภอแม่วงก์ ได้แก่ข้าวแต๋นน้ำแตงโมซึ่งเป็นทั้งขนมและอาหารว่าง เหมาะสำหรับเป็นของฝาก

Category
Cultural Network
Location
Amphoe Mae Wong Province Nakhon Sawan
Details of access
Reference อวยพร พัชรมงคลสกุล Email paitoog@hotmail.com
Organization สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครสวรรค์
Comment
Please Login Before comment.

Username
Password
No comment.
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่