ร่วมแสดงความคิดเห็นกับเรา
ขอขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมเวบไซต์ m-culture.in.th

เราได้จัดทำแบบสำรวจแบบง่ายๆ เพื่อจะ
ได้ทราบถึงสิ่งที่ผู้เยี่ยมชมเวบไซต์เรา
ชอบและให้เราได้เรียนเกี่ยวกับคุณมากขึ้น
 
ละติจูด (รุ้ง) : N 15° 46' 53.4518"
15.7815144
ลองจิจูด (แวง) : E 99° 31' 14.475"
99.5206875
เลขที่ : 197557
ประวัติอำเภอแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์
เสนอโดย นครสวรรค์ วันที่ 4 ตุลาคม 2565
อนุมัติโดย นครสวรรค์ วันที่ 4 ตุลาคม 2565
จังหวัด : นครสวรรค์
0 1186
รายละเอียด

สภาพทั่วไป

สภาพภูมิศาสตร์

มีขนาดพื้นที่ประมาณ ๑,๐๘๗.๑๔ตารางกิโลเมตร หรือ ๖๘๐,๖๒๕ ไร่

  • ด้านทิศตะวันตกและทิศเหนือ คือ ตำบลแม่เล่ย์ ตำบลแม่วงก์ และตำบลเขาชนกัน เป็นที่ราบสูงและภูเขา
  • ด้านทิศตะวันออก คือ ตำบลวังซ่าน เป็นที่ราบลุ่ม มีภูเขาที่สำคัญ คือเขาแม่กระทู้

อาณาเขต

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ อำเภอปางศิลาทอง และอำเภอขาณุวรลักษณ์บุรี จังหวัดกำแพงเพชร
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ อำเภอชุมตาบงและอำเภอแม่เปิน จังหวัดนครสวรรค์
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก

ลักษณะภูมิประเทศ

ลักษณะทางภูมิศาสตร์โดยทั่วไปเป็นที่ราบสูงแบบลูกฟูก เหมาะแก่การเกษตรจำพวกพืชไร่ ลักษณะพื้นที่ จะลาดเอียงจากทิศตะวันตกมาทิศตะวันออก โดยมีทิวเขาชนกันกั้นกลางในเขตอำเภอ และมีทิวเขาถนนธงชัยตะวันออกเป็นเสมือนกำแพงขนาดใหญ่ทางทิศตะวันตก ทำให้เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของสาขาแม่น้ำสะแกกรังและเป็นเขตป่าอนุรักษ์ที่สำคัญของประเทศทิศตะวันตกติดกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง จังหวัดตาก ที่เชื่อมโยงไปถึงป่าทุ่งใหญ่นเรศวรของจังหวัดกาญจนบุรี เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี และอุทยานแห่งชาติคลองลาน ในจังหวัดกำแพงเพชร ภูเขาที่สำคัญ คือ เทือกเขาแม่กะสีเขาชนกัน เขาแม่กระทู้ (ชื่อเดิมไม้กระทู้)ลำน้ำที่สำคัญ ได้แก่ ลำน้ำแม่วงก์ ซึ่งไหลมาจากเขาสบกบ ในเขตตำบลแม่เล่ย์ อำเภอแม่วงก์ ไหลล่องคดเคี้ยวไปสู่ทิศตะวันออก ผ่านอำเภอลาดยาว สู่แม่น้ำสะแกกรัง ที่อำเภอทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี และลำน้ำสาขาของลำน้ำแม่วงก์ เช่น คลองไทร ห้วยตะกวด เป็นต้นซึ่งเป็นลำน้ำหล่อเลี้ยงในการเกษตรของประชาชนในพื้นที่

ลักษณะภูมิอากาศ

สภาพภูมิอากาศเป็นแบบมรสุม ๓ ฤดู คือ ฤดูร้อน ฤดูฝน ฤดูหนาวมีลักษณะอากาศร้อนชื้นกึ่งสะวันนา เนื่องจากอยู่ในเขตเงาฝนของทิวเขาถนนธงชัย จึงมีช่วงฤดูฝนและฤดูแล้งที่เห็นเด่นชัด ฤดูฝนได้รับอิทธิพลจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ส่วนฤดูหนาวได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคมจะมีอากาศค่อนข้างหนาวเย็นและในฤดูร้อนช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม จะมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดในฤดูฝน ฝนตกไม่สม่ำเสมอ ปีใดฝนตกน้อย จะมีน้ำไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตร น้ำใช้ในการอุปโภคบริโภคไม่เพียงพอ และปีใดฝนตกหนัก จะทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลาก เกิดภาวะน้ำท่วมพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย

ข้อมูลด้านศาสนาการศึกษาและวัฒนธรรม

ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ

  • วัดพุทธ จำนวน ๔๘ แห่ง
  • สำนักสงฆ์ จำนวน ๒๙ แห่ง

จำนวนสถานศึกษา

  • ระดับประถมศึกษา ๒๒ แห่ง
  • ระดับมัธยมศึกษาศึกษา ๑ แห่ง
  • ระดับอุดมศึกษา ๑ แห่ง
  • ระดับประถมศึกษาขยายโอกาส 10 แห่ง

ประชากรส่วนใหญ่เป็นผู้อพยพมาจากถิ่นอื่น เช่นแถบอำเภอตาคลี อำเภอท่าตะโก และจังหวัดทางภาคอีสาน

การคมนาคม

เส้นทางคมนาคมทางรถยนต์ เข้าสู่อำเภอแม่วงก์ดังนี้

๑. ทางหลวงหมายเลข ๑๐๗๒(บ้านหนองเบน - อำเภอคลองลาน)

โดยออกจากอำเภอลาดยาว ระยะทาง ๑๒ กม. ถึงตลาดศาลเจ้าไก่ต่อเลี้ยวซ้ายตามทางหลวงชนบทเข้าอำเภอแม่วงก์ ระยะทางประมาณ ๑๘ กม. หรือตามทางหลวงหมายเลข ๑๐๗๒ (บ้านหนองเบน - อำเภอคลองลาน) ระยะทาง ๔๔ กม. ถึงสี่แยกบ้านเขาชนกัน เลี้ยวซ้ายตามทางหลวงหมายเลข ๓๕๐๔ ระยะทาง ๑๕ กม. ถึงที่ว่าการอำเภอแม่วงก์

๒. ทางหลวงหมายเลข ๓๔๗๓(บ้านหนองจิกรี - อำเภอชุมตาบง - บ้านถนนสุด

โดยออกจากอำเภอลาดยาว ตามทางหลวงหมายเลข ๓๐๑๓(อำเภอลาดยาว - อำเภอบ้านไร่) ระยะทาง ๓ กม. ถึงบ้านหนองจิกรี เลี้ยวขวาตามทางหลวงหมายเลข ๓๔๗๓ ถึงสี่แยกหัวเขาแดง เลี้ยวขวาตามทางหลวงหมายเลข ๓๕๐๔ เข้าอำเภอแม่วงก์ ระยะทาง ๒๗ กม

๓. ทางหลวงหมายเลข ๑๐๗๒(อำเภอคลองลาน - บ้านหนองเบน)

โดยออกจากตลาดอำเภอคลองลาน ระยะทาง ๔๐ กม. ถึงตลาดบ้านเขาชนกันตรงเข้าอำเภอแม่วงก์ ตามทางหลวงหมายเลข ๓๕๐๔ ระยะทาง ๑๕ กม.

ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น

ประวัติอำเภอแม่วงก์

“แม่วงก์“

เป็นชื่อของลำน้ำสายหนึ่งในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ซึ่งเป็นลำน้ำ ที่มีความคดเคี้ยว ไหลเชี่ยวกราก วกวน ไปมา จึงเรียกกันว่า “แม่วงก์“ ซึ่งหมายถึงวงกต

ในสมัยก่อน ผืนป่าดงทึบอันกว้างใหญ่ไพศาลด้านทิศตะวันตกซึ่งเป็นพื้นที่ของตำบลศาลเจ้าไก่ต่อ ตำบลห้วยน้ำหอม อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ มีราษฎรอพยพจากที่ต่าง ๆ เข้าถากถางจับจองเป็นที่ทำมาหากินเนื่องจากมีความอุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การทำเกษตรกรรม

ปี พ.ศ. ๒๕๓๒สมัยการปกครองของนายศิริพงษ์ จันทร์ชุ่มตำแหน่งนายอำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ ได้พิจารณาเห็นว่าอำเภอลาดยาวมีพื้นที่กว้างใหญ่ จำนวนประชากรมากทำให้ไม่สะดวกในการติดต่อราชการ จึงรายงานกระทรวงมหาดไทยเพื่อขอแบ่งเขตการปกครองเพิ่มขึ้น โดยตำบลศาลเจ้าไ่ก่ต่อ แบ่งเป็นตำบลแม่วงก์ ตำบลวังซ่าน ตำบลแม่เล่ย์และตำบลแม่เล่ย์ได้แบ่งเป็นตำบลเขาชนกัน ส่วนตำบลห้วยน้ำหอม แบ่งเป็นตำบลปางสวรรค์และจากนั้น จึงรายงานกระทรวงมหาดไทย เพื่อขอตั้งเป็นกิ่งอำเภอขึ้น

วันที่ ๑ เม.ย. ๒๕๓๕สมัยการปกครองของนายกมล ศิริวัฒนา เป็นนายอำเภอลาดยาว กระทรวงมหาดไทยมีประกาศตั้งกิ่งอำเภอ ลงวันที่ ๑๓ มี.ค. ๒๕๓๕ โดยให้ชื่อว่า"กิ่งอำเภอแม่วงก์" ตามชื่อตำบลแม่วงก์มีศูนย์ราชการตั้งอยู่ที่บ้านเขาแม่กระทู้ หมู่ที่ ๙ ตำบลแม่วงก์

วันที่ ๑ ก.ค. ๒๕๔๐กิ่งอำเภอแม่วงก์ได้รับการยกฐานะเป็นอำเภอแม่วงก์ตามพระราชกฤษฎีกา ประกาศตั้งอำเภอแม่วงก์ เล่ม ๑๑๔ ตอนที่ ๕๐ก วันที่ ๒๖ ก.ย. ๒๕๔๐ โดยมีนายศิริสิทธิ์ พันธ์นรา ปลัดอำเภอ (เจ้าพนักงานปกครอง ๗) รักษาราชการแทนนายอำเภอแม่วงก์

ประวัติการตั้งถิ่นฐาน

จากการสำรวจ ไม่ปรากฎหลักฐานว่าชุมชนโบราณเก่าแก่ดั้งเดิมอยู่บริเวณใด มีเพียงแต่คำบอกเล่าที่ใช้เป็นหลักฐานอ้างอิง ดังนี้

นายพฤกษ์ อินปนามข้าราชการครูบำนาญอดีตครูใหญ่คนแรกของโรงเรียนบ้านวังซ่าน (ปัจจุบันถึงแก่กรรม) ได้บันทึกไว้ว่า

...กลุ่มคนที่เข้ามาบุกเบิกตั้งถิ่นฐานรุ่นแรก ๆ น่าจะอยู่บริเวณหมู่บ้านวังซ่าน ตำบลวังซ่านในปัจจุบันเพราะบ้านวังซ่านเป็นหมู่บ้านเก่าแก่และเป็นประตูทางเข้าอำเภอแม่วงก์ บ้านวังซ่าน เดิมเป็นหมู่บ้านอยู่ในการปกครองของตำบลห้วยน้ำหอมอำเภอลาดยาว ต่อมาได้ย้ายไปอยู่ในการปกครองของตำบลศาลเจ้าไก่ต่อ อำเภอลาดยาว

สาเหตุที่เรียกว่า "วังซ่าน" เดิมเขียนว่า "วังสร้าน" สันนิษฐานว่า สมัยก่อนบริเวณนี้เป็นป่าดงดิบไม่มีผู้คนอาศัย มีไม้ประเภทเบญจพรรณขึ้นอยู่อย่างมากมาย เช่น ไม้ยาง สะเดาปรัก มะค่าที่ดินเหมาะแก่การเกษตรเป็นอย่างยิ่ง

ประมาณ ปี พ.ศ. ๒๔๘๓ นายอินทร์, นายปรั่งไม่ทราบนามสกุล นายเปิ้น ทองถิ่นภู และนายทอง ทองถิ่นภู ได้เข้ามาอยู่รวมกันด้วยการปลูกกระท่อมไว้เป็นที่สำหรับพักอาศัยและตั้งเป็นชุมตักน้ำมันยาง การคมนาคมสมัยนั้นไม่มีถนน การเดินทางต้องใช้เกวียนเป็นพาหนะ ในเส้นทางต้องเดินผ่านลำธารซึ่งมีร่องน้ำเป็นวังลึก (ปัจจุบันคือ ลำน้ำแม่วงก์)และบริเวณวังน้ำมีต้นซ่านขึ้นอยู่ ผู้ที่เดินทางผ่านจึงเรียกกันจนติดปากว่า "วังซ่าน"

ต่อมาประมาณ พ.ศ. ๒๔๙๒ นายทองและนายเปิ้นได้ชักชวนญาติพี่น้องเข้ามาอยู่รวมกันจำนวน ๕ หลัง

พ.ศ. ๒๔๙๘ มีบ้านเพิ่มขึ้นเป็น ๑๐ หลังจึงเรียกหมู่บ้านนี้ว่า "บ้านวังซ่าน"ต่อมาได้ยกฐานะเป็นตำบล จึงเรียกว่าตำบลวังซ่านตามชื่อของต้นไม้ และใช้รูปต้นซ่านเป็นตราประจำตำบล

(ต้นซ่านเป็นไม้ยืนต้น ใบมีลักษณะมน รี ใหญ่เหมือนใบหูกวาง ยาวประมาณ ๖ - ๙ นิ้ว โดยแตกใบรวมกันที่ปลายกิ่ง ประมาณ ๖ - ๑๐ ใบต่อกิ่ง ผลของต้นซ่านจะสุกประมาณเดือน เม.ย. ของทุกปี ผลมีสีเหลืองและมีกลิ่นเฉพาะตัว สามารถรับประทานได้และเป็นที่ชื่นชอบของสัตว์ป่าหลายชนิด ปัจจุบันต้นซ่านในตำบลวังซ่านเหลือน้อยมาก)

นายโอภาส เสือทุเรียนอดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๗(บ้านวัด) ตำบลวังซ่าน อำเภอแม่วงก์ เล่าว่า

...สมัยก่อนบริเวณนี้เป็นป่าดงดิบ ยังไม่มีผู้คนอาศัย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๓ หลวงปู่ท้าว กัลยาโณ ได้เดินธุดงค์เข้ามาในป่าแม่วงก์ เพื่อปฏิบัติกรรมฐานโดยอาศัยอยู่ในโพรงต้นกระปุงใหญ่เป็นแรมปี

ต่อมา มีประชาชนจากตำบลสร้อยละคร ตำบลมาบแก และตำบลวังเมือง อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ และจากภาคอีสาน อพยพครอบครัวตามหลวงปู่เข้ามาอยู่ในป่าแม่วงก์ด้วย และได้ช่วยกันสร้างศาลามุงด้วยแฝกถวายให้หลวงปู่ ๑ หลังและหลวงปู่ได้ใช้ศาลาดังกล่าวเป็นที่รักษาคนเจ็บป่วยจนกว่าจะหาย จึงจะให้กลับบ้านได้

นอกจากนี้หลวงปู่ยังชักชวนชาวบ้านสร้างเหมืองฝายจากบ้านตะกรุดถึงบ้านวังซ่าน และจากบ้านไผ่ลาวถึงบ้านวัด ซึ่งปัจจุบันยังใช้อยู่ รวมทั้งยังนำชาวบ้านสร้างถนนจากบ้านวัดถึงอำเภอลาดยาวโดยใช้ฆ้องตีเป็นสัญญาณให้ชาวบ้านตัดต้นไม้ทำถนน ปัจจุบันคือ ถนนสายลาดยาว - เขาชนกัน

ต่อมา ประชาชนได้ร่วมกันสร้างศาลาหลังใหม่ให้หลวงปู่ และหลวงปู่ตั้งชื่อวัดว่า"วัดศรีกัลยานุสรณ์" และเมื่อมีหมู่บ้านจึงตั้งชื่อว่า "บ้านวัด"จึงน่าจะสันนิษฐานได้อีกประการหนึ่งว่า

ชุมชนแรกที่เข้ามาบุกเบิกป่าแม่วงก์ คือชุมชนที่บ้านวัดซึ่งนำโดยหลวงปู่ท้าว กัลยาโณ

และนายโอภาส เสือทุเรียน ตั้งข้อสันนิษฐานว่า หมู่บ้านแห่งแรกน่าจะเป็นบ้านวัดแห่งนี้ ส่วนที่วังซ่าน น่าจะมีลักษณะเป็นที่พักชั่วคราว หรือที่เรียกว่า "ชุม"

คำขวัญอำเภอแม่วงก์

ขาแม่กระทู้เด่นสง่าน้ำตกแม่เรวาแสนสวย

มากด้วยผลิตภัณฑ์ดีเขียวขจีพรรณไม้

หลากหลายวัฒนธรรมงามล้ำอุทยานแห่งชาติแม่วงก์

อำเภอแม่วงก์ โดยสำนักงานศึกษาธิการอำเภอได้มีการจัดประกวดคำขวัญประจำอำเภอ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๕ผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศการแข่งขัน ได้แก่นายศุภชัย สุวรรณกนิษฐ อาจารย์ใหญ่โรงเรียนบ้านคลองน้ำโจนโดยมีความหมาย ดังนี้

เขาแม่กระทู้เด่นสง่าเป็นทิวเขาที่กั้นอาณาเขตของตำบลวังซ่าน และตำบลเขาชนกันกับตำบลแม่เล่ย์ผู้ที่จะเข้ามาอำเภอแม่วงก์จะเห็นแนวเขาสวยงาม โดยเฉพาะภูมิทัศน์ด้านหลังที่ทำให้ที่ว่าการอำเภอแม่วงก์ สวยเด่นเป็นสง่ายิ่งขึ้น

น้ำตกแม่เรวาแสนสวย"แม่เรวา" เป็นชื่อของน้ำตกที่เกิดจากยอดเขาโมโกจู อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์เป็นน้ำตกที่มีความสูงและมีความสวยงามมาก

มากด้วยผลิตภัณฑ์ดีในพื้นที่อำเภอแม่วงก์ มีผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่ออยู่มากมายหลายชนิดอาทิ ผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์ด้านอาหาร ผลไม้ต่าง ๆ

เขียวขจีพรรณไม้ในพื้นที่อำเภอแม่วงก์มีพืชพันธุ์ไม้นานาชนิด เพราะมีอาณาเขตติดต่อกับผืนป่าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ซึ่งพืชพรรณเหล่านี้ก่อให้เกิดลำน้ำสายต่าง ๆ ที่หล่อเลี้ยงสิ่งมีชีวิตของอำเภอตลอดมา

หลากหลายวัฒนธรรมประชาชนอำเภอแม่วงก์ได้อพยพย้ายถิ่นที่อยู่มาจากภาคต่าง ๆทำให้มีขนบธรรมเนียม ประเพณีและวัฒนธรรมจากภาคและพื้นที่ต่าง ๆ มากมาย

งามล้ำอุทยานแห่งชาติแม่วงก์อำเภอแม่วงก์มีพื้นที่ส่วนหนึ่งที่ได้รับการประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ซึ่งในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์นั้นมีธรรมชาติที่สวยงาม มีป่าไม้ ภูเขา สัตว์ป่า น้ำตกสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นความงดงามที่ธรรมชาติมอบให้เป็นของขวัญแก่ชาวอำเภอแม่วงก์

อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม

ภาษาประชาชนส่วนใหญ่พูดภาษาอีสานและภาษาลาว (ลาวครั่ง)มีภาษาไทยภาคกลางบ้างทั้งนี้ แล้วแต่ว่าหมู่บ้านนั้นจะอพยพย้ายถิ่นมาจากที่ใด

การแต่งกายมีการใช้ผ้าทอมือ ปรากฎอยู่บ้างในพื้นที่ตำบลแม่เล่ย์ และตำบลวังซ่านประเภทผ้าฝ้าย ผ้าไหม นำมาทอเป็นผ้าซิ่นและผ้าขาวม้า และตัดเป็นชุดสากลนิยมปัจจุบันได้รับความนิยมมากขึ้น จนทำเป็นอำชีพเสริม โดยตั้งเป็นกลุ่มทอผ้าและวางจำหน่ายเป็นสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ในบางพื้นที่ที่เคยทอผ้าใช้ ระยะหลังการทำมาหากินค่อนข้างลำบาก ทำให้ไม่มีเวลาทอผ้า แต่ปัจจุบัน กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง โดยเฉพาะผ้ามัดย้อมและผ้าทอ ซึ่งมักสวมใส่เวลาไปงานพิธีต่าง ๆ

อาหารการกินประชาชนที่อพยพมาจากภาคอีสานจะรับประทานข้าวเหนียวส่วนที่อพยพมาจากภาคกลางจะรับประทานข้าวเจ้า

ขนมพื้นบ้านมีมากมายหลายชนิด เช่น ข้าวต้มมัด ขนมเทียน (คนลาวเรียกขนมนมสาว) ขนมกวน ขนมลอดช่อง ขนมตาลขนมตะโก้ ขนมใส่ไส้ ขนมลูกโยน (ลักษณะเหมือนข้าวต้มมัดแต่วิธีการห่อไม่เหมือนกัน) ขนมข้าวเหนียวแดงขนมกระยาสารท ขนมหม้อแกงขนมบ้าบิ่น ขนมชั้น ขนมบัวลอยไข่หวาน ฯลฯขนมที่ขึ้นชื่ของอำเภอแม่วงก์ ได้แก่ข้าวแต๋นน้ำแตงโมซึ่งเป็นทั้งขนมและอาหารว่าง เหมาะสำหรับเป็นของฝาก

สถานที่ตั้ง
อำเภอ แม่วงก์ จังหวัด นครสวรรค์
รายละเอียดการเข้าถึงข้อมูล
บุคคลอ้างอิง อวยพร พัชรมงคลสกุล อีเมล์ paitoog@hotmail.com
ชื่อที่ทำงาน สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครสวรรค์
แสดงความคิดเห็น
โปรด เข้าสู่ระบบ ก่อนทำการแสดงความคิดเห็น

ชื่อผู้ใช้
รหัสผ่าน
ยังไม่มีการแสดงความคิดเห็น
ข้อมูลที่แสดงในระบบนี้ จัดเก็บโดยนักวิชาการวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม หากมีข้อเสนอแนะหรือข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อวัฒนธรรมจังหวัด
       ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์หรือไม่