ประเพณีแห่พระทางน้ำวัดบางยาง เป็นประเพณีท้องถิ่น สันนิษฐานว่าเป็นประเพณีที่มีมาแล้วไม่น้อยกว่า ๑๐๐ ปี มูลเหตุแห่งประเพณีสืบทอดมานานจากรุ่นสู่รุ่น เนื่องด้วยเชื่อว่าหลวงพ่อคุ้มมีพุทธบารมี ช่วยขจัดปัดเบาทุกข์ภัย และบรรเทาทุกข์ร้อนแก่ ประชาชนชาวตำบลบางยางจึงพร้อมใจกันจัดงานประเพณีแห่พระทางน้ำขึ้น เพื่อถวายแด่หลวงพ่อคุ้ม โดยมีความเชื่อสืบต่อกันมาว่า เมื่อจัดประเพณีครั้งใด บ้านเมืองจะเจริญรุ่งเรืองยิ่ง ๆ ขึ้น หากไม่ได้จัดก็อาจทำให้เกิดความไม่สบายใจ ทั้งนี้อาจเป็นกุศโลบายของคนโบราณ ปลูกฝังให้คนหนุ่มสาวร่วมใจกันสืบสานประเพณี สร้างบุญสร้างกุศล สร้างความรักความสามัคคีร่วมแรงร่วมใจกันในชุมชน เกิดความรักความผูกพัน ร่วมกันอนุรักษ์ประเพณีท้องถิ่น และช่วยกันรักษาให้คงอยู่วัดอินทารามสืบไป
ประเพณีแห่พระทางน้ำ จะดำเนินการในช่วงหลังเทศกาลออกพรรษา ราววันแรม ๒ ค่ำ เดือน ๑๑ ชาวบ้านจะร่วมใจอาราธนาหลวงพ่อคุ้มออกจากมณฑปที่ประดิษฐาน แห่โดยรอบบริเวณวัด จากนั้นอัญเชิญไปยังท่าน้ำ วัดอินทาราม โดยจัดตั้งขบวนเรือแพ ซึ่งชาวบ้านเรียกกันว่า เรือองค์ เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อคุ้ม ซึ่งประดับตกแต่งอย่างสวยงามด้วยดอกไม้สด ดอกไม้ประดับ
โดยขบวนเรือจะตั้งขบวนอยู่ ณ วัดอินทาราม และออกจากท่าน้ำในเวลา ๐๘.๐๐ น. ล่องมาตามลำน้ำ บางปะกงจนถึงวัดบางกระเบา (พระอารามหลวง) ในขบวนจะมีการตั้งกองผ้าป่า ซึ่งเรียกว่า พิธีทอดผ้าป่าสามัคคีทางน้ำ ในอดีตจะนำไปถวายแด่พระครูสิทธิสารคุณ (หลวงพ่อจาด) เจ้าอาวาสวัดบางกระเบา (พระอารามหลวง) พระเกจิแห่งลุ่มแม่น้ำปราจีนบุรี (บางปะกง) พร้อมนี้ได้ร่วมกันถวายภัตตาหารเพลเป็นอันเสร็จพิธี โดยมีเรือของประชาชนโดยรอบขนานไปตามเรือแพประดิษฐานหลวงพ่อคุ้ม ประชาชนที่อยู่ตลอดสองฝั่งแม่น้ำ จะพายเรือมายังแพที่ประดิษฐานหลวงพ่อคุ้มเพื่อกราบไหว้ขอพร ปิดทอง นอกจากนี้ยังมีการละเล่นบนเรือแจว การร้องรำทำเพลงไปตลอดเส้นทาง
ในปัจจุบัน ประเพณีแห่พระทางน้ำวัดบางยาง ยังคงสืบทอดอยู่และปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ และการดำเนินงานโดยองค์การบริหารส่วนตำบลบางยาง มีการพัฒนาขบวนเรือพายเป็นเรือเล็กติดเครื่องยนต์ เกิดการแข่งขันล่องเรือ เป็นที่สนุกสนานของเด็กและเยาวชน