รอยพระพุทธบาทน้อย มีขนาด กว้าง 50 เซนติเมตร ยาว ๑๖๐ เซนติเมตร มีลักษณะเป็นรอยเท้าขนาดใหญ่ฝังลงไปในก้อนหิน ไม่ปรากฏร่องรอยตราสัญลักษณ์ใดๆ ประดิษฐานอยู่เชิงเขา ภายในรอยพระพุทธบาทน้อย ปรากฏมีน้ำซับไหลรินไม่เหือดแห้ง
ประวัติ
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่๔ ได้มีการล่าอาณานิคมของชาวตะวันตกเกิดขึ้น พระองค์ทรงตระหนักถึงภัยที่คุกคามในครั้งนี้ ทรงเล็งเห็นว่าถ้าชาวต่างชาตินำเรือรบเข้ามาในแม่น้ำเจ้าพระยาก็จะสามารถยึดกรุงเทพมหานครได้โดยง่าย ทรงดำริที่จะตั้งเมืองหลวงสำรองขึ้นในกรณีที่กรุงเทพมหานครถูกต่างชาติเข้ามาโจมตี โดยพระองค์ทรงมีดำริที่ตั้งเมืองลพบุรีเป็นเมืองหลวงสำรอง แต่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีดำริว่าควรจะตั้งเมืองนครราชสีมา เป็นเมืองหลวงสำรองมากว่า นั้นพระองค์จึงเสด็จขึ้นไปสำรวจ ปรากฏว่าเมืองนครราชสีมานั้นเป็นเมืองที่กันดารแล้งน้ำ พระองค์จึงสนใจเมืองแก่งคอยมากกว่าเพราะอยู่ติดกับแม่น้ำป่าสักที่ความอุดมสมบูรณ์มากกว่า จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวังที่ประทับขึ้นที่ตำบลสีทา(ปัจจุบัน คือ ตำบลสองคอน) ริมแม่น้ำป่าสัก ใช้เป็นที่ประทับพักผ่อน และได้เสด็จสถลมารค มานมัสการรอยพระพุทธบาทน้อยและนมัสการหลวงพ่อใหญ่ พระพุทธรูปโบราณที่ประดิษฐานอยู่ในถ้ำบนภูเขาพระพุทธบาทน้อย และในปีพ.ศ.๒๔๖๑ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ก็เสด็จฯ มานมัสการรอยพระพุทธบาทน้อยและนมัสการหลวงพ่อใหญ่ด้วย โดยทรงจารึกพระนามาภิไธยและลายพระหัตถ์ประทับไว้บนหน้าผาหินด้านหน้าประตูถ้ำหลวงพ่อใหญ่
รอยพระพุทธบาทน้อย ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ ได้ประกาศในหนังสือ พระราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๒ ตอนที่ ๗๕ ลงวันที่ ๘ มีนาคม ๒๔๗๘