เคียวเป็นเครื่องมือสำหรับเกี่ยวข้าว เกี่ยวถั่ว และเกี่ยวหญ้าต่างๆ แต่จุดประสงค์ที่สำคัญคือ ใช้เกี่ยวข้าวเป็นหลัก เมื่อชาวนาปักดำต้นกล้าจนกระทั่งออกรวง และเมล็ดแก่จัดรวงข้าวเหลืองไปทั่วทุ่งนา แล้วใช้ท่อนไผ่ยาว ๆ นาบข้าวให้ล้มไปทิศทางเดียวกัน จะได้ใช้เคียวเกี่ยวข้าวได้สะดวก ข้าวไม่พันกัน เคียวเกี่ยวข้าวมีหลายแบบ เช่นเคียวกระสา ลักษณะรูปเคียวโค้งเป็นวงกว้างเหมือนคอนกกระสา เหมาะสำหรับเกี่ยวข้าวซึ่งใช้วิธีปักดำ เพราะต้นข้าวแบบปักดำต้นข้าวจะกอใหญ่ จึงจำเป็นต้องใช้เคียววงกว้าง เคียวกระยาง ลักษณะรูปเคียวโค้งเป็นวงแคบกว่าเคียวกระสา วงเคียวที่แคบกว่านี้เหมือนคอนกกระยาง ใช้เกี่ยวข้าวนาดำและนาหว่านซึ่งกอข้าวไม่ใหญ่นัก จะทำด้ามจับยาวและนิยมใช้กันมากที่สุด เคียวงู ลักษณะปลายเคียวเหมือนหัวงู วงเคียวแคบกว่าเคียวกระยาง มีคอคอดตรงคองู เหมาะสำหรับเกี่ยวข้าวฟ่างและรวงข้าวที่พันกันยุ่งไม่เป็นระเบียบ จำเป็นจะต้องเกี่ยวข้าวทีละรวงในบางครั้ง เคียวงูจะทำด้ามงอ เพื่อให้มือจับได้ถนัดมีแรงดึงได้มาก ปกติมักใช้เกี่ยวข้าวฟ่าง มากกว่า เพราะต้นข้าวฟ่างค่อนข้างเหนียว เคียวขอ ส่วนใหญ่พบอยู่ในแถบจังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดพิษณุโลก และจังหวัดพิจิตร คงได้รับอิทธิพลมาจากเคียวเกี่ยวข้าวของจังหวัดแถบภาคอีสาน และประเทศกัมพูชา เป็นต้น เคียวขอบางทีก็เรียกว่า “กรูด” เคียวขอจะใช้กิ่งไม้หรือรากไม้เนื้อแข็ง ซึ่งมีลักษณะโค้งงออยู่แล้วถากและเหลาให้เรียบ ให้ส่วนเป็นขอมีความโค้งเป็นวงกว้างมาก เสี้ยมปลายให้แหลม ขอนี้จะใช้สำหรับกวาดต้นข้าวให้มารวมกัน เมื่อจับรวงข้าวได้แล้วจะพลิกเคียวซึ่งอยู่ตรงข้ามกับขอมาเกี่ยวรวงข้าว แล้วใช้ขอด้านล่างกองรวม ใช้มือจับประคองฟ่อนรวงข้าวให้ไปกองอยู่รวมกันเพื่อผูกมัดด้วยตอกหรือซังต้นข้าวมัดเป็นฟ่อน
เครื่องมือ/อุปกรณ์
คีมเล็ก/คีมใหญ่, ทั่ง, พะเนิน, ค้อน, ขอไฟ, เถาวัลย์เปลียง, รางชุบ, สูบลม, ปากกา, ตะไบ, ประแจ, คีมร็อก
วัตถุดิบ/วัสดุ
๑. เหล็กอ่อน (จะนำมาพับห่อเหล็กเหล็กแก่ ใช้สำหรับทำตัวเคียว และสันเคียว)
๒. เหล็กแก่ ( จะอยู่ตรงกลาง โดยจะถูกเหล็กอ่อนพับห่อไว้ ใช้สำหรับทำคมเคียว )
๓. ถ่านไม้ไผ่
๔. แล็คเกอร์
ขั้นการผลิต
ขั้นที่ ๑ นำเครื่องตัดเหล็กมาตัดเหล็กออกเป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนที่เป็นใบเคียว และด้ามเคียว
ขั้นที่ ๒ จุดไฟโดยใช้ถ่านไม้ไผ่ แล้วใช้มอเตอร์เป่าไฟให้มีความร้อนสูง
ขั้นที่ ๓ นำเหล็กที่ตัดแล้วไปเผา
ขั้นที่ ๔ ตีด้ามเคียวให้แผ่ แล้วม้วนเป็นกระบอกด้ามเคียว
ขั้นที่ ๕ นำเหล็กที่ใช้ทำใบเคียวมาตีหลังจากเผาไฟให้แดง เป็นการตีเพื่อขึ้นรูปเคียว
ขั้นที่ ๖ นำใบเคียวมาตีอีกรอบหนึ่ง แล้วนำด้ามที่ทำเสร็จแล้วมาต่อกัน
ขั้นที่ ๗ นำเคียวที่ต่อด้ามแล้วมาเชื่อมให้แน่น โดยเครื่องเชื่อมไฟฟ้า
ขั้นที่ ๘ นำเคียวที่เชื่อมแล้วไปเผาส่วนที่เป็นใบเคียวให้แดงอีกรอบ
ขั้นที่ ๙ ตีส่วนที่เป็นใบเคียวที่ขึ้นรูปไว้ ตามขั้นตอนที่ ๕ เพื่อให้ได้รูปเคียวที่สมบูรณ์ตามต้องการ
ขั้นที่ ๑๐ นำเคียวไปเจียรที่เครื่องเจียรเหล็ก เพื่อให้เคียวเรียบ
ขั้นที่ ๑๑ จัดหาอุปกรณ์ในการทำคมเคียวได้แก่ ตะไบ ประแจกิ๊ฟ หรือคีมร็อก
ขั้นที่ ๑๒ แระคมเคียวด้วยตะไบเพื่อให้เคียวคม (แทงแระ)
ขั้นที่ ๑๓ เมื่อแระคมเสร็จแล้วจะเห็นว่ามีเส้นเฉียงอยู่บนคมเคียว (คล้ายฟันเลื่อยเล็ก ๆ)
ขั้นที่ ๑๔ นำค้อนมาตีใบเคียวให้เรียบ
ขั้นที่ ๑๕ ทาน้ำเกลื่อเพื่อไม่ให้ขี้เหล็กเกาะ
ขั้นที่ ๑๖ ขัดเคียวให้เงาโดยการใช้ลูกปัดกากเพชรในการขัดให้เคียวเป็นมันวาว
ขั้นที่ ๑๗ นำเคียวไปชุบน้ำอย่างช้า ๆ
ขั้นที่ ๑๘ นำแปรงทองเหลืองมาขัดเคียวเอาขี้เหล็กออก
ขั้นที่ ๑๙ นำผ้ามาเช็ดให้แห้ง
ขั้นที่ ๒๐ นำเคียวไปเผาอีกครั้ง
ขั้นที่ ๒๑ นำเคียวมาทาแล็คเกอร์เพื่อกันสนิม
ขั้นที่ ๒๒ นำไปผึ่งให้แห้ง พร้อมบรรจุขาย
โดย วัฒนธรรมอำเภอนครหลวง สำนักงานวัฒนธรรมอำเภอนครหลวง