"ขนมกงเป็นขนมโบราณ มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาตอนต้น จากคำให้ การขุนหลวงหาวัดประดู่ทรงธรรม ในเอกสารหอหลวงสมัยอยุธยา “ย่านป่าขนม ชาวบ้านนั้นทำขนมขายและนั่งร้านขายขนมชะมด กงเกวียน ภิมถั่ว สำปนี” ขนมกงเกวียนก็คือขนมกงนั่นเอง รูปร่างก็เป็นล้อเกวียนสมชื่อสำหรับคนไทย ขนมกงดูจะแพร่หลายมากเป็นพิเศษในจังหวัดภาคกลาง โดยเพราะอย่างยิ่งแถบจังหวัดอยุธยา อ่างทอง สุพรรณบุรี สิงห์บุรี ฯลฯ เป็นที่รู้กันดีว่าขนมกงเป็น ขนมมงคล ที่นิยมใช้ในพิธีแต่งงานในฐานะขนมขันหมาก นอกจากขนมกงวงเล็ก ที่ทำกินกันตามปกติแล้วยังมีขนมกงขนาดใหญ่ ที่ทำขึ้น ในโอกาสพิเศษอย่างงานแต่ง นอกจากขนาดที่ใหญ่แล้ว บางที่จะประดิษฐ์โดยการเอาตอกมาเสียบสี่มุมของตัวกง รวบปลายตอกแล้วมัดยอดด้วยตอกให้เหมือนทรงกระโจม นำแป้งที่ใช้ชุบตัวกงมาสลัดในกระทะให้เป็นแพฝอย ๆ นำแพแป้งที่ลักษณะเหมือนแหนี้มาคลุมตัวกระโจมดังกล่าว เพิ่มความสวยงามไปอีกแบบ จากนั้นก็จะนำใส่สาแหรกหาบไปในพิธีแห่ขันหมาก ขนมกงจะขาดไม่ได้ในงานหมั้นงานแต่ง จนคนไทยสมัยก่อน ถึงกับ มีสำนวนพูดสัพยอกว่า “เมื่อไรจะได้กินขนมกงเสียที” ซึ่งหมายความว่าเมื่อไรจะแต่งงานนั้นเอง
ขนมกงเป็นขนมมงคล ด้วยความเชื่อว่าจะทำให้คู่บ่าวสาวมีใจคอหนักแน่นและครองรักกันตลอดไปเหมือนกงล้อของเกวียนที่หมุนไปเรื่อย ๆ สมัยก่อน ในงานหมั้นงานแต่งจะใช้ขนมกงควบคู่กับขนมสามเกลอ แต่ปัจจุบันขนมสามเกลอเสื่อมความนิยมไปมากแล้ว คงเหลือแต่ขนมกงที่คนไทยภาคกลางยังนิยมใช้เป็นขนมแต่งงานกันแพร่หลาย ดังนั้นแถวอยุธยา อ่างทอง สุพรรณบุรี สระบุรี จึงมีแม่ค้าทำขนมกงขายตามสั่ง ซึ่งจะมีมากในเดือนที่นิยมพิธีแต่งงาน